ชาวสมุทรปราการ กลุ่มเสี่ยงโควิด-19 แห่เข้าคิวฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็มแรก

ข่าววันนี้ (17 ส.ค.64) ที่สนามกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย เมืองใหม่บางพลี จ.สมุทรปราการ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรก ในกลุ่มผู้อายุ 60 ขึ้นไป ซึ่งต้องเกิดก่อน 15 สิงหาคม 2504 หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ผู้ชายมีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม ผู้หญิงน้ำหนักเกิน 80 กิโลกรัม โดยจะฉีดไปจนถึงวันที่ 19 สิงหาคม เริ่มเวลา 08.30-14.00 น. วันละ 1,000 คิว
นายพสิษฐ์ แป้นเหมือน สาธารณสุขอำเภอบางเสาธง ระบุว่า วันนี้มีประชาชนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเป้าหมายมารอคิวกันตั้งแต่เช้ามืด ทางอำเภอได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์มายังหน่วยฉีด 3,000 โดส ซึ่งวันนี้นำออกมายังจุดฉีดจำนวน 1,000 โดส จากการสังเกตการณ์ ยังไม่มีประชาชนได้รับผลข้างเคียงรุนแรง
ทั้งนี้ ในพื้นที่อำเภอบางเสาธง มีผู้ติดเชื้อสะสมประมาณ 2,000 ราย ในพื้นที่เองได้มีการทยอยฉีดวัคซีนตามกลุ่มเป้าหมายต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่พยายามเร่งรัดมาตลอดหากได้รับการจัดสรรวัคซีนมา แต่พบปัญหาบางส่วน ยังคงมีความกังวลในการที่จะเข้ารับวัคซีนและคุณภาพของวัคซีน เจ้าหน้าที่ได้พยายามอธิบายให้เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่พยายามที่จะให้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับหญิงตั้งครรภ์ 2 ราย โดยคนแรก น.ส.ธิดาพร กุนาณา อายุ 29 ปี ตั้งครรภ์ 7 เดือน ภูมิลำเนาอยู่ในจ.มหาสารคาม แต่มาทำงานที่ อ.บางเสาธง เจ้าหน้าที่ให้เข้ารับวัคซีนได้ เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง
ส่วนอีกราย น.ส.สุภาพร สุวินัย อายุ 30 ปี ตั้งครรภ์ 7 เดือน ภูมิลำเนาอยู่ใน จ.สมุทรปราการ โดยมารอคิวตั้งแต่ช่วงเช้ามืด รู้สึกดีใจที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ในวันนี้ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันและสร้างความปลอดภัยในชีวิตในช่วงที่การแพร่ระบาดโควิดยังระบาดหนัก
นอกจากที่นี่แล้ว วันนี้ยังมีศูนย์ฉีดวัคซีนวัดบางพลีใหญ่กลางที่เปิดฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 1 ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ได้ลงทะเบียนจองไว้ในช่วงอายุ 12-18 ปี ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค จำนวน 600 คน ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมถึงโรคหอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง และภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมถึงกลุ่มอาการดาวน์ โรคอ้วนที่มีน้ำหนักเกิน 70 กิโลกรัม ในอายุ 12-13 ปี / หรือน้ำหนักมากกว่า 80 กิโลกรัม ในอายุ 13-15 ปี หรือน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัมในอายุ 15-18 ปี และผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 จำนวน 200 คน