คดีหลอกลวงซื้อ - ขายออนไลน์ พบผู้หญิงวัยทำงานตกเป็นเหยื่อ 64%

โจรออนไลน์อาละวาดหนักปีเดียวเสียหาย 60,000 ล้านบาท
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) รายงานตัวเลขที่น่าตกใจ ปี 2567 เพียงปีเดียว พบโฆษณาหลอกลวงกว่า 3,381 เรื่อง ทั้งการหลอกลงทุน แอบอ้างบุคคลมีชื่อเสียง ขายสินค้าปลอม รวมถึงการปลอมแปลงเป็นสถาบันการเงินหรือสร้างเพจปลอม สร้างความเสียหายรวมกว่า 19,000 ล้านบาท ภายในเวลาเพียง 1 ปี มูลค่าความเสียหายมากถึง 19,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันคดีอาชญากรรมไซเบอร์ก็พุ่งทะลุ 400,000 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 60,000 ล้านบาท
“ผู้หญิงวัยทำงาน” ตกเป็นเหยื่อหลัก คดีซื้อขายออนไลน์
สถิติยังชี้ชัดว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 มีการแจ้งความสะสมแล้วถึง 166,000 คดี โดยกว่า 50% เป็นคดีเกี่ยวกับการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งกลุ่มผู้เสียหายหลักคือ “ผู้หญิงวัยทำงาน” คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 64% สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มผู้ใช้งานดิจิทัลประจำตกเป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มมิจฉาชีพ
รัฐยกระดับดูแลเข้ม: แพลตฟอร์มเสี่ยงต้องรับผิดชอบ
เพื่อสกัดขบวนการหลอกลวงออนไลน์ รัฐบาล โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เริ่มบังคับใช้มาตรการใหม่ภายใต้กฎหมายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (DPS) โดยแพลตฟอร์มที่จัดอยู่ในกลุ่ม “มีความเสี่ยงสูง” จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด หากฝ่าฝืนจะถูกลงโทษตามกฎหมาย ล่าสุด สพธอ. ได้ออกประกาศที่ ธพด. 4/2568 มีผลบังคับใช้เมื่อ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา กำหนดให้แพลตฟอร์มตลาดสินค้าออนไลน์ต้องแจ้งข้อมูลและรับผิดชอบต่อการดำเนินธุรกิจ
จากนโยบายสู่การปฏิบัติ: สร้างเกราะคุ้มกันคนไทย
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลกำลังเดินหน้ายกระดับการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อควบคุมเนื้อหาบนแพลตฟอร์มดิจิทัล และเสริมความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนพฤติกรรมต้องสงสัยได้ผ่านสายด่วน 1441 หรือเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
