ททท.เดินหน้าเปิดรับ นทท.ต่างชาติ อยู่ไทยยาว 270 วัน เล็งไฟเขียว 10 ประเทศคุมโควิดดี คาดดีเดย์ พ.ย.-ธ.ค.
ททท.เดินหน้าเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ไทยยาว 270 วัน เล็งไฟเขียว 10 ประเทศควบคุมระบาดโควิดได้ดี คาดดีเดย์ พ.ย.-ธันวาคม
เมื่อวันที่ 22 กันยายน กรณีหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา เห็นชอบแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษพักในประเทศไทยได้ 270 วัน ล่าสุด นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้สัมภาษณ์วันที่ 21 กันยายน ว่า จากแนวคิดการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในรูปแบบจำกัด จะเน้นไปที่กลุ่มเมืองในประเทศที่มีความปลอดภัย โดยมีมาตรการคักกรองและควบคุมเหมือนคนไทยที่กลับจากต่างประเทศ คือต้องทำการกักตัวในโรงแรมที่เข้าร่วมเป็นสถานกักเชื้อ (เอเอสคิว) 14 วัน และมีการตรวจหาเชื้อตั้งแต่ก่อนเข้ามาภายใน 72 ชั่วโมง ตรวจหลังเข้ามาแล้วอีก 1 ครั้งโดยตลอด ซึ่งย้ำว่า ต่างชาติที่ต้องการเข้ามาจะต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วัน และไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกพื้นที่ที่ทำการกักตัวอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มใดก็ได้
นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า สำหรับต่างชาติที่เดินทางเข้าในไทยจะต้องเข้ามาพักในระยะยาว (ลองสเตย์) เท่านั้น โดยอนุญาตให้ใช้วีซ่าในรูปแบบสเปเชียล ทัวริสต์ วีซ่า (เอสทีวี) โดยจะมีเวลาให้อยู่ในไทยได้ 90 วัน และต่อได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 90 วัน รวมเป็น 270 วัน ซึ่งวีซ่าประเภทนี้เหมาะสมกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการมาพำนักระยะยาวในไทยและต้องถูกกักตัว ส่วนจะเริ่มต้นในตอนใดนั้น พยายามจะเปิดให้ทันภายใน 2 เดือนสุดท้ายของปี (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2563) โดยจะทำเป็น 3 ระยะคือ ทดลอง ขยายผล และเปิดอย่างจำกัด สำหรับในช่วงทดลองจะเริ่มทำได้เมื่อคนในพื้นที่ยอมรับ ไม่มีรายงานการติดเชื้อโควิด-19 จึงจะขยับไปสู่ระยะต่อไปได้ ที่สำคัญการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ จะไม่ใช่การเปิดให้ทุกชาติ คงไม่ใช่เปิดให้อินเดีย สหรัฐ หรืออเมริกาใต้ที่มีการติดเชื้อมาก แต่จะเอาเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกเป็นที่ตั้งว่าประเทศใดที่มีการติดเชื้อน้อย มีประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาด 10 ประเทศแรก ถึงมีการเปิดให้มาในไทย
“แนวคิดการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับชาวต่างชาติที่เป็นสมาชิกบัตรไทยแลนด์อีลิทการ์ด โดยศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดโควิด-19 (ศบศ.) ที่ได้เห็นชอบในหลักการกระตุ้นให้ผู้ถือบัตรดังกล่าว เข้ามาท่องเที่ยวในเชิงเชื่อมโยงกับการลงทุนมากขึ้น อาทิ การซื้ออาคารชุด และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์เงินขั้นต่ำ และสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับ โดยมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มากขึ้น อาทิ หากเข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไทยในช่วง 1 ปีนับจากนี้ จะอนุญาตให้ถือวีซ่าทำงานได้ ส่วนรายละเอียดและเงื่อนไขที่ชัดเจน ยังต้องรอการประชุมร่วมกันกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 22 กันยายน ก่อน” นายยุทธศักดิ์กล่าว
หอค้าห่วงโควิดรอบ2มากกว่าม็อบ
ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ รองประธานหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ทางการเมือง และสถานการณ์ม็อบในประเทศ มองว่าในภาพรวมยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเท่าไรนัก เพราะการชุมนุมในครั้งนี้จบด้วยดีไม่มีการปะทะ ทุกอย่างเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย การกระทำต่างๆ ยังไม่มากจนกระทั่งน่ากลัว เมื่อเทียบจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมกับจำนวนประชากรทั้งประเทศแล้ว ยังถือว่าอยู่ในปริมาณที่รับได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่นักศึกษา กลายเป็นคนกลุ่มอื่นที่ต้องการเข้ามาสร้างสถานการณ์เป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่กังวลคือในวันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่มีประวัติศาสตร์และน่ากลัวกว่าการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา
การชุมนุมในครั้งนี้ เป็นเพียงการออกมาเรียกร้องในสิ่งที่สามารถทำได้ตามหลักประชาธิปไตย
“ข้อเรียกร้องที่ทางผู้ชุมนุมเอ่ยถึง ผมขอไม่ลงลายละเอียดในเรื่องดังกล่าวเพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน มองว่าถ้าการชุมนุมเน้นในเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว เชื่อว่าจะมีประชาชนออกมาร่วมชุมนุมเยอะกว่านี้ แต่การชุมนุมครั้งนี้ถือว่าสงบเรียบร้อยดี ทางฝ่ายป้องกันก็มีการบริหารที่ดีทางภาคเอกชนจึงยังไม่มีความกังวลในสถานการณ์นี้มากนัก แต่สิ่งที่รัฐบาลและภาคเอกชนกังวลคือในเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 เพราะถ้าเกิดขึ้นเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นจะยิ่งเลวร้ายไปมากกว่าเดิม” ว่าที่ ร.อ.จิตร์กล่าว