ลิงเก็บมะพร้าว เป็นเหตุแบนกะทิ-น้ำมะพร้าวไทย สั่งทูตพาณิชย์เร่งแจงอังกฤษ
กรุงเทพฯ – ปลัดกระทรวงพาณิชย์ สั่งการทูตพาณิชย์ประจำอังกฤษ ชี้แจงทำความเข้าใจ กรณีลิงเก็บมะพร้าว นำมาซึ่งการแบนสินค้าจากไทย ด้านเอกชน ยืนยัน ไม่ได้ใช้แรงงานลิง
วันที่ 5 กรกฎาคม 2563 กรณีซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) นำผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวสำเร็จรูปจากไทยออกจากชั้นวางจำหน่าย เพราะลูกมะพร้าวมาจากการใช้แรงงานลิง ตามข้อกล่าวหาของ องค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม (พีตา) ว่ามีการทารุณสัตว์ต่าง ๆ และเรียกร้องไม่ให้สนับสนุนการใช้แรงงานลิง ด้วยการเลิกซื้อผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทย
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นใหม่ และได้ชี้แจงไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแล้ว อย่างไรก็ตาม นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศประจำ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ชี้แจงทำความเข้าใจ แก่ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และคู่ค้าที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในกลุ่มยุโรปและอังกฤษ เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงวิถีชีวิตชาวบ้านของคนไทยและสังคมไทยที่อยู่ด้วยกันมานาน ไม่ได้นำลิงมาทรมานเพื่อเก็บมะพร้าว ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม ต้องการใช้มะพร้าวกว่า 1 ล้านลูก ดังนั้น การจะนำลิงมาใช้เก็บมะพร้าวจึงเป็นไปได้ยาก
นอกจากนี้ เร็ว ๆ นี้ จะนำทูตานุทูตประจำประเทศไทย เข้ามาดูกระบวนการผลิต โรงงานผลิต และการเก็บเกี่ยว เพื่อให้เข้าใจวิถีชาวบ้านมากขึ้น
ด้านเอกชน ยืนยัน การผลิตสินค้าจากมะพร้าวเพื่อส่งออก ไม่ได้ใช้ลิงเก็บ
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวยืนยันเช่นกันว่า ในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าจากมะพร้าวของไทยปัจจุบัน ปลูกมะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรม เพื่อการส่งออก มีพื้นที่เฉพาะในการปลูก โดยพัฒนาพันธุ์ให้ต้นเตี้ย เก็บง่าย กระบวนการผลิตควบคุมทั้งจากเกษตรกร และผู้ประกอบการที่รับซื้อไปใช้ในกระบวนการผลิต ขณะที่ในขั้นการส่งออก จะมีมาตรฐานสินค้า สินค้าไทยผ่านมาตรฐานจึงส่งไปขายได้ โดยมีกระทรวงพาณิชย์ดูแลมาตรฐานอีกทาง
นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป คาดว่า ภาพการใช้ลิงเก็บมะพร้าวในไทย น่าจะมาจากภาคการท่องเที่ยว ละครลิง การโชว์เก็บมะพร้าวในชุมชน ทำให้ต่างชาติเกิดภาพจำแบบนั้น และคิดว่าภาคอุตสาหกรรมของไทยเป็นเช่นนั้นด้วย ซึ่งผู้ประกอบการได้ชี้แจง ทั้งทางตรง ทั้งผ่านกระทรวงพาณิชย์ มีคลิปวีดิโอกระบวนการผลิตยืนยัน แต่สื่อโซเชียลมีเดีย มักแชร์เหตุการณ์ในอดีต จนทำให้เข้าใจว่าเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น