BCPG โซลาร์ญี่ปุ่น ทำเงิน ทุ่ม 4 หมื่นล.อัพกำลังผลิต
ข่าววันนี้ BCPG กางแผนปี 2565 ตั้งงบลงทุน 3-4 หมื่นล้านบาท ขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งเป้าจะมี EBITDA มากกว่า 25-35% แย้มรายได้จากโซลาร์ในประเทศญี่ปุ่นจะเติบโตก้าวกระโดด หลังจากมีการ COD เพิ่มหลายโครงการ พร้อมเดินหน้าแผน 5 ปีคาดใช้เงินลงทุน 9.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิตเท่าตัวแตะ 2,000 เมกะวัตต์
นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด(มหาชน) หรือ BCPG เปิดเผยว่า บริษัทได้ตั้งเป้าหมายในปี 2565 จะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ 30,000-40,000 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งในต่างประเทศ บริษัทมีประเทศเป้าหมายที่จะเข้าไปลงทุน ได้แก่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศในอินโดจีน
โดยบริษัทบริหารพอร์ตการลงทุน จะแบ่งเป็นในประเทศที่พัฒนาแล้ว 25% ซึ่งจะมีมาร์จิ้นไม่มาก แต่มีความเสี่ยงน้อย ต่อมาลงทุนในประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีสัดส่วน 50% ซึ่งจะมีมาร์จิ้นดีขึ้น และประเทศที่มีความไม่แน่นอน มีความเสี่ยงสูงขึ้น มีสัดส่วนลงทุนอยู่ในระดับ 25%ซึ่งในส่วนนี้จะให้ผลตอบแทนที่สูง ขณะเดียวกันบริษัทจะเน้นการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ทันที อย่างไรก็ตามการสร้างโรงไฟฟ้าเองก็ยังดำเนินการ เพื่อสร้างการเติบโตในระยะกลางถึงระยะยาว
ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 1,108.4 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการแล้ว 344.6 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาจำนวน 763.8 เมกะวัตต์ ซึ่งได้มีการลงทุนทั้งใน ไทย, ลาว, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน และฟิลิปปินส์
*รายได้ขายไฟพุ่ง
ทั้งนี้ในส่วนของโครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น คาดว่าในปีนี้จะสร้างรายได้แบบก้าวกระโดด เนื่องจากมีการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้เพิ่มขึ้น อาทิ โครงการโคมากาเนะ กำลังการผลิต 25 เมกะวัตต์ และโครงการยาบูกิ กำลังการผลิต 20เมกะวัตต์ จะเริ่ม COD ในเดือนมีนาคม โดยคาดจะมีรายได้ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี ขณะที่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมาโครงการชิบะ 1 มีกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ ได้ COD ไปแล้ว ทำให้จะมีการรับรู้รายได้เต็มปีในปีนี้หรือประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี
ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานลมมอนสูน ที่ประเทศสปป.ลาว ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 600 เมกะวัตต์ ซึ่ง BCPG เข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 45% คาดว่าจะ COD ได้ประมาณไตรมาส 4/2568และยังมีโครงการมอนสูน เฟส 2 อีกซึ่งมีขนาดกำลังผลิตตั้งตั้ง 1,000 เมกะวัตต์ ที่ได้มีการลงนาม MOU กับรัฐบาลลาวแล้ว และจะมีการพัฒนาโครงการต่อไป
นอกจากนี้ บริษัทก็ได้เข้าไปลงทุนในไต้หวัน เป็นประเทศที่มีความน่าสนใจลงทุน เพราะถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ให้ค่าไฟที่ดี และเป็นประเทศที่มีแดดเข้ม ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมาจึงได้มีการเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ที่เป็นแบบติดตั้งบนบก, หลังคา หรือบ่อปลา โดยวางเป้าหมายจะมีกำลังการผลิต 469 เมกะวัตต์ และในอนาคตระยะยาวกำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000-2,000 เมกะวัตต์ได้
*เดินหน้าแผน 5 ปี
นายนิวัติ กล่าวอีกว่า บริษัทได้กำหนดแผนดำเนินงาน 5 ปี (2565-2569) จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 2,000เมกะวัตต์ โดยจะใช้เงินลงทุน 95,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 65,000ล้านบาท โดยเงินลงทุนดังกล่าว จะมาจากการออกหุ้นกู้ การกู้เงินจากสถาบันการเงิน และล่าสุดได้เงินจากการขายหุ้นที่ถืออยู่ 33.33% ใน Star Energy Group Holdings Pte. Ltd. หรือ SEGHPL ซึ่งทำธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศอินโดนีเซีย ทำให้บริษัทได้เงินเข้ามาอีกประมาณ 14,500 ล้านบาท และมีกำไรจากการขายหุ้นดังกล่าวประมาณ 1,600 ล้านบาท เงินจากการขายหุ้นดังกล่าว ทำให้บริษัทมีความสามารถที่จะกู้เงินกับสถาบันการเงินได้เพิ่มขึ้นอีก จึงจะทำให้มีเงินเข้ามาเพิ่มอีกราว 30,000-35,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงทำให้ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้บริษัทไม่จำเป็นต้องรบกวนผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด เพราะบริษัทมีเงินลงทุนที่เตรียมไว้อยู่แล้ว
ตามแผนกลยุทธ์ 5 ปีที่วางไว้นั้น เงินลงทุนประมาณ 4.39 หมื่นล้านบาท จะนำไปใช้ลงทุนในโครงการใหม่ๆ ที่จะสร้างการเติบโต ส่วนอีก 3.94หมื่นล้านบาท ใช้ในการพัฒนาโครงการที่อยู่ในสัญญาอยู่แล้ว และยังมีแผนที่จะลงทุนในธุรกิจ New S-curve โดยจะใช้เงินลงทุนประมาณ 9 พันล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้มีการลงทุนในธุรกิจแบตเตอรีไปบ้างแล้ว