รีเซต

อัปเดตความคืบหน้าแคปซูลสินค้าอัตโนมัติ Express Freight แบบไฮเปอร์ลูปความเร็วเหนือเสียง

อัปเดตความคืบหน้าแคปซูลสินค้าอัตโนมัติ Express Freight แบบไฮเปอร์ลูปความเร็วเหนือเสียง
TNN ช่อง16
30 ตุลาคม 2566 ( 22:39 )
87

แนวคิดของระบบขนส่งไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ได้รับการถูกพูดถึงอีกครั้งโดยบริษัท ไฮเปอร์ลูป ทรานสปอร์ตเทชั่น เทคโนโลยี (HyperloopTT) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปชั้นนำในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ได้เผยโฉมระบบขนส่งแคปซูลส่งสินค้าแบบอัตโนมัติเอ็กซ์เพรส เฟรต (Express Freight) โดยใช้เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปความเร็วเหนือเสียง บริษัทยืนยันว่ารูปแบบการขนส่งดังกล่าวสามารถขนส่งสินค้าได้เร็วกว่าเครื่องบินและรถบรรทุกขนาดใหญ่ โดยใช้ต้นทุนที่มีความคุ้มค่ามากกว่า


ระบบขนส่งแคปซูลส่งสินค้าแบบเอ็กซ์เพรส เฟรต (Express Freight) เริ่มต้นศึกษาความเป็นไปได้ครั้งแรกในปี 2019 โดยนำแนวคิดของระบบขนส่งแบบไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ความเร็วเหนือเสียงเข้ามาใช้งานร่วมกับระบบขนส่งตู้สินค้าอัตโนมัติ โดยบริษัท ไฮเปอร์ลูป ทรานสปอร์ตเทชั่น เทคโนโลยี (HyperloopTT) ได้ทำงานร่วมกับบริษัท แทนเจอรีน (Tangerine) บริษัทออกแบบเทคโนโลยีชั้นนำในประเทศอังกฤษ และได้วางเป้าหมายการพัฒนาเอาไว้ 4 ประการ 


1. ระบบจะต้องบูรณาการเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนหน้านี้

2. ระบบสามารถเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าภายในแคปซูลอย่างเต็มประสิทธิภาพ

3. ระบบสามารถบรรทุกสินค้าได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

4. ระบบมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการของลูกค้าได้


กระบวนการทำงานของระบบขนส่งแคปซูลส่งสินค้าแบบเอ็กซ์เพรส เฟรต (Express Freight) เริ่มต้นจากการรับตู้สินค้าผ่านสายพานลำเลียงมายังตำแหน่งที่พอดีกับประตูของแคปซูลภายในสถานีขนส่งสินค้า เมื่อแคปซูลเดินทางมาถึงสถานีขนส่งสินค้าประตูแคปซูลทั้งสองด้านซ้ายและขวาจะถูกเปิดออกพร้อมกันเพื่อขนถ่ายสินค้า ตู้สินค้าจะถูกเคลื่อนย้ายเข้าและออกแคปซูลโดยอัตโนมัติผ่านสายพานลำเลียง เมื่อกระบวนการดังกล่าวเสร็จสิ้นประตูของแคปซูลถูกปิดลงและแคปซูลจะเดินทางไปยังสถานีขนส่งสินค้าที่อยู่ถัดไป 


จุดเด่นของระบบขนส่งแคปซูลส่งสินค้าแบบเอ็กซ์เพรส เฟรต (Express Freight) อยู่ที่การใช้เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีท่อสุญญากาศผสมกับเทคโนโลยีรถไฟพลังแม่เหล็กไฟฟ้า (Maglev) ทำให้แคปซูลลอยตัวเหนือรางแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อลดแรงเสียดทานและเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง เนื่องจากในท่อสุญญากาศไม่มีแรงต้านของอากาศ ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวคาดว่าแคปซูลจะสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 760 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 1,223 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 


เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปของบริษัท ไฮเปอร์ลูป ทรานสปอร์ตเทชั่น เทคโนโลยี (HyperloopTT) ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงต้นของการวิจัยพัฒนาและการสร้างต้นแบบ โดยก่อนหน้านี้บริษัทได้รับเงินทุนจากโครงการเน็กเจเนอเรชัน อียู  (European Union NextGenerationEU) ของสหภาพยุโรปมูลค่า 853.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 31,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปเชิงพาณิชย์ในประเทศอิตาลี อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่เปิดเผยแผนการก่อสร้างและกำหนดการเปิดให้บริการระบบขนส่งดังกล่าว




ที่มาของข้อมูล Newatlas

ที่มาของรูปภาพ HyperloopTT



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง