รีเซต

จีนใช้อิฐ 24 ตัน เป็นแบตเตอรี่แบบใหม่ ดึง “แรงโน้มถ่วง” จัดเก็บพลังงาน

จีนใช้อิฐ 24 ตัน เป็นแบตเตอรี่แบบใหม่ ดึง “แรงโน้มถ่วง” จัดเก็บพลังงาน
TNN ช่อง16
26 เมษายน 2566 ( 12:45 )
1.5K
จีนใช้อิฐ 24 ตัน เป็นแบตเตอรี่แบบใหม่ ดึง “แรงโน้มถ่วง” จัดเก็บพลังงาน

บริษัท เอเนอร์จี้ วอลต์ (Energy Vault) สตาร์ตอัปด้านพลังงานจากประเทศจีน ประกาศโครงการก่อสร้างแบตเตอรี่แรงโน้มถ่วง (Gravity Battery) หรือที่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียนด้วยแรงโน้มถ่วงแทนที่สารเคมี ในรูปแบบสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ต้องใช้อิฐหนัก 24 ตัน เป็นตัวเก็บไฟฟ้า


แบตเตอรี่แรงโน้มถ่วง (Gravity Battery) ใช้หลักการเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังงานศักย์ (Potential Energy) หรือพลังงานเชิงกลที่สะสมไว้ซึ่งมีค่าเพิ่มขึ้นตามระดับความสูงวัดจากพื้นโลก มาประยุกต์ใช้กับการจัดเก็บพลังงานส่วนเกินที่ได้จากลมหรือแสงอาทิตย์โดยการผลักดันโครงสร้างวัตถุให้อยู่บนจุดสูงสุดของโครงสร้างนั้นและเมื่อต้องการใช้งาน ก็ปล่อยให้วัตถุนั้นตกลงมา การตกลงมาจะเปลี่ยนพลังงานศักย์ให้เป็นพลังงานจลน์ (Kinertic Energy) ที่แปลงกลับมาเป็นกระแสไฟฟ้าได้ด้วยการอาศัยแรงดังกล่าวดึงรอกปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า


หรือโดยสรุปแล้ว แบตเตอรี่แรงโน้มถ่วงเป็นการเก็บไฟฟ้าในรูปของวัตถุที่มีน้ำหนัก แทนที่การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางเคมีที่เกิดขึ้นในแบตเตอรี่รูปแบบเดิม โดยข้อดีสำคัญของแบตเตอรี่ชนิดนี้มีราคาที่ถูกมากเมื่อเทียบกับแบตเตอรี่แบบเดิมซึ่งมีขนาดการกักเก็บไฟฟ้าเท่ากัน เปิดทางไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักเพราะมีที่กักเก็บต้นทุนต่ำลง


บริษัท เอเนอร์จี้ วอลต์ (Energy Vault) จะสร้างอาคารสูง 8 ชั้น ในเมืองหลูตรง (Rudong) มณฑลหนานทง ที่ภายในจะมีระบบจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าจากก้อนอิฐ โดยก้อนอิฐแต่ละก้อนจะมีขนาดกว้าง 3.5 เมตร ยาว 2.7 เมตร และสูง 1.3 เมตร มีน้ำหนัก 24 ตัน 


กระบวนการทั้งหมดจะเริ่มจากพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินที่ได้จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนจะจ่ายไฟให้ลิฟต์ยกก้อนอิฐไปเก็บไว้ และเมื่อต้องการใช้ไฟฟ้าในเวลาที่ต้องการ ระบบจะปล่อยก้อนอิฐให้ตกลงตามแรงโน้มถ่วงจากตึกชั้นที่ 8 สร้างความเร็ว 6.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งแปลงให้เป็นไฟฟ้าได้ประมาณ 1 เมกะวัตต์ (MW) คิดเป็น 80% ของพลังงานที่กักเก็บไว้ โดยจะมีกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 25 เมกะวัตต์ (MW)


โครงการดังกล่าวคาดว่าจะเป็นทางเลือกสำคัญในการจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าในอนาคต ทั้งนี้ บริษัท เอเนอร์จี้ วอลต์ (Energy Vault) ต้องแบกรับภาระขาดทุนกว่า 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2,700 ล้านบาท ในปี 2022 และเสียความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนจนมูลค่าหุ้นตกลงกว่า 90% เหลือประมาณ 1.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น จากที่เคยมีมูลค่าสูงถึงหุ้นละ 18.32 ดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่ผ่านมา แต่บริษัทยังคงเชื่อมั่นในแนวทางธุรกิจและกำลังก่อสร้างโครงการเดียวกันนี้ในประเทศเม็กซิโกอีกด้วย



ที่มาข้อมูล cnet

ที่มารูปภาพ Energy Vault

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง