ไทย-บรูไนฯ หารือกระชับความสัมพันธ์ครบ 40 ปี เน้นการค้า ลงทุน ท่องเที่ยว
วันนี้ (29 เมษายน 2567) เวลา 10.30 น. ณ บริเวณสนามหญ้า หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จสมเด็จพระราชาธิบดีฮาจี ฮัซซานัล บลเกียะฮ์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละฮ์ (His Majesty Sultan Haji Hassanal Bolkiah Mu’izzaddin Waddaulah) แห่งบรูไนดารุสซาลาม ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล
จากนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีฯ ทรงร่วมพิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ และเสด็จฯ ไปยัง ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งมีคณะรัฐมนตรีรอกราบบังคมทูลแนะนำตัวต่อสมเด็จพระราชาธิบดีฯ หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระราชาธิบดีฯ เสด็จฯ ไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก เพื่อลงพระนามในสมุดเยี่ยม และทอดพระเนตรของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายจะมอบให้แก่กัน ก่อนไปยังตึกภักดีบดินทร์ เพื่อการหารือเต็มคณะ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือเต็มคณะ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ถวายการต้อนรับการเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระราชาธิบดีฯ ซึ่งตรงกับโอกาสครบรอบ 40 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - บรูไนฯ และเป็นโอกาสติดตามผลการเยือนบรูไนฯ อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม 2566 พร้อมแสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดทุกมิติ
สมเด็จพระราชาธิบดีฯ มีพระราชดำรัสว่า ตลอด 40 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศ ไทย-บรูไนฯ มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งการเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในรอบ 12 ปี เป็นโอกาสอันดีที่จะได้หารือถึงความร่วมมือในทุกมิติ ทรงยินดีที่การเยือนบรูไนฯ อย่างเป็นทางการนายกรัฐมนตรีเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมทั้งด้านการค้า การลงทุน ความร่วมมือด้านเกษตรกรรม การศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน เป็นต้น โดยบรูไนฯ มุ่งมั่นที่จะแสวงหาความร่วมมือกับไทยในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ต่าง ๆ ร่วมกัน
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่มีศักยภาพระหว่างกัน ดังนี้
ด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า ไทยและบรูไนฯ จะสามารถเพิ่มการค้าทวิภาคีจาก 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่แล้วได้ พร้อมเสนอให้มีการตั้งกลไกการค้าทวิภาคีในระดับนโยบายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าโดยเฉพาะ เพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้า และหารือถึงแนวทางในการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ และแสวงหาโอกาสมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจและทำงานร่วมกัน
ไทยและบรูไนฯ ยังเห็นพ้องว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานการลงทุนบรูไนฯ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการของไทย ในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการกระชับความร่วมมือด้านการลงทุน พร้อมหวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะแสวงหาการลงทุนที่มีศักยภาพ และมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะด้านอาหารและการเกษตร การดูแลสุขภาพ การท่องเที่ยว พลังงานทดแทน และสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ด้านความมั่นคงทางอาหาร ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยไทยถือเป็นประเทศที่มีผลิตภัณฑ์ฮาลาลคุณภาพสูง ในขณะที่บรูไนฯ มีมาตรฐานการรับรองฮาลาลที่ดี ไทยเสนอความร่วมมือระหว่างศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยซึ่งจะจัดตั้งขึ้นเร็วๆ นี้ กับฝ่ายบรูไนฯ สำรวจความร่วมมือที่มีศักยภาพ และผลักดันให้มีการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจด้านอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อการพัฒนาการส่งออกสินค้าฮาลาล
ด้านการท่องเที่ยว ไทยและบรูไนฯ ยินดีต่อการลงนาม MOU ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในวันนี้ ซึ่งจะส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว และกิจกรรมไมซ์ โดยบรูไนฯ ชื่นชมไทยสำหรับโครงการ “6 ประเทศ 1 จุดหมายปลายทาง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค พร้อมยินดีแสวงหาความร่วมมืออำนวยความสะดวกการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งสองฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลที่ปัจจุบันได้เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ธนาคารกลางบรูไนฯ ในการพัฒนาระบบการชำระเงินที่รวดเร็ว เช่น การชำระเงินแบบเรียลไทม์ มาตรฐาน QR Code การชำระเงินดิจิทัล และการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทั้งนี้ ไทยยินดีที่บรูไนฯ ได้เข้าร่วม และลงนามใน MoU ว่าด้วยความร่วมมือในการเชื่อมโยง การชำระเงินในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงทางการเงินในอาเซียน
ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน นายกรัฐมนตรีซาบซึ้งต่อรัฐบาลบรูไนฯ ที่มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนไทย โดยเฉพาะจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปศึกษาศาสนาอิสลามในประเทศบรูไนฯ พร้อมขอเสนอให้ทั้งสองฝ่ายเร่งจัดทำบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการจ้างงานแรงงานไทยในบรูไนฯ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการศึกษา และการพัฒนาโครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OVOP)
ความร่วมมือในอาเซียน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมอาเซียนให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และมีความยั่งยืน รวมถึงไทยยังเห็นพ้องในหลักการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Centre for Climate Change: ACCC) ในประเทศบรูไน ด้านบรูไนฯ ชื่นชมไทยที่แสดงบทบาทสำคัญในการผลักดันความร่วมมือในอาเซียน
สถานการณ์ในเมียนมา ไทยและบรูไนฯ ต่างมุ่งหวังเห็นเมียนมาที่สงบสุข มั่นคง และเป็นเอกภาพ เพราะจะส่งผลต่อประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกอาเซียน บรูไนฯ ชื่นชมการสนับสนุนทางด้านมนุษยธรรมตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาของไทย และพร้อมสนับสนุนความพยายามของไทยทางด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา
สถานการณ์ในตะวันออกกลาง สมเด็จพระราชาธิบดีฯ มีพระราชดำรัสแสดงความเสียใจต่อผลกระทบของคนไทยในเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง และมุ่งหวังที่จะให้ทุกฝ่ายหาทางแก้ไขปัญหาอย่างสันติ สำหรับไทยนายกฯ กล่าวว่าได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่คนไทยในพื้นที่ พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเดินหน้าการเจรจา และบรรลุการหยุดยิงด้านมนุษยธรรม ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้มากขึ้น
ต่อจากนั้น เวลา 11.30 น. นายกรัฐมนตรี และสมเด็จพระราชาธิบดีฯ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่
1. บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานการลงทุนบรูไนฯ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการของไทย (Memorandum of Understanding between Brunei Investment Agency and Thailand's Government Pension Fund)
2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงทรัพยากรพื้นฐานและการท่องเที่ยวแห่งบรูไนฯ (Memorandum of Understanding between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of His Majesty the Sultan and Yang di-Pertuan of Brunei Darussalam on tourism cooperation)
จากนั้น เวลา 11.45 น. นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระราชาธิบดีฯ เสด็จฯ ไปยังตึกสันติไมตรี (หลังนอก) เพื่อเข้าร่วมงานถวายเลี้ยงพระกระยาหารกลางวัน