AI ไปสู่การชำระเงิน ! Stripe แพลตฟอร์มการเงินระดับโลก พร้อมดันธุรกิจไทยค้าขายข้ามพรมแดนด้วย AI
สไตรป์ (Stripe) หนึ่งในผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินสำหรับธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย และเอเชีย โดยเน้นถึงการขยายตลาด และการชำระเงินที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อสนับสนุนการค้าข้ามพรมแดน ซึ่ง Stripe จะใช้เป็นทิศทางในการขยายการให้บริการในประเทศ โดยประกาศในงาน Stripe Tour Singapore ซึ่งเป็นงานแสดงผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีประจำปีของ Stripe ภายในภูมิภาค ณ Raffles City Convention Centre ประเทศสิงคโปร์
AI กับความสะดวกและความปลอดภัยในการชำระเงิน
ในปัจจุบัน ข้อมูลจากการศึกษาของ Stripe ระบุว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ของประเทศไทยมีผู้บริโภคประมาณ 43.5 ล้านคน โดยสัดส่วนเกือบร้อยละ 50 ของนักช้อปออนไลน์เคยสั่งซื้อของจากต่างประเทศ และพบว่า หากมีทางเลือก ลูกค้ากว่าร้อยละ 90 เลือกที่จะชำระเงินในสกุลเงินประเทศตนเอง และภายในปี 2030 ‘สถานที่ตั้งของผู้ค้า’ จะมีความสำคัญน้อยลงในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าสำหรับผู้บริโภคในเขตเอเชียแปซิฟิก (APAC) กว่าร้อยละ 53
และเพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าว Stripe ได้เปิดตัวระบบ Adaptive Pricing ซึ่งช่วยให้ธุรกิจในประเทศไทย ออสเตรเลีย อินเดีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ สามารถมอบประสบการณ์การชำระเงินที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละประเทศโดยครอบคลุมกว่า 150 ประเทศ อีกทั้งยังช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ ไม่ต้องคำนวณราคาสินค้าเป็นหลายสกุลเงินด้วยตนเอง และไม่ต้องคอยตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา
ในขณะเดียวกัน Stripe ได้เปิดตัวชุดโซลูชันการรับชำระเงินที่ถูกปรับให้ดียิ่งขึ้น (Optimized Checkout Suite) ซึ่งให้ธุรกิจสามารถสร้างระบบชำระเงินเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้เพื่อแนะนำรูปแบบการชำระเงินที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย นอกจากนี้ธุรกิจต่าง ๆ ยังสามารถทำ A/B testing หรือการทดสอบระบบชำระเงินกับกลุ่มลูกค้าบางส่วนได้โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรม หรือโค้ด (Coding) สำหรับเลือกวิธีการชำระเงินบนระบบ Stripe ที่ทางบริษัทเคลมว่าเป็นที่แรกและที่เดียวอีกด้วย
นอกจากนี้ Stripe ยังได้เปิดตัวเครื่องมือ AI มาเพื่อป้องกันปัญหาการฉ้อโกง เช่น Radar Assistant ซึ่งช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถใช้การป้อนคำสั่งหรือพรอมพท์ (prompt) ที่เป็นภาษาธรรมชาติเพื่ออธิบายคำสั่งเงื่อนไขต่าง ๆ เกี่ยวกับการวางกฎเกณฑ์ตรวจจับการฉ้อโกง และเครื่องมือจะช่วยร่างกฎตามที่ระบุไว้ นอกจากนี้กฎเกณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาจะถูกทดสอบกับข้อมูลการชำระเงินก่อน ๆ เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพในการดักจับการฉ้อโกง และแสดงรายงานรายได้ที่ถูกต้องแท้จริง
ศริตา ซิงห์ (Sarita Singh) กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และอินเดีย ของ Stripe กล่าวว่า “ในปีที่ผ่านมา รายได้จากการทำธุรกิจข้ามประเทศสำหรับประเทศไทยได้เห็นการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 65 และเพื่อต่อยอดจากความสำเร็จดังกล่าว เราได้นำเสนอเครื่องมือเพื่อเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจไทยและเอเชีย ในการต่อยอดอัตราการเติบโตของรายได้ เช่น ชุดโซลูชันการรับชำระเงินที่ถูกปรับให้ดียิ่งขึ้น (Optimized Checkout Suite) ที่สามารถแสดงราคาในสกุลเงินท้องถิ่น และมาพร้อมเครื่องมือที่ช่วยป้องกันการฉ้อโกง ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ธุรกิจในไทยและเอเชียสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับองค์กร”
แก๊งคอลเซนเตอร์ ฉ้อโกงออนไลน์ และอนาคตโครงสร้างระบบชำระเงินในไทย
ทั้งนี้ TNN Tech ได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในตัวแทนสื่อจากประเทศไทยเพื่อร่วมงานและอัปเดตข้อมูลล่าสุดของ Stripe ในงาน Stripe Tour Singapore ด้วยเช่นกัน โดยในโอกาสดังกล่าว TNN Tech ได้สัมภาษณ์พิเศษกับเจฟฟ์ ทิตเทอร์ตัน (Jeff Titterton) ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด (Chief Marketing Officer: CMO) ของ Stripe ซึ่งตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์ ได้พูดถึงปัญหาเฉพาะในไทยทั้งเรื่องการรับมือภัยคุกคามจากแก๊งคอลเซนเตอร์ การฉ้อโกงออนไลน์ รวมถึงโครงสร้างระบบการชำระเงินในไทยว่ามีส่วนใดที่สามารถพัฒนาขึ้นได้อีกบ้าง
จากสถานการณ์ดังกล่าว Jeff Titterton มองว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย และสถานการณ์ก็มีแต่ทวีความรุนแรงมากขึ้น สิ่งที่สำคัญคือการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาช่วยรับมือและป้องกัน เพราะลำพังการรับมือด้วยมาตรการและเทคโนโลยีของบริษัทเองนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะการเท่าทันการฉ้อโกงถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก ซึ่งในฐานะผู้บริหารของ Stripe ก็เชื่อว่าเครื่องมือที่บริษัทมีจะสามารถตอบสนองต่อปัญหาดังกล่าวได้
"So, fraud is huge everywhere including in Thailand and only becoming more of a problem every time. Particularly since the pandemic, what we is that fraud is more worse and worse and wore everywhere", "Thai companies should be using them (Fraud prevention tools based on AI and data) to prevent fraud. It's not really possible to do it on your own. Some companies try to do it, but keeping ahead of the fraud is very very very challenging."
ในขณะที่ประเทศไทยนั้นมีระบบการชำระเงินที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพอย่างระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ด้วยเหตุนี้ Jeff Titterton จึงมองว่า อนาคตการชำระเงินในประเทศไทยจึงจะเป็นระบบที่รวดเร็ว เฉพาะทาง และตอบสนองความต้องการส่วนบุคคลมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ Stripe ที่พบว่า กว่าร้อยละ 74 ของลูกค้าที่ใช้งานระบบชำระเงินทั่ว ๆ ไป จะยกเลิกการซื้อสินค้าหรือบริการทันที หากพบความล่าช้าในขั้นตอนการชำระเงิน
ธุรกิจไทยค้าขายข้ามพรมแดนด้วย AI
ในงาน Stripe Tour Singapore ได้เปิดเผยว่า จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) แบรนด์ค้าปลีกแฟชันที่มีชื่อเสียงในด้านผ้าไหมไทย ได้พัฒนารูปแบบการชำระเงินเพื่อดึงดูดลูกค้าออนไลน์จากต่างประเทศ ซึ่งได้นำเทคโนโลยีการทำงานของ Stripe ที่ผสานการทำงานร่วมกับ AI เข้าไปใช้งาน ซึ่งทำให้ปัจจุบัน Jim Thompson รองรับระบบชำระเงินของร้านค้าออนไลน์ในสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน
ข้อมูลของ Stripe พบว่า ธุรกิจในเอเชียที่มีชำระรวมกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวันบนแพลตฟอร์มของบริษัทนั้นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28 ต่อปี % ที่เพิ่มขึ้นปีต่อปี ในทุกๆ วัน ธุรกิจหลายร้อยแห่งในภูมิภาคได้เริ่มการใช้งานบนระบบของ Stripe ซึ่งมากกว่าสองเท่าของจำนวนต่อวันในปี 2020 ธุรกิจเหล่านี้มุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนการค้าข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ Stripe ได้ประกาศเพิ่มจำนวนช่องทางการชำระเงินทั่วโลกเป็นสองเท่า จาก 50 เป็น 100 ช่องทาง ที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านชุดโซลูชันการรับชำระเงิน Optimized Checkout Suite ของ Stripe
นอกจากนี้ Stripe ยังได้ประกาศการร่วมมือกับหลายบริษัทในงาน Stripe Tour Singapore ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา รวมถึง LG Electronics ที่ได้เปิดตัวร้านค้าออนไลน์ในสิงคโปร์ และวางแผนที่จะร่วมมือกับ Stripe ในอีกหลายประเทศทั่วโลก M1 Limited ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือชั้นนำในสิงคโปร์และได้ร่วมมือกับ Stripe เพื่อพัฒนาช่องทางในการมอบประสบการณ์ใหม่ให้ผู้บริโภค และ TADA ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเรียกรถในภูมิภาค ที่เลือกใช้บริการของ Stripe ในการขยายธุรกิจสู่ประเทศไทยและตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
ข้อมูล Stripe