รีเซต

'อนุทิน' ให้รพ.บุษราคัมเพิ่มเตียงรับผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่กทม. ลดการสูญเสียในบ้าน

'อนุทิน' ให้รพ.บุษราคัมเพิ่มเตียงรับผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่กทม. ลดการสูญเสียในบ้าน
มติชน
22 กรกฎาคม 2564 ( 19:58 )
47

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้โรงพยาบาลบุษราคัมเพิ่มเตียงรองรับผู้ป่วยหมุนเวียนอย่างน้อย 50-100 เตียงในโซนพักผ่อน รับผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุกของคาราวานรถฉุกเฉินของสพฉ. นำผู้ป่วยตกค้างตามบ้านในพื้นที่ กทม.เข้ารับการตรวจหาเชื้อและเข้าระบบการรักษา ลดความสูญเสียภายในบ้าน

 

 

วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ที่โรงพยาบาลบุษราคัม อาคารอิมแพคชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลบุษราคัม ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงาน และให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์ขณะนี้การแพร่ระบาดยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากสายพันธุ์เดลตาซึ่งเป็นเชื้อที่มีความรุนแรงและติดได้ง่าย ความรุนแรงของอาการเร็วขึ้นกว่าเดิม ทำให้มีผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มมากขึ้น

 

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มศักยภาพให้โรงพยาบาลบุษราคัมมีความพร้อมทั้งอุปกรณ์ ยา เวชภัณฑ์ ห้องไอซียู และห้องแยกความดันลบ เป็นต้น ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลหลักได้เป็นอย่างดี

 

 


นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลบุษราคัมรับผู้ป่วยค่อนข้างมาก อัตราการครองเตียงมากกว่าร้อยละ 95 โดยในแต่ละวันจะมีผู้ป่วยหายกลับบ้านได้ ทำให้สามารถหมุนเวียนรับผู้ป่วยใหม่เข้าระบบรักษาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวันนี้ได้สั่งการให้ขยายพื้นที่ในโซนพักผ่อน เพิ่มจำนวนเตียงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อรองรับผู้ป่วยรายใหม่ในแต่ละวันจากการค้นหาเชิงรุกใน กทม. อย่างน้อยมีเตียงหมุนเวียน 50-100 เตียง เพื่อลดปัญหาการรอเตียง และการเข้าไม่ถึงระบบบริการ รวมถึงลดการสูญเสียในบ้าน ช่วยแบ่งเบาภาระให้ได้มากที่สุด

 

 

 

นอกจากนี้ได้สั่งการให้เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ประสานจัดเตรียมรถพยาบาล
รถฉุกเฉิน รถกู้ภัย จัดทีมคาราวานฉุกเฉิน ลงพื้นที่ร่วมกทม. นำผู้ป่วยที่ตกค้างที่เข้าไม่ถึงระบบบริการ อาทิ ริมถนน อยู่ในบ้านที่หาเตียงไม่ได้ นำส่งโรงพยาบาลบุษราคัม ทุกรายจะได้รับการตรวจเชื้อด้วย RT PCR ก่อนคัดแยกเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม หากผลบวกจะรับไว้รักษา แต่หากผลลบจะส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่นๆ ตามอาการ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ใช้ช่วงเวลาที่มีมาตรการล็อคดาวน์ได้อย่างเต็มที่และให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เริ่มดำเนินการได้ทันทีที่มีความพร้อม

 

 

“สถานการณ์เช่นนี้ไม่มีใครอยากเห็นการสูญเสีย ไม่ว่าจะพื้นที่กทม. หรือพื้นที่ใดๆก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขจะพยายามเข้าไปช่วยเหลือแบ่งเบาภาระอย่างเต็มที่ ขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนทุกคน แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าเหนื่อยก็ตามยังคงทำงานกันอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่ถดถอยและยังทุ่มเทกับการให้การรักษาพยาบาลรักษาชีวิตของผู้ป่วยทุกคน” นายอนุทินกล่าว

 

 

สำหรับโรงพยาบาลบุษราคัมได้เปิดรับผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม จนถึง 22 กรกฎาคม 2564 รวม 10,739 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 7,226 ราย ส่งรักษาต่อ 257 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 3,167 ราย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง