รีเซต

กักตัวโควิดกี่วัน? ถึงจะปลอดภัยไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อระบาดวงกว้าง

กักตัวโควิดกี่วัน? ถึงจะปลอดภัยไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อระบาดวงกว้าง
TNN ช่อง16
20 สิงหาคม 2565 ( 08:14 )
99
กักตัวโควิดกี่วัน? ถึงจะปลอดภัยไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อระบาดวงกว้าง

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” โดยระบุว่า 20 สิงหาคม 2565...

กำลังจะทะลุ 600 ล้าน

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 695,653 คน ตายเพิ่ม 1,665 คน รวมแล้วติดไป 599,439,692 คน เสียชีวิตรวม 6,468,239 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และอิตาลี

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 84.85 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 64.32

...สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 17 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

...นโยบายแยกกักตัวอย่างน้อย 5 วัน จะทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดวงกว้าง

ย้ำอีกครั้งสำหรับประชาชนว่า ความรู้ทางการแพทย์ปัจจุบันพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าการแยกตัว 5 วันนั้นไม่เพียงพอ 

มีงานวิจัยทั้งจากทีม Massachusetts General Hospital มหาวิทยาลัย Harvard ประเทศสหรัฐอเมริกา และจากทีม Imperial College London สหราชอาณาจักร ที่ยืนยันให้เห็นชัดเจน 

ทั้งสองงานวิจัยนั้นให้ผลออกมาสอดคล้องกันว่า 

5 วัน มีความเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้อจะยังคงมีเชื้ออยู่และสามารถแพร่ให้คนรอบข้างได้นั้นสูงถึง 50-75%

7 วัน ความเสี่ยงยังคงสูงถึง 25-35%

10 วัน จะมีความเสี่ยงราว 10%

หลัง 14 วันจะปลอดภัย

การปฏิบัติตัวในชีวิตจริงนั้น ทางที่พอจะยืดหยุ่นและมีความเป็นไปได้คือ หากตรวจพบว่าติดเชื้อหรือมีอาการ "ควรแยกตัวอย่างน้อย 7-10 วัน"

และเมื่อครบ 7-10 วันแล้ว ก่อนออกมาใช้ชีวิต ทำงาน หรือศึกษาเล่าเรียน จำเป็นต้องแน่ใจว่าผ่าน 2 ข้อต่อไปนี้คือ 1. ไม่มีอาการแล้ว และ 2. ตรวจ ATK แล้วได้ผลเป็นลบ 

ทั้งนี้แม้ออกมาจากการแยกตัวแล้ว ก็จำเป็นต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องไปจนครบสองสัปดาห์ โดยควรใช้หน้ากาก N95 หรือเทียบเท่าถ้าต้องทำงานที่ใกล้ชิดผู้คนมาก

...การออกนโยบาย 5+5 (แยกตัว 5 วันและป้องกันตัว 5 วัน) นั้นไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ แม้จะเข้าใจได้ว่าเอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมวงกว้างนั้นมีสูง ทั้งเรื่องการติดเชื้อ เจ็บป่วย เสียชีวิต ผลิตภาพโดยรวม และปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID ซึ่งบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิต การทำงาน และภาระค่าใช้จ่าย ทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม

ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม รวมถึงกิจการห้างร้านต่างๆ ก็จะได้รับผลกระทบย้อนกลับ หากมีการป้องกันตัวไม่ดีพอ ก็ย่อมเกิดปัญหาติดเชื้อจำนวนมากวนกันไป นำไปสู่ภาวะ"เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย" 

"เครื่องดื่มชูกำลัง" ข้างขวดยังมีคำเตือนสำหรับผู้บริโภค

"นโยบายสาธารณะ" ที่ส่งผลต่อชีวิตทุกคนในสังคม ก็จำเป็นต้องใช้ความรู้ที่ถูกต้อง พิสูจน์ได้ ในการสร้างนโยบาย 

นโยบายใดที่ไม่ถูกต้อง ก็ควรได้รับการปรับเปลี่ยน หรือมี"คำเตือน" ระบุให้ทุกคนในสังคมได้รับรู้ว่าจะเกิดความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นว่ามีมากน้อยเพียงใดหากปฏิบัติตามแนวทางที่ระบุไว้ในนโยบายนั้น พร้อมเสนอทางเลือกในการลดความเสี่ยงเหล่านั้น เพื่อให้แต่ละคนสามารถตัดสินใจใช้ประพฤติปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม

คนในสังคมทุกคนนั้นมีชีวิตจิตใจ...ไม่ใช่หนูทดลองนโยบาย

ทุกชีวิตมีค่า ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก

...การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ จะช่วยลดความเสี่ยงไปได้มาก...

อ้างอิง

1. Boucau J et al. Duration of shedding of culturable virus in SARS-CoV-2 Omicron (BA.1) infection. NEJM. 26 June 2022. 

2. Hakki S et al. Onset and window of SARS-CoV-2 infectiousness and temporal correlation with symptom onset: a prospective, longitudinal, community cohort study. The Lancet Respiratory Medicine. 18 August 2022.



ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ภาพจาก TNN ONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง