รีเซต

รู้หรือไม่ ที่นอนพังแล้วไปไหน ? สตาร์ตอัปไทยชี้ข้อมูลครั้งแรกของประเทศร่วมกับ สวทช.

รู้หรือไม่ ที่นอนพังแล้วไปไหน ? สตาร์ตอัปไทยชี้ข้อมูลครั้งแรกของประเทศร่วมกับ สวทช.
TNN ช่อง16
21 มกราคม 2567 ( 16:14 )
70

ที่นอนเป็นเครื่องเรือนที่มักถูกทิ้งอย่างไม่ถูกต้องเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน ด้วยเหตุนี้ นอนนอน (nornnorn) สตาร์ตอัปสัญชาติไทยที่มีโมเดลธุรกิจให้บริการที่นอนรายเดือนและรับซื้อคืนที่นอนที่สิ้นอายุการใช้งานไปรีไซเคิล จึงได้ร่วมกับนักวิจัยจากสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ในการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการกำจัดที่นอนที่ใช้ในธุรกิจโรงแรมเมื่อสิ้นอายุการใช้งานเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อนำผลการศึกษาไปใช้ปรับปรุงการให้บริการของนอนนอนต่อไป


การกำจัดที่นอนในธุรกิจโรงแรมของประเทศไทย

การศึกษาดังกล่าวมีชื่อว่า “การศึกษารูปแบบธุรกิจ ‘การบริการในรูปแบบสินค้า’ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยเทคนิคการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA): กรณีศึกษาผลิตภัณฑ์ที่นอนที่ใช้ในธุรกิจโรงแรม” นำโดย อธิวัตร จิรจริยาเวช นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.) สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 

โครงการดังกล่าวเป็นการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงปริมาณที่พิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอดวัฏจักรชีวิตของที่นอน ตั้งแต่การขุดนําเอาทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้เป็นวัตถุดิบ การจัดส่งวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิต การผลิตผลิตภัณฑ์ การจัดส่งผลิตภัณฑ์ไปสู่การใช้งาน การใช้งานผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการทิ้งหรือกําจัดซากของผลิตภัณฑ์เมื่อสิ้นสุดการใช้งาน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการจัดทำการวิจัย LCA ในผลิตภัณฑ์ที่นอน


โดยผลการสำรวจพบว่า หลังพ้นการใช้งานแล้ว ประมาณครึ่งหนึ่งของที่นอน (โดยน้ําหนัก) จากภาคธุรกิจโรงแรมทั้งหมด จะถูกส่งไปฝังกลบร้อยละ 30 และถูกจําหน่าย บริจาค หรือส่งต่อเพื่อนําไปใช้งานอีกร้อยละ 17 ถูกนําไปรีไซเคิล และอีกร้อยละ 3 ถูกนําไปเผา ตามลำดับ


“นอนนอน” สามารถลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการกำจัดที่นอนได้

ในการศึกษาเดียวกันนี้ นักวิจัยยังได้ศึกษาการสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการกำจัดที่นอนเทียบกับรูปแบบธุรกิจของ “นอนนอน” ผ่านการจำลองสถานการณ์ทั้งหมดรวม 5 รูปแบบ 

ทั้งนี้ “นอนนอน” มีหนึ่งในรูปแบบธุรกิจเป็นการรับซื้อที่นอนที่ครบอายุการใช้งาน 10 ปี เพื่อไปรีไซเคิลด้วยกระบวนการแบบใหม่ล่าสุดซึ่งสามารถรีไซเคิลได้ทุกวัสดุ รวมถึงโฟมแบบโพลียูรีเทน วัสดุส่วนหลักของที่นอน ให้กลายเป็นสารตั้งต้นในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ ซึ่งนับเป็นกรรมวิธีเฉพาะของนอนนอนที่เป็นรูปแบบใหม่ของโลกด้วย 


รูปแบบการรีไซเคิลของนอนนอน (กำหนดเป็นสถานการณ์ที่ 3 ในงานวิจัย) จะถูกประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมร่วมกับอีก 4 สถานการณ์ ได้แก่

• สถานการณ์ที่ 1: การใช้ที่นอนคุณภาพสูงที่มีอายุการใช้งาน 10 ปี ที่สุดท้ายที่นอนถูกกําจัดด้วยวิธีการฝังกลบทั้งหมด

• สถานการณ์ที่ 2: การใช้ที่นอนคุณภาพสูงที่มีอายุการใช้งาน 10 ปี ที่สุดท้ายที่นอนถูกกําจัดด้วยวิธีการตามปกติของธุรกิจโรงแรม

• สถานการณ์ที่ 3: การใช้ที่นอนคุณภาพต่ำที่มีอายุการใช้งาน 3 ปี ที่สุดท้ายที่นอนถูกกําจัดด้วยวิธีการฝังกลบทั้งหมด

• สถานการณ์ที่ 4: การใช้ที่นอนคุณภาพต่ำที่มีอายุการใช้งาน 3 ปี ที่สุดท้ายที่นอนถูกกําจัดด้วยวิธีการตามปกติของธุรกิจโรงแรม 


สำหรับวิธีการวัดนั้น ได้กำหนดปริมาณทดสอบที่เกี่ยวข้องในการวัดเทียบระหว่างธุรกิจนอนนอนกับสถานการณ์อื่น ๆ  ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาตลอดวัฏจักร ในหน่วยกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kg CO2 eq) ซึ่งพบว่ารูปแบบธุรกิจนอนนอนจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 67 kg CO2 eq น้อยกว่าการจัดการรูปแบบอื่นที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยที่สุดคือ 97.2 kg CO2 eq อยู่ร้อยละ 31

โดยหลักการเดียวกันนี้ได้ใช้ในการเปรียบเทียบมลภาวะทางอากาศจากอนุภาคขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 และการปล่อยสารพิษที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์และได้ผลลัพธ์โดยสรุปว่า “นอนนอน” สามารถช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของที่นอนได้ โดยสามารถลดกระทบที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนได้ร้อยละ 31 ลดมลภาวะทางอากาศจากอนุภาคขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 ได้ร้อยละ 28 และลดการปล่อยสารพิษที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ได้ร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับการกำจัดที่นอนแบบทั่วไป


นอนนอนเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนต่อโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมที่นอน

นอกจากนี้ การศึกษาครั้งนี้ยังได้มีการประเมินค่าการหมุนเวียนของวัสดุ (Material CircularityIndicator) ซึ่งเป็นการประเมินสัดส่วนการถูกนํากลับมาใช้ใหม่ของวัสดุต่างๆ ในผลิตภัณฑ์ (แทนที่การถูกทิ้งเป็นขยะ) 


ค่าดังกล่าวนั้นกำหนดโดยมูลนิธิเอเลน แมคอาร์เธอร์ (Ellen MacArthur Foundation) ผู้นําด้านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับโลก โดยค่าดังกล่าวจะอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 โดยค่า 0 หมายถึงการที่วัสดุต่างๆ สุดท้ายกลายเป็นขยะและไม่ได้ถูกนํากลับมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด และค่า 1 หมายถึงการที่วัสดุทั้งหมดได้ถูกนํากลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ 


ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่ารูปแบบการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ในปัจจุบันตามการสำรวจวิจัย (สถานการณ์ที่ 2) มีค่าอยู่ที่ 0.32 ในขณะที่วิธีการจัดการตามแบบนอนนอนอยู่ที่ 0.41 ซึ่งหมายความว่า นอนนอนจะมีส่วนในการช่วยให้วัสดุต่างๆ ในที่นอนถูก นํากลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 28

จากที่นอนสู่งานวิจัยระดับนานาชาติ

ผลการวิจัยทั้งหมดได้รับการเปิดเผยเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในงานประชุมเชิงปฏิบัติการ “นวัตกรรมเชิงระบบสําหรับขยะฟองน้ําโพลียูรีเทน” ปี 2023 (Circular Systems Innovationfor Flexible Polyurethane Foam Waste Workshop 2023: CSI-PW 2023) ณ โรงแรม The Peninsula Bangkok กรุงเทพฯ เมื่อ 19 ตุลาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานรัฐและต่างประเทศเข้าร่วมงาน พร้อมกับเชิญ TNN Tech เข้าร่วมรับฟังด้วยเช่นกัน


โดยการศึกษาครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สํานักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ บริษัท สมพลเบดดิ้ง แอนด์ แมทเทรส อินดัสตรี จํากัด ผู้ผลิตที่นอนสปริงเมทซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการวิจัย และดําเนินการโดย สทสย. ในระหว่างเดือนพฤษภาคม 2021 ถึง เดือนมกราคม 2023 ที่ผ่านมา


ที่มาข้อมูลและรูปภาพ Nornnorn


ข่าวที่เกี่ยวข้อง