รีเซต

หนุนผู้ว่าฯระยอง ปลดธงแดง 'หาดแม่รำพึง' เล่นน้ำได้ แนะปัก 'ธงเหลือง' ให้คนรู้ยังติดตามผลอยู่

หนุนผู้ว่าฯระยอง ปลดธงแดง 'หาดแม่รำพึง' เล่นน้ำได้ แนะปัก 'ธงเหลือง' ให้คนรู้ยังติดตามผลอยู่
มติชน
9 กุมภาพันธ์ 2565 ( 17:24 )
108

ข่าววันนี้ 9 กุมภาพันธ์ นายสุรินทร์ สินรัตน์ ประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จ.ระยอง กล่าวว่า หลังนายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ประกาศปลดธงแดงหาดแม่รำพึง ต.ตะพง อ.เมืองระยอง วันแถลงข่าวจัด “Rayong in love ชวนชิม ริมเล” เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้คนลงเล่นน้ำทะเลได้แล้วนั้น พร้อมเปิดเผยข้อมูลเหตุการณ์น้ำมันรั่วกลางทะเลเมื่อ ปี 2556 ที่ผ่านมาว่า หลังมีการเก็บกู้คราบน้ำมันไปกว่า 10 วัน ชาวประมงได้ลงไปดำหอยใต้ทะเล บริเวณร่องหินอ่าวปลาต้ม เกาะเสม็ด เกิดอาการปากชา ตาบวม ตาปิด ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล ทำให้กลุ่มประมง 16 คน ฟ้องศาลแพ่งและชนะคดี ต้องมีการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้นมา รวม 4 โครงการ เพราะฉะนั้นต้องนำคุณสมบัติของสารเคมีสลายคราบน้ำมันว่าจะหมดพิษในระยะเวลาเท่าไหร่ สิ่งที่เป็นพิษมีอะไรบ้าง ซึ่งมีระบุไว้ชัดเจนว่า หู ตา ผิวหนัง เนื้อเยื่อบอบบางห้ามสัมผัส และในน้ำมันดิบว่ามันมีองค์ประกอบทางเคมีมีอะไรบ้าง หากจะสลายไปในธรรมชาติใช้เวลาเท่าไหร่

 

นายสุรินทร์กล่าวว่า ดังนั้น การจะประกาศอะไรออกไปว่ากินได้ เที่ยวได้ ดำน้ำได้แล้ว ต้องมีที่มาที่ไปที่ชัดเจน กรณีที่ผู้ว่าฯระยองประกาศปลดธงแดงออกตลอดหาดแม่รำพึง ผมก็เห็นด้วย เพราะเรื่องความรุนแรงขั้นวิกฤต เรื่องการปนเปื้อนหมดไปจากการมองดูด้วยตาเปล่า คุณภาพน้ำทะเลใส ค่าความเป็นพิษจากการตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษก็ลดลงเรื่อยๆ

 

“ในความเห็นส่วนตัว ในฐานะภาคประชาชนเครือข่าย ทสม.จังหวัดระยอง ควรจะมีการปักธงเหลืองก่อน เป็นสัญลักษณ์การเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นการไม่ประมาทว่ายังมีการทำงานเฝ้าระวังติดตามผลอยู่ว่ายังมีอะไรตกค้างอยู่หรือไม่ จนกว่าจะหมดอายุของสารเคมีในการกำจัดคราบน้ำมันกับโลหะหนัก หรือสารที่ปนเปื้อนในน้ำมันดิบหมดออกจากแหล่งน้ำ สัตว์น้ำ หลังจาก 30 วัน หมดตามอายุของสารกำจัดคราบน้ำมันบางตัว ตามเอกสารที่ระบุไว้

 

“ถ้าเป็นไปตามนั้นก็ให้ขึ้นธงเขียวได้เลย แสดงว่าทุกอย่างปลอดภัยและเชื่อมั่นได้แล้ว หน่วยงานราชการ ภาคประชาชน นักท่องเที่ยว ก็จะได้สื่อสาร มีความเข้าใจกัน ซึ่งเป็นการใช้หลักการบริหารแบบความปลอดภัยและชีวอนามัย มาบริหารลดระดับความเข้มข้นหรือความรุนแรงไปเรื่อยๆ จนหมดไป” นายสุรินทร์กล่าว

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง