รีเซต

เมื่อคนขับรถจีนใกล้ตกงานครั้งใหญ่ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อคนขับรถจีนใกล้ตกงานครั้งใหญ่ โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร
TNN ช่อง16
23 กุมภาพันธ์ 2564 ( 04:51 )
133
เมื่อคนขับรถจีนใกล้ตกงานครั้งใหญ่ โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนพยายามเสริมสร้างความมั่งคั่งของประเทศบนพื้นฐานของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยการเปลี่ยนบริบทจาก Made in China ไปสู่ Created in China นวัตกรรมกลายเป็นภาพชินตาที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนยิ่งขึ้นในอนาคต


มาถึงวันนี้ การดำเนินนโยบาย Made in China 2025 เพิ่งผ่าน “ครึ่งแรก” ดังปรากฏในแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 13 และกำลังเข้าสู่ “ครึ่งหลัง” ตามแผน 14 ก่อนไปประเมินผลความสำเร็จเมื่อสิ้นสุดการดำเนินนโยบายในปี 2025 ตามที่กำหนดไว้


หลังการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนเกี่ยวกับแผน 14 หลายเมืองสำคัญของจีนก็บรรจุประเด็นนวัตกรรมไว้ในแผน 5 ปีของตนเองเพื่อให้สอดรับกับแผนของประเทศ และหนึ่งในนวัตกรรมสำคัญที่ปล่อยออกมาโชว์โฉมก็ได้แก่ รถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicles)


ยานยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ของจีน ตลาดยานยนต์จีนได้ก้าวแซงสหรัฐฯ ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกนับแต่ปี 2009 และเติบใหญ่ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เรากำลังพูดถึงตลาดรถยนต์ปีละ 30 ล้านคันที่พัฒนาสู่ยานยนต์คุณภาพสูง


แต่รถยนต์ที่หนาแน่นตามท้องถนนของจีนรวมเฉียด 300 ล้านคันก็สร้างภาระแก่ภาครัฐในเรื่องการลงทุนก่อสร้างและบำรุงรักษาสภาพถนนหนทาง สะพาน ป้ายสัญญาณจราจร และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ขณะที่สภาพการจราจรที่ติดขัดก็นำไปสู่ปัญหามลพิษทางอากาศ และความสิ้นเปลืองพลังงาน รวมทั้งปัญหาสุขภาพ อุบัติเหตุ และระดับความเครียดของประชาชน


จากการวิจัยพบว่า คนปักกิ่งเสียเวลาไปกับสภาพรถติดเฉลี่ย 1.3 ชั่วโมงต่อวัน สภาพคล้ายคลึงกันนี้เกิดขึ้นในเมืองใหญ่อื่นของจีนในปัจจุบัน ชาว กทม. คงเข้าใจหัวอกของคนจีนในเรื่องนี้เป็นอย่างดี

รัฐบาลจีนไม่นิ่งนอนใจและมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเบ็ดเสร็จและครบวงจร ควบคู่ไปกับการพัฒนาในระยะยาว


หากมองพัฒนาการของอุตสาหกรรมยานยนต์จะพบว่า จีนเป็นผู้ตามในรถยนต์ระบบสันดาป และใช้เวลาราว 20 ปีในการเรียนรู้และต่อยอดด้านเทคโนโลยีการผลิตจากยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แต่ครั้นใกล้ก้าวขึ้นทาบชั้นระดับโลก ตลาดรถยนต์ระบบสันดาปก็เริ่มหมดยุค




ในปี 2015 จีนเริ่มดำเนินนโยบาย Made in China 2025 ดังกล่าวโดยกำหนดให้รถยนต์พลังงานใหม่ (New Energy Vehicles) เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจีนขยับสถานะของการเป็นผู้เล่นที่ดีขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles) โดยลำดับ


ในปี 2020 ตลาดจีนก็มีแบรนด์ EV อยู่หลายสิบยี่ห้อ และยังทะยานขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีการผลิตแบ็ตเตอรี ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของ EV โดยตั้งเป้าว่า เมื่อสิ้นสุดนโยบายดังกล่าวในปี 2025 EV จะมีสัดส่วนถึง 20% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ในจีน และส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก


แต่ด้วยจุดเด่นหลายประการของ AV อาทิ ความประหยัดและประสิทธิภาพที่สูงจากความสามารถในการใช้งานตลอด 24/7 ในทุกสภาพอากาศและสภาพมลพิษ ลดอุบัติเหตุ ก่อมลพิษน้อย และยังสอดรับกับกระแสความเป็นส่วนตัวในหลายประเทศ จีนจึงไม่ต้องการหยุดเพียงแค่ EV 


EV เป็นเพียงทางผ่านไปสู่ AV ในระยะยาว เพียงไม่นานหลังจากที่ EV เบ่งบานในจีน AV ก็เริ่มผลิดอกออกผล จีนทุ่มเททรัพยากรที่มีอยู่เพื่อหวังชิงเค้กก้อนโตนี้ แต่การเดินหน้าเรื่องนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมก็ยังคงเต็มไปด้วยความท้าทาย


ในประการหนึ่ง การพัฒนาอุตสาหกรรม AV จะเกี่ยวข้องกับหลายอุตสาหกรรมหลักอย่างกว้างขวาง อาทิ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ซอฟท์แวร์ เซมิคอนดักเตอร์ การจัดทำแผนที่ การขนส่ง โทรคมนาคม และอื่นๆ ซึ่งจีนยังเป็นผู้ตามและต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างชาติอยู่ในบางส่วน


ในอีกประการหนึ่ง ประเด็นนี้เกี่ยวโยงไปถึงด้านกฎระเบียบ มาตรฐาน การพัฒนาเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ความมั่นคงทางไซเบอร์ และความร่วมมือระหว่างประเทศ


เมื่อต้นปี 2020 รัฐบาลจีนตีธงเดินหน้าการพัฒนาอุตสาหกรรม AV ด้วยการจัดทำกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมและการพัฒนายานยนต์อัจฉริยะ แผนแม่บทดังกล่าวกำหนดเป้าหมายการพัฒนา AV สู่ระดับ 3 (Conditional Automation) ต่อสาธารณชนในวงกว้างภายในปี 2025 และก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกภายในปี 2050


แม้จะเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ก็คงไม่เหลือบ่ากว่าแรง เพราะจีนเอาจริงเอาจังและอุดมไปด้วยปัจจัยแห่งความสำเร็จในการพัฒนา จีนมีรัฐที่เข้มข้น เอกชนที่แข็งขัน และประชาชนที่เปิดกว้าง เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจีนได้เร่งต่อยอดระบบนิเวศด้านยานยนต์ที่มีอยู่และสร้างของใหม่ในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์และเทคโนโลยี อาทิ ป้ายสัญญาณจราจรดิจิตัล เซมิคอนดักเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ แผนที่ความละเอียดสูง และเทคโนโลยีกำหนดตำแหน่งแม่นยำสูง


การสื่อสารผ่านระบบ 5G ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจีนเดินหน้าพัฒนาเครือข่ายอย่างไม่หยุดหย่อน แม้กระทั่งในปี 2020 จีนก็ยังเร่งขยายพื้นที่เครือข่ายระบบ 5G เข้าสู่พื้นที่ตอนกลางและตะวันตกของจีน ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า พื้นที่เครือข่าย 5G จะครอบคลุมเมืองใหญ่ทั่วจีนได้ภายในปี 2025 ซึ่งถึงตอนนั้น จีนก็อาจจะเริ่มทดลองใช้ระบบ 6G ในพื้นที่ซีกตะวันออกแล้ว


จีนยังพยายามสร้างมาตรฐานของอัลกอริธึมส์หลักที่ใช้ในการกำกับควบคุม AV ไม่ว่าจะเป็นระบบเซนเซอร์ ระบบปฏิบัติการที่ทำหน้าที่รวบรวมและประมวลข้อมูลขนาดใหญ่ และซอฟท์แวร์ของระบบควบคุม 

ขณะเดียวกัน การทดสอบ ทดลอง และการใช้จริง รวมทั้งการสร้างเวทีในการฝึกอบรมผู้ใช้รถใช้ถนนบนสถานการณ์ที่ AV อยู่ร่วมกับรถยนต์รูปแบบดั้งเดิมบนท้องถนนก็เป็นสิ่งที่ได้รับความใส่ใจ โดยได้จัดตั้งศูนย์ทดสอบ AV ขนาดใหญ่ ทั้งที่เจียติ้ง เมืองด้านซีกตะวันตกของนครเซี่ยงไฮ้ และสวงอัน เมืองใหม่ทางตอนใต้ของกรุงปักกิ่ง ขณะที่กฎระเบียบด้านการจราจรก็อยู่ระหว่างการปรับปรุง 


นอกจากนี้ จีนยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมขีดความสามารถของสตาร์ตอัพท้องถิ่น ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้สนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาสตาร์ตอัพและเทคโนโลยีในหลายรูปแบบ อาทิ 

การจัดสรรสินเชื่อหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ แก่ผู้ผลิต AV และชิ้นส่วนอุปกรณ์ และการผลักดันให้นักลงทุนเข้าไปซื้อหุ้นของสตาร์อัพ AV จำนวนหลายสิบรายในแต่ละปี 


อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาครัฐจะเร่ง แต่ก็ไม่อาจรีบจนเกินไป จีนทดลองนำร่องอย่างเป็นขั้นเป็นตอนราวกับการเดินข้ามลำธารโดยใช้เท้าสัมผัสหิน จึงคาดว่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะสามารถพัฒนาระบบและเทคโนโลยีที่สร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยได้ในวงกว้าง 


ขณะเดียวกัน แต่ละบริษัทท้องถิ่นก็ยังต้องพัฒนาระบบนิเวศของตนเองเพื่อสร้างความแตกต่างในเชิงการตลาด อาทิ แบรนด์ดิ้ง การพัฒนาตัวถังและอุปกรณ์ ซอฟท์แวร์ และระบบปฏิบัติการ ประเด็นนี้สลับซับซ้อนมากขึ้นเมื่อบริษัทเดินเกมส์ธุรกิจ ทั้งระบบปิดและระบบเปิด และขยายความร่วมมือคู่ขนานกันในหลายทิศทางไปพร้อมกัน






ทั้งนี้ ก่อนปี 2019 กฎหมายจีนยังไม่เปิดให้บริการ AV สาธารณะกับมนุษย์ และกำหนดเกณฑ์ความเร็วไว้ไม่เกิน 12 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ AV ในระยะแรกถูกใช้ในพื้นที่ปิดที่มีเส้นทางกำหนดไว้ อาทิ เหมืองแร่ สนามบิน และแปลงเกษตรกรรม รวมทั้งการจัดส่งสินค้า เอกสาร และขยะ ซึ่งนับว่าได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี


แต่จีนก็ตระหนักดีว่า การเข้ามาของ AV อย่างแพร่หลายจะปฏิรูปโลกยานยนต์ และอาจเป็นจุดเปลี่ยนในหลายด้าน ผู้เล่นในตลาด AV จีนจะเปลี่ยนหน้าไปจากเดิม มนต์ขลังของแบรนด์รถยนต์แบบสันดาปในวันนี้จะเสื่อมลง ขณะที่สตาร์ตอัพที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาซอฟท์แวร์หรือเทคโนโลยีสามารถขยายความร่วมมือกับผู้ผลิตยานยนต์ในการพัฒนาธุรกิจใหม่


กิจการอย่างไป่ตู้ (Baidu) เทนเซ้นท์ (Tencent) และเวย์โม (Waymo) หรือที่คนจีนเรียกกันว่า “ฮุ่ยโม๋” หรือแม้กระทั่งเทสล่า (Tesla) ที่กำลังขยายกำลังการผลิต EV ในจีน จะกลายเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาแข่งขันกับรายเดิมอย่างโฟล์กสวาเก้น จีเอ็ม โตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน และอื่นๆ 


ความร่วมมือในวงการ AV เริ่มพุ่งพล่านในหลายทิศทางอย่างไม่เป็นมาก่อน ผู้ผลิต EV ร่วมมือกับผู้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิต AV รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดจีน อาทิ แซ็กมอเตอร์ (SAIC) จับมือกับอาลีบาบา 

แม้กระทั่งผู้ผลิตชิ้นส่วนและกิจการที่เกี่ยวข้องในวงการยานยนต์ขนาดเล็กจำนวนมากก็ถูกดึงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา AV อาทิ เทนเซ้นท์จับมือกับ OEMs หลายราย และไป่ตู้ก็เดินหน้าสร้างระบบนิเวศของอพอลโล่ (Apollo) กับกิจการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่แห่งคุณค่า


ขณะเดียวกัน กิจการด้านดิจิตัลรายใหญ่ของจีนยังร่วมลงทุนในสตาร์ตอัพคู่ขนานกันไปอีกด้วย ไป่ตู้และเทนเซ้นท์ร่วมมือกับนีโอ (NIO) และอาลีบาบาเป็นพันธมิตรกับเสี่ยวเผิง (Xpeng) 


โควิด-19 ยังเป็นปัจจัยผลักดัน AV ในจีน นิโอลิกซ์ (Neolix) สตาร์ตอัพดาวรุ่งของเซี่ยงไฮ้ได้รับออเดอร์มากขึ้นทั้งที่เพิ่งเริ่มเปิดสายการผลิตรถแวนไร้คนขับเมื่อพฤษภาคม 2020 โดยมีลูกค้าสำคัญ อาทิ หัวเหว่ยเทคโนโลยี (Huawei Technologies) และเจดี (JD) รวมทั้งโรงพยาบาลและกิจการขนาดใหญ่


เมื่อกฎหมายจีนได้รับการผ่อนคลายมากขึ้น ค่าย AV ในจีนก็เริ่มทดลองให้บริการในหลายเมืองใหญ่ของจีน โดยทั้งหมดอยู่ในรูปรถแท็กซี่ไร้คนขับ ยกตัวอย่างเช่น วีไรด์โก (WeRide Go) นับเป็นหนึ่งในกิจการกลุ่มแรกที่เปิดตัวแท๊กซี่ไร้คนขับ (Robo-Taxi) โดยให้บริการในกวางโจวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019


ขณะที่ “ออโต้เอ็กซ์” (AutoX) ที่มีนายทุนใหญ่อย่างอาลีบาบาหนุนหลังอยู่ ก็ปล่อย AV จำนวนกว่า 100 คันออกมาเมื่อกลางปี 2020 ในจำนวนนี้ ราว 1 ใน 4 ของทั้งหมดถูกทดลองใช้ที่เซินเจิ้น และมีแผนจะทดสอบในจำนวนและพื้นที่ในวงกว้างมากขึ้น


อย่างไรก็ดี เนื่องจากยังเป็นช่วงทดลองการใช้งานระยะแรก การให้บริการของออโต้เอ๊กซ์จึงยังไม่ได้เปิดต่อสาธารณชนอย่างเต็มรูป แต่ให้บริการพนักงานและแขกพิเศษของบริษัท อาทิ สื่อ นักลงทุน พันธมิตรทางธุรกิจ และผู้ผลิตรถยนต์ที่เกี่ยวข้อง


นอกจากนี้ ในกลางเดือนกันยายน 2020 ไป่ตู้ก็สาธิต “อพอลโล่” โดยปราศจากคนขับเป็นรายแรก ทั้งนี้ การทดสอบทดสอบในระยะแรกทั้งหมดดังกล่าวนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และสามารถสร้างความมั่นใจในหมู่ผู้บริโภคได้เป็นอันมาก


จนถึงวันนี้ แท็กซี่ไร้คนขับในจีนก็ยังไม่ไร้คนขับอย่างแท้จริง เพราะยังคงมีคนขับรถแสตนด์บายอยู่ภายใน AV และมีผู้ควบคุมจากทางไกลคอยช่วยกำกับอยู่อีกทางหนึ่ง ขณะที่บริเวณที่นั่งของผู้โดยสารก็มีจอแอลอีดีเพื่อดูเส้นทางและข้อมูลอื่น และมีปุ่มเปิดประตูฉุกเฉินเผื่อไว้อยู่ด้วย


ผู้ผลิต AV และสตาร์ตอัพหัวใสต่างเตรียมขยายการทดสอบและบริการ ทั้งในตลาดจีนและต่างประเทศ โดยปลายปี 2020 นิโอลิกซ์ได้ลงนามความตกลงกับนูน (Noon) แพล็ตฟอร์มการค้าออนไลน์ในตะวันออกกลาง เพื่อนำเอา AV ไปทดลองใช้ในซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นบทโอกาสทดสอบระบบในอุณหภูมิที่สูงถึง 50 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรก


ขณะที่ออโต้เอ๊กซ์ก็วางแผนจะขยายการทดสอบระยะที่ 2 ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ทั้งในเชิงปริมาณและขนาดพื้นที่ ก่อนจะนำไปทดลองใช้ใน 10 เมืองในอาเซียน และประเทศอื่นๆ


ตลาด AV จีนยังจะขยายไปสู่รถบรรทุก และมีผู้เล่นจากต่างแดนเข้าร่วมด้วย ทูซิมเปิ้ล (TuSimple) สตาร์ตอัพสหรัฐฯ ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2015 และมีฐานการผลิตที่เมืองทัคซัน มลรัฐแอริโซนา ได้เร่งสร้างความร่วมมือกับบริษัทลอจิสติกส์ชั้นนำในสหรัฐฯ อาทิ ยูเอสเอ๊กซ์เพรส (US Xpress) และยูพีเอส (United Parcel Service)  เพื่อพัฒนาเครือข่ายรถบรรทุกไร้คนขับ (Automated Trucks) รายแรกในโลก


นอกจากแผนการทดลองรถบรรทุกไร้คนขับบนถนนหลวงในแอลเอ มลรัฐแคลิฟอร์เนียในปีนี้ และขยายไปทดลองที่แจ็กสันวิลล์ มลรัฐฟลอริด้าในปี 2022-2023 รวมทั้งพัฒนาระบบสู่ระดับที่ 4 (High Automation) ในปี 2024 แล้ว บริษัทยังได้เปิดสำนักงานและเตรียมบุกตลาดจีนในอนาคตอันใกล้เช่นกัน


ด้วยขนาดของตลาดและความเร็วในการพัฒนา รวมทั้งธรรมชาติของระบบดิจิตัล ต้นทุนการพัฒนาในจีนคาดว่าจะลดลงในอัตราเร่ง ส่งผลให้ผลตอบแทนการลงทุนจะเพิ่มขึ้นจนเกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว 




งานวิจัยของแม็กคินซี่ (McKinsey) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก ซึ่งสอบถามความคิดเห็นของผู้คนในวงการยานยนต์ของจีนสรุปว่า ในช่วง 10 ปีข้างหน้า จีนจะนำเอา AV มาให้บริการถึงราว 2 ใน 3 ของจำนวนแท๊กซี่ทั้งหมด ขณะที่รถเมล์ประจำทางในเมืองและจะมีอัตราการใช้ระบบไร้คนขับเกือบ 70% ขณะเดียวกัน ชาวจีนทั่วไปก็คาดว่าจะซื้อหา AV มาใช้งานกันอย่างแพร่หลาย โดยจำแนกเป็นรถยนต์ส่วนตัวพรีเมี่ยมกว่า 50% และตลาดรถยนต์ส่วนตัวระดับกลาง 38% 


ภายใน 20 ปีข้างหน้า ตลาด AV จีนจะมีสัดส่วนกว่า 40% ของยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ คิดเป็นราว 0.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ จากมูลค่าการจำหน่าย ขณะที่คนจีนจะใช้ AV ในการเดินทางคิดเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของความยาวในการเดินทางโดยรวม ซึ่งจะสร้างรายได้ถึง 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในธุรกิจบริการ


จากข้อมูลดังกล่าวก็พอสรุปได้ว่า ตลาด AV ในจีนกำลังจะพุ่งทะยาน บริการรถยนต์ไร้คนขับที่กำลังเกิดขึ้นในจีนจะแพร่หลายขึ้นในไม่กี่ปีข้างหน้า ช่วง 5 ปีข้างหน้าจะเป็นระยะแรกแห่งยุคทองของ AV ในจีน ส่งผลให้ตลาด AV ในจีนมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นเป็นตลาดที่ใหญ่สุดในโลกในอนาคต 


ท่านลองคิดตามผมไป ในปี 2010 เซี่ยงไฮ้เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก (World Expo) และนำเอารถโฟล์กสวาเก้นระบบสันดาปแบบแวนทรงสูงที่มีสีเหลืองแสบตาจำนวน 400 คันมาเป็นแท๊กซี่เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนและเทศที่ไปเยือนเซี่ยงไฮ้ 


แต่ผ่านไปเพียง 12 ปี จีนกำลังจะนำเอาแท็กซี่ไร้คนขับมาให้บริการในโอกาสเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง และเอเชี่ยนเกมส์ที่หังโจวในปี 2022! 


ลองจินตนาการต่อไปในอนาคต เมื่อ AV ถูกใช้อย่างแพร่หลายในจีน หลายสิ่งจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึง ความต้องการของผู้บริโภคในจีนจะเปิดกว้างและเปลี่ยนแปลงไป การซื้อหาเพื่อเป็นเจ้าของยานยนต์จะขยับไปสู่การใช้บริการขนส่งสาธารณะและรถเช่า AV รายเดือนมากขึ้น 


การอัพเดตซอฟท์แวร์ที่สามารถกระทำออนไลน์ได้เป็นรายวินาที จะทำให้วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์จะยิ่งสั้นลง คู่แข่งขันในวงการต่างต้องพัฒนาอย่างรวดเร็วในทุกมิติ 


การมีเวลาทำสิ่งอื่นใน AV มากขึ้นก็จะนำไปสู่ความต้องการบริโภคสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น สมาชิกครอบครัวและเพื่อนฝูงจะสามารถใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน รูปแบบความร่วมมือทางธุรกิจจะเกิดมาก หลากหลาย และกว้างขวางยิ่งขึ้นในอนาคต


เราคงต้องจับตามองการพัฒนา AV ของจีนกันอย่างใกล้ชิด เพราะอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในหลายสิ่งและวิถีชีวิตของผู้คนบนโลกใบนี้ การเรียกใช้บริการรถแท็กซี่แบบดั้งเดิมในอนาคตเพื่อซึมซับบรรยากาศเก่าๆ ก็อาจกลายเป็นของแปลกในจีนในอนาคต 


แม้กระทั่ง ตำแหน่งคนขับรถก็อาจหายจากสาระบบในชั่วกระพริบตา …

ข่าวที่เกี่ยวข้อง