สกสว.หนุนจัดเวทีรับฟังเสียงชาวอีสาน เร่งแก้หนี้แก้จนและปัญหาสิ่งแวดล้อม
โครงการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อคืนข้อมูลผลการศึกษาความต้องการระดับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 17 มกราคม 2566 ณ โรงแรมอวานีขอนแก่น โฮเทล แอนด์คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น โดยประเด็นพัฒนาสำคัญและเร่งด่วนมากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาคนของภาคอยู่ในระดับต่ำ ภัยแล้งและคุณภาพของแหล่งน้ำในพื้นที่ และการจัดการขยะและของเสีย ซึ่งเสียงของประชาชนในพื้นที่จะเป็นตัวสะท้อนความต้องการงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาบนฐานความรู้และการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)
ผศ. ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สกสว. ระบุว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนภูมิภาคทั่วไทย โดยการรับฟังทราบความต้องการในพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้ ววน. สามารถตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วนได้อย่างแท้จริงและตรงเป้าหมาย ขณะที่ ดร.อนิรุทธิ์ ผงคลี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและวิเทศสัมพันธ์ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม ในฐานะหัวหน้าโครงการการศึกษาความต้องการระดับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผยว่า เวทีนี้มุ่งนำเสนอที่มาและผลการจัดทำรายงานความต้องการระดับพื้นที่จากโครงการปีที่ 1 รวมถึงกระบวนการจัดทำข้อมูลเพื่อสำรวจความต้องการระดับพื้นที่กับกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และแผนภาพการทำงานของกลไกระบบ ววน. ระดับประเทศ โดยประเด็นพัฒนาสำคัญและเร่งด่วน แบ่งเป็น 3 มิติ ได้แก่ 1) มิติสังคม ประกอบด้วย ปัญหาความยากจน การพัฒนาคนของภาคอยู่ในระดับต่ำ ความรุนแรงและความยุติธรรม เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การขจัดความอดอยากและสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการเข้าถึงบริการสาธารณสุข 2) มิติเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การขยายตัวของเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระดับต่ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมเกษตร การใช้พลังงานทดแทน และการค้าชายแดนที่อาจเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3) มิติสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย การจัดการขยะและของเสีย ภัยแล้งและคุณภาพของแหล่งน้ำในพื้นที่ และพื้นที่ป่ากับที่ทำกินผู้ยากไร้
ทั้งนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะยิ่งแสดงอาการรุนแรงมากขึ้นในสถานการณ์ที่คนจนและกลุ่มเปราะบางไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจได้ อันเป็นผลมาจากปัญหาการกระจายรายได้และทรัพยากรทำได้ไม่ทั่วถึง เกิด “คนจนข้ามรุ่น” ที่เป็นผลจากความเหลื่อมล้ำของคนรุ่นพ่อแม่ ทำให้ขาดโอกาสต่าง ๆ และส่งมอบความยากจนไปยังรุ่นลูก ขณะที่ภัยแล้งมีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหาสำคัญของภูมิภาคทั้งที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งด้านน้ำทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะรุ่นน้ำโขงจะรุนแรงมากขึ้น แม้จะมีคุณภาพแหล่งน้ำผิวดินที่ดี ทว่าการมีพื้นที่ชลประทานน้อยเพียงร้อยละ 10 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดของภาค มีพื้นที่กักเก็บน้ำน้อย ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นส่วนใหญ่
ส่วนปัญหาพื้นที่ป่ากับที่ทำกินผู้ยากไร้ยังคงมีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อการอยู่อาศัยและทำกินจนเกิดกรณีพิพาทกับรัฐผู้เป็นเจ้าของพื้นที่สาธารณะ รวมถึงการออกเอกสารสิทธิ์ที่ทำกินไม่ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ การกำหนดพื้นที่ป่าทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของประชาชน โดยไม่เห็นรูปธรรมการแก้ปัญหาให้ลุล่วงเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ขณะที่ปัญหาการจัดการขยะและของเสียประสบปัญหาเรื่องจิตสำนึกและความรู้ความเข้าใจในการจัดการขยะระดับครัวเรือน ตลอดจนปัญหาในเชิงปฏิบัติโดยเฉพาะนโยบายการกำจัดขยะที่ละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดการส่งเสริมเพื่อสร้างความตระหนักและผลักดันสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง
ผลจากการวิเคราะห์พบว่ามีความต้องการความรู้ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ (1) การสนับสนุนฐานข้อมูลและงานวิจัยด้านความยากจนและหนี้สินในระดับพื้นที่ โดยใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ในการพยากรณ์ สร้างตัวแบบการจัดการความยากจนและภาวะหนี้สินที่เหมาะสมตามบริบท (2) สร้างเครือข่ายเกษตรกรชั้นแนวหน้า และการยกระดับผู้ประกอบเกษตรรุ่นใหม่สู่ความเป็นมืออาชีพในระดับสากล เทคโนโลยีและนวัตกรรมการลดต้นทุนการผลิต และการดำเนินงานเพื่อยกระดับมูลค่าสินค้าทางการเกษตร ตลอดจนส่งเสริมความรู้ด้านนวัตกรรมในการจัดการของเสียจากภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรจนถึงภาคครัวเรือน (3) สนับสนุนฐานข้อมูลการจัดการทรัพยากรน้ำไหลภาคที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ (4) การมีตัวแบบการสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมด้วยการท่องเที่ยวในพื้นที่ ปรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการท่องเที่ยว (5) การสร้างฐานข้อมูลการค้าชายแดนและการค้าระหว่างประเทศ พร้อมเอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจและพัฒนาสินค้า