รีเซต

ถอดรหัสการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ของจีน ตอน 1 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ถอดรหัสการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ของจีน ตอน 1 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
TNN ช่อง16
27 กรกฎาคม 2564 ( 11:54 )
67

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทยทำเอา ศบค. ส่งสัญญาณเตือนการล็อกดาวน์แบบเข้มข้น โดยพาดพิงเลยไปถึง “อู่ฮั่นโมเดล” ที่อาจถูกใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการหากสถานการณ์ย่ำแย่ลงไป จนหลายคนถามกันมาค่อนข้างมากว่า อู่ฮั่นโมเดลเป็นเช่นไร จีนทำได้อย่างไร และไทยควรนำเอาอู่ฮั่นโมเดลมาใช้หรือไม่ อย่างไร ...

ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านต่างยอมรับว่า จีนแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้ได้อย่างเฉียบขาดและมีประสิทธิภาพยิ่ง จีนทำสิ่งที่ยากให้ดูเหมือนง่ายได้อย่างน่าชื่นชม 

ทุกภาคส่วนของจีนจับมือกันแน่นเพื่อก้าวผ่านช่วงวิกฤติโควิด-19 ไปได้อย่างมุ่งมั่นและอดทน ความสำเร็จดังกล่าวทำให้จีนเป็นแบบอย่างที่ดีของหลายประเทศ ทั้งนี้ ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการแก้ไขวิกฤติดังกล่าวของจีนครอบคลุมหลายประการ ดังนี้

ประการแรก ผู้นำจีนมีภาวะผู้นำสูง โดยมี “ประชาชน” เป็นศูนย์กลาง ตลอดเวลาของการต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19 สี จิ้นผิง ทุ่มเท ทำจริง และรอบด้าน ผู้นำจีนติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด นัยสำคัญก็เพราะว่า สี จิ้นผิงไม่ต้องการให้วิกฤติโควิด-19 กระทบชิ่งต่อไปถึงเรื่องใหญ่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความยากจนของจีน ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ

ผู้นำจีนมองว่า หากปล่อยให้ปัญหาโควิด-19 ขยายวงกว้างจนเป็นปัญหาใหญ่ ก็อาจทำให้คนยากจน (มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งแห่งความยากจนที่จีนกำหนดไว้ที่ 4,000 หยวนต่อปี) มีจำนวนมากขึ้น และอาจทำให้ความยากจนหนักขึ้นกว่าเดิม 

ในเดือนมีนาคม 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนกำลังประสบวิกฤติโควิด-19 อย่างหนักหน่วง สี จิ้นผิง ก็นั่งหัวโต๊ะประชุมติดตามความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงไปถึงประเด็นโควิด-19 อยู่ด้วย

ผู้นำจีนยังมีจิตวิทยามวลชนที่ดีเยี่ยม รู้ว่าเมื่อไหร่ควรออกมา อย่างไร ดังจะเห็นได้ในหลายกรณี เช่น การออกคลิป “ปีนี้เงียบมาก” ที่สะท้อนสภาพความเงียบเหงาของอู่ฮั่นในช่วงตรุษจีนปีก่อน ผู้นำจีนอ่านสคริปประกอบภาพที่สะท้อนถึงความหดหู่ใจและแสดงความโศกเศร้าที่ “ปีศาจร้าย” ทำลายช่วงเวลาแห่งความสุขและสนุกสนานในช่วงเทศกาลตรุษจีนจนหมดสิ้น 

แต่ครั้งนั้น สี จิ้นผิงก็ไม่ลืมที่จะทิ้งท้ายคำกล่าวนั้นด้วยการปลุกขวัญให้ประชาชนในอู่ฮั่นร่วมใจกันลุกขึ้นสู้กับโควิด-19 และรอชื่นชม “สายรุ้งหลังฝน” ที่งดงามเสมอ



ครั้นเมื่อประเมินสถานการณ์ว่า ชาวอู่ฮั่นต้องต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19 ตลอดไตรมาสแรกของปี 2020 อย่างหนักหน่วง สี จิ้นผิง ก็ประชุมทางไกลเพื่อสอบถามสถานการณ์ แสดงความขอบคุณ และให้กำลังใจกับคณะแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ 

ต่อมา เมื่อสถานการณ์ในอู่ฮั่นเริ่มผ่อนคลาย สี จิ้นผิง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงก็บินลัดฟ้าจากปักกิ่งมาลงพื้นที่ “เซอร์ไพรส์” ชาวเมืองอู่ฮั่น ด้วยการเดินโบกมือทักทาย แสดงความห่วงใย และเติมพลังใจให้ผู้ที่อาศัยในอพาร์ตเม้นต์ ซึ่งในขณะนั้น อู่ฮั่นถูกล็อกดาวน์แบบเข้มข้นไปกว่า 7 สัปดาห์เข้าให้แล้ว

ประการที่ 2 จีนมีระบบการจัดการที่ดี เข้มแข็ง และจริงจัง หลายคนมักคิดว่า การมีพรรคการเมืองเดียวอาจเป็นคำตอบในเบื้องต้น บ้างก็คิดต่อไปขนาดถึงว่า จีนเป็นเผด็จการที่พรรคคอมมิวนิสต์สามารถสั่ง “ซ้ายหันขวาหัน” ได้ จึงทำให้ทุกอย่างลุล่วงอย่างรวดเร็ว 

แต่ผมขอเรียนว่า หลายประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม หรือแฝงไว้ด้วยความเป็นเผด็จการ หรือแม้กระทั่งประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่อาจทำได้ดังเช่นที่จีนทำในหลายเรื่อง หัวใจสำคัญในส่วนนี้จึงเป็นเพราะการมีระบบการเมืองการปกครองที่เข้มแข็งของจีน

จีนมีโครงสร้างองค์กร การถ่ายทอดคำสั่ง และการกำหนดวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับรองลงไป เมื่อเกิดเหตุ รัฐบาลกลาง ระดับมณฑล และระดับเขตต่างจัดตั้ง “วอร์รูม” เพื่อบริหารจัดการเรื่องนี้เป็นการเฉพาะตามกฎหมายอุบัติภัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเปิดให้รัฐบาลในทุกระดับสามารถโยกย้ายผู้คน เครื่องมืออุปกรณ์ การขนส่ง สิ่งอำนวยความสะดวก และทรัพยากรอื่นเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด และดำเนินการอื่นใดที่จำเป็น

ระบบการปกครองของจีนมีลักษณะ “หัวส่าย หางกระดิก” ที่เปี่ยมไปด้วยพลัง และความรวดเร็ว รวมทั้งยังมีความจริงจัง และเป็นขั้นเป็นตอน นั่นหมายความว่า รัฐบาลจีนเป็นทั้งนักวางแผนและนักส่งเสริมการปฏิบัติที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย

ในกรณีของอู่ฮั่น เรากำลังพูดถึงเมืองที่มีคนอยู่อาศัยราว 10 ล้านคน มากกว่า กทม. ของเราเสียอีก และเป็นชุมทางการเดินทางระหว่างเหนือและใต้ ตะวันออกและตะวันตก ที่มีโครงข่ายการคมนาคมมากมายพาดผ่าน แต่ปัญหายิ่งสลับซับซ้อนและท้าทายมากขึ้น เมื่ออู่ฮั่นยังเป็นศูนย์กลางของแพร่ระบาด และมีระดับความรุนแรงมากที่สุด



จีนสั่ง “บล็อกดาวน์” ห้ามการเดินทางเข้าออกเมืองในเกือบทุกกรณี โดยปิดเส้นทางด่วนและถนนรองทุกเส้นทางระหว่างเมือง และจุดเชื่อมต่อเข้าออกเมือง อาทิ สนามบิน สถานีรถไฟ และสถานีรถโดยสาร นอกจากนี้ บริการขนส่งสาธารณะภายในและระหว่างเมือง ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถไฟใต้ดิน เรือ และแท็กซี่ ก็ถูกยกเลิกเกือบทั้งหมด เพื่อลดการเคลื่อนที่ของประชาชน

รัฐบาลอู่ฮั่นยังยกเลิกการรับประทานอาหารนอกบ้าน กิจกรรมเชิงพาณิชย์และกีฬา รวมทั้งกิจกรรมทางศาสนา ขณะเดียวกัน ก็ยังสั่งปิดร้านจำน่ายสินค้า ยกเว้นร้านค้าที่รัฐกำหนด

ขณะที่คนที่อาศัยอยู่ในอู่ฮั่นก็ถูกกำหนดให้ “ล็อกดาวน์” กักตัวทุกคนอยู่แต่ในบ้าน ยกเว้นกลุ่มคนที่ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ลอจิสติกส์ และบางกิจการที่จำเป็น แถมยังเป็นแบบเข้มข้นที่เกิดขึ้นต่อเนื่องถึง 76 วัน

ภาครัฐจึงต้องเด็ดขาดและเข้มแข็งอย่างมากในการดำเนินมาตรการดังกล่าว การบังคับใช้กฎหมายแบบไม่เลือกปฏิบัติเป็นหลักการสำคัญที่ทำให้หลายสิ่งอยู่ถูกที่ถูกทาง สกัดการแพร่ระบาด และเดินหน้าแก้ไขปัญหาได้จนลุล่วง เรากำลังพูดถึงการกักบริเวณอยู่ภายในบ้านแบบเกือบตลอด 24 ชั่วโมง ยาวนานถึงเกือบ 11 สัปดาห์จากช่วงวันสุกดิบของเทศกาลตรุษจีนถึงราวเทศกาลเชงเม้งกันทีเดียว 

ยิ่งในระยะแรก แต่ละครอบครัวได้รับอนุญาตให้ส่งตัวแทนเพียงหนึ่งคนให้ออกไปซื้อหาอาหาร เวชภัณฑ์ และสิ่งจำเป็นอื่นได้เพียง 72 ชั่วโมง (3 วัน) ต่อครั้ง โดยต้องใส่หน้ากากอนามัยและตรวจวัดอุณหภูมิเมื่อเข้าพื้นที่ชุมชน 

ท่านผู้อ่านที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมหรือห้องพักที่มีขนาดพื้นที่ห้องไม่ใหญ่มากนักในห้วงนี้น่าจะเข้าใจถึงความรู้สึกชาวเมืองอู่ฮั่นในช่วงเวลาดังกล่าวได้บ้าง 

ขณะเดียวกัน ตำรวจ อาสาสมัคร และผู้บริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ ทำงานอย่างสอดประสานระหว่างกัน ผู้ดูแลโครงการต้องกำกับดูแลการเข้าออกของทุกคน จัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่หน้าประตูหลัก และจดบันทึกการเข้าออกของผู้พักอาศัยโดยละเอียด อาทิ ข้อมูลชื่อ นามสกุล อุณหภูมิร่างกาย และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ เพื่อรายงานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครที่เดินทางไปตรวจสอบความเรียบร้อยเป็นระยะ

นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครก็ยังไปตรวจเชื้อเชิงรุกแบบ 100% ในแต่ละมุมเมือง โดยเชื่อมโยงกับศูนย์ตรวจเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูงที่เรียกกันว่า “หัวเหยี่ยน” (Huo Yan) หรือ “ดวงตาไฟ” และหากการติดเชื้อ ก็จะคัดแยกผู้ติดเชื้อเข้าโรงพยาบาลสนามที่สร้างเตรียมไว้ในทันที



การก่อสร้างโรงพยาบาลสนามที่รวดเร็วชนิดโลกตะลึงก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนความก้าวหน้าด้านวิศวกรรมศาสตร์ของจีน เพราะในระยะแรกของการแพร่ระบาด อู่ฮั่นมีพื้นที่รักษาพยาบาลคนไข้ที่ติดเชื้ออยู่เพียง 4,000 เตียง ซึ่งไม่พอเพียงต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 

รัฐบาลจึงเร่งสร้างโรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลพักพิง และสิ่งอำนวยความสะดวกรูปแบบอื่นจำนวนมากตามมา เราได้ยินข่าวการก่อสร้างโรงพยาบาลสนามขนาด 1,000 เตียงพร้อมติดตั้งอุปกรณ์พร้อมใช้งานในเวลาเพียง 10 วัน

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทุกคนอยากจะออกจากบ้านในช่วงเวลานั้น เพราะหลายคนก็กลัวการติดเชื้อด้วยเช่นกัน รัฐจึงมีบริการจัดส่งข้าวปลาอาหารให้แก่ผู้ที่ถูกล็อกดาวน์ ซึ่งก็ยิ่งทำให้เกิดคำถามสงสัยตามมาอีกว่าจีนทำได้อย่างไร 

จีนมีระบบและโครงสร้างองค์กรที่เชื่อมโยงกันจากระดับบนลงสู่ระดับล่างสุด แต่ละหมู่บ้านมีทีมจัดส่งอาหารสดไปให้แต่ละบ้านตามที่สั่งและชำระเงินออนไลน์ โดยมีการกำหนดรายการอาหารเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งช่วยให้ต้นทางสามารถบริหารด้านลอจิสติกส์ได้อย่างเหมาะสม เมื่อทีมส่งอาหารไปให้ผู้รับก็จะแขวนไว้อยู่ที่ประตูบ้านพักและกดกริ่งบอก เพื่อลดการสัมผัส

จีนยังทำระบบคล้ายคลึงกันกับอาหารปรุงสุก โดยเลือกจัดซื้อจากร้านอาหารขนาดเล็กที่ผ่านมาตรฐานในชุมชนใกล้เคียง เพื่อประโยชน์จากความสดใหม่และอุดหนุนกิจการขนาดเล็กในยามลำบาก 

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าจีนมีระบบที่ดีซ่อนอยู่เป็นทุนเดิม ดังนั้น ทันทีที่มีการกำหนดนโยบายใดๆ จากระดับบน ก็จะมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนตามออกมา เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการก็สามารถระดมอาสาสมัครในพื้นที่เข้าปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว ทำให้คนที่ถูกล็อกดาวน์ไม่ต้องอดอยากหิวโหย ขณะที่อาสาสมัครก็ได้ค่าตอบแทน และการยกย่องชื่นชมจากภาครัฐ

ประการที่ 3 การสื่อสารที่ดีในยามวิกฤติคือก้าวแรกของความสำเร็จ จีนให้ความสำคัญกับการสื่อสารสู่ภาคประชาชนเป็นอย่างมาก สิ่งนี้ถือว่ามีความแตกต่างระหว่างไทยและจีนในหลายมิติ 

ที่จีน นอกจากจะคุมสื่อหลักอยู่ในมือแล้ว รัฐบาลจีนยังนิยมกำหนดสื่อหลักในแต่ละกิจกรรมสำคัญเพื่อการประชาสัมพันธ์ ขณะเดียวกัน ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมไม่เคยเห็นสื่อจีนเอาไมค์จ่อปากขอสัมภาษณ์ผู้นำ รัฐมนตรี หรือผู้บริหารระดับสูงของจีนแบบรายวัน



ผู้บริหารจีนมุ่งเน้นการ “ทำมากกว่าพูด” และถือว่าความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาจะเป็นเครื่องยืนยันถึงผลงานและความสำเร็จ เพราะหากไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา คำสัมภาษณ์ที่สวยหรูปานใดก็ไม่มีความหมาย 

ในทางกลับกัน การสื่อสารไปสู่ภาคประชาชนของไทยยังดูไม่เป็นระบบ และขาดประสิทธิภาพ ขณะที่ผู้บริหารบ้านเราใช้เวลากับการพูดคุยกับสื่อมากกว่าที่ควรจะเป็น หลายคนกลัวตกข่าว จึงต้องมีกองทัพนักข่าวไปไหนมาไหนด้วยเสมอ

แถมแทนที่จะมุ่งเน้นเฉพาะการให้ข่าวในเรื่องระดับนโยบายที่จะนำไปปฏิบัติแล้วเท่านั้น เรากลับเห็นรัฐบาลไทยชิงกันให้ข่าวที่ยังไม่ตกผลึก และกระโดดลงมาตอบทุกเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องยิบย่อยที่ไม่ใช่หน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง

บ่อยครั้งก็พบว่า การสื่อสารของรัฐบาลขาดความชัดเจน และซ่อนไว้ซึ่งความขัดแย้งระหว่างกันอยู่เนืองๆ รวมทั้งยังเปิดกว้างในแนวคำถาม ทำให้มีกรณี “หลุด” หรือ “เพี้ยน” ไปจากสาระที่ต้องการสื่อสารอยู่เป็นระยะ ยิ่งพอสื่อแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และต้องการขายข่าว ผู้มีอำนาจก็มักตกเป็น “เหยื่ออันโอชะ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แถมยังก่อให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชนอีกด้วย

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจีนต้องเผชิญกับวิกฤติครั้งใด ผมไม่เคยเห็นผู้นำจีนออกมาตำหนิหรือแสดงความคิดเห็นเชิงลบต่อการดำเนินงานของผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านสื่อสารมวลชน 

ขณะที่บ้านเรากลับเห็นผู้บริหารระดับสูงและลิ่วล้อการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลออกมาตอบโต้กันในเรื่องการปฏิบัติงานอยู่เป็นนิจ ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะต่างฝ่ายต่างมองข้ามช็อตไปถึงการเมืองสนามหน้าที่เป็นเสมือนเค้กก้อนใหญ่ที่รออยู่ 

การกระทำใดๆ ในเชิงลบดังกล่าวผ่านสื่อจึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็ไปปิดประตูพูดคุยหารือเพื่อหาทางปรับปรุงกัน ไม่ต้องโพทะนาผ่านสื่อให้โลกรู้ เพราะนั่นจะทำให้ประชาชนมองว่า กัปตันและลูกเรือกู้ภัยลำนี้ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน แล้วจะมาช่วยเหลือประชาชนที่ “ลอยคอ” อยู่ในน้ำได้อย่างไร

ประการสำคัญ ในสถานการณ์ที่คนไทยในปัจจุบันมีความคิดที่แตกแยกในเกือบทุกเรื่อง โดยไม่คิดว่ามาตรการเหล่านั้นถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร แถม “ผู้ไม่หวังดี” จำนวนหนึ่งก็ยังปล่อย “ข่าวปลอม” (Fake News) ผสมโรงอีกต่างหาก

คนไทยบางส่วนยังมีความรักในอิสระและเสรีภาพค่อนข้างสูง โดยมีลักษณะพิเศษที่ต้องการรักษาและเรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง แต่คนเหล่านี้กลับขาดวินัย และการเคารพในสิทธิ์ของผู้อื่น ด้วยความขัดแย้งที่ฝังรากลึกดังกล่าว การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19 ที่กำลังเคาะประตูบ้านอยู่เช่นนี้นับเป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่ง



ประการสำคัญ “คำหยาบและความรุนแรงทำลายสาระ” เสียหมดสิ้น ผมสังเกตเห็นการใช้ถ้อยคำที่หยาบคายและแฝงไว้ด้วยความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกอยู่ตลอด ซึ่งบ่อยครั้ง การวิพากษ์วิจารณ์ก็เลยไปถึงบุคคลที่ 3 หรือแม้กระทั่งต่างชาติ ซึ่งอาจกลายเป็น “ควันหลง” กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้โดยไม่รู้ตัว

รัฐบาลควรยกระดับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังแบบไม่เลือกปฏิบัติ การดำเนินคดีกับกลุ่มคนที่มีเจตนาปล่อย “ข่าวปลอม” จึงถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะในห้วงวิกฤติเช่นนี้ หากคนเหล่านั้นยังมองประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องเหนือของประเทศและสังคมโดยรวมแล้ว ก็เข้าข่ายเป็นผู้บ่อนทำลายชาติ ขณะที่ประชาชนโดยรวมก็ต้องคิดวิเคราะห์ หนักแน่น และเชื่อมั่นในรัฐบาลเฉกเช่นเดียวกับของจีน

จีนในยุคของการต่อสู้อย่างดุเดือดระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคชาตินิยม หรือ “ก๊กมินตั๋ง” ก็เลือกที่จะหยุดรบและหันกลับมาร่วมมือกันเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามายึดครองจีน เพราะพรรคการเมืองทั้งสองตะหนักดีว่า หากยังมัวแต่ทะเลาะกันเช่นเดิม ไม่ว่าพรรคใดได้รับชัยชนะ ก็ล้วนเป็นผู้แพ้ เพราะถึงตอนนั้นแล้วก็อาจจะไม่มีชาติจีนเหลืออยู่ให้ปกครอง!

ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องของไทยจึงต้องไม่เพียงเอาวิกฤติโควิด-19 มาเป็นประเด็นทางการเมือง แต่เร่งทำเป็น “วาระแห่งชาติ” อย่างแท้จริง เราต้องหันมาสมัครสมานสามัคคีและพร้อมใจกันเพื่อยุติวิกฤติโควิด-19 

“นักเล่นการเมือง” ต้องพึงระลึกว่า จะไม่มีก้อนเค้กใดเหลืออยู่สำหรับนักการเมืองและพี่น้องคนไทย หากเราพ่ายแพ้ต่อศึกใหญ่กับเชื้อโรคร้ายในครั้งนี้

ความแตกต่างกันทางความคิดต้องไม่เหนือกว่าความอยู่รอดของประเทศชาติและประชาชน เราต้องหยุดสิ่งที่บั่นทอนกำลังระหว่างกันเพียงเพื่อต้องการเอาชนะกันทางการเมือง 

นอกจากนี้ เรายังต้องหยุดพฤติกรรมที่กัดกินประเทศอย่างเด็ดขาด เพราะลำพังเพียงการรับมือกับปัญหาโควิด-19 ก็หนักหนาสาหัสมากเพียงพอแล้ว ผมก็หวังว่าเราจะไม่มีปัญหาคอรัปชั่นมา “รุมกินโต๊ะ” ประเทศเพิ่มมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ เราได้เห็นประชาชนพยายามอดทนดูแลรักษาพยาบาลตัวเองอยู่ที่บ้านอย่างถึงที่สุด และบางรายต้องยอมห้อย “ธงขาว” สื่อสารขอความช่วยเหลือจากภายนอก แต่ผมไม่อยากเห็นเหตุการณ์ที่แพทย์และพยาบาลพร้อมใจกันตี “ธงขาว” ส่งสัญญาณความล่มสลายของการสาธารณสุขของไทย



ดังนั้น การเร่งปรับปรุงระบบการสื่อสารจึงควรเป็นสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญ การหามืออาชีพมาช่วยจัดระเบียบในการสื่อสารชิงรุกผ่านสื่อยุคเก่าและสื่อสังคมออนไลน์ด้วยข้อความที่สอดคล้องกัน จะทำให้คนในทุกภาคส่วนเข้าใจสถานการณ์ การดำเนินการของภาครัฐ และการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและเหมาะสม

ประการที่ 4 จีนการ์ดไม่ตก และปรับใช้มาตรการตามสถานการณ์จริงอยู่เสมอ ตลอดหลายสัปดาห์ในอู่ฮั่น จีนไม่ยอมลดมาตรฐานในการดำเนินมาตรการจนกว่าจะบรรลุหรือมั่นใจว่ากระทำได้โดยไม่กระทบเป้าหมายใหญ่ 

และแม้ว่าสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ในอู่ฮั่นคลี่คลายและกลับสู่สภาวะเป็นปกติมานานหลายเดือนแล้ว แต่จีนก็ตระหนักดีกว่า “สงครามนี้ยังไม่จบ” เพราะยังตรวจพบการแพร่ระบาดในหลายเมืองของจีนเป็นระยะ 

หากย้อนกลับไปในช่วงครึ่งหลังของปีก่อน รัฐบาลจีนยังกำหนดให้การสวมใส่หน้ากากอนามัย และการรักษาระยะห่างในพื้นที่ชุมชน รวมทั้งการล้างมือทำความสะอาดเป็น “หน้าที่” ของประชาชนทุกคน และไม่อนุญาตให้เดินทางข้ามมณฑล/ภูมิภาค 

จีนเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก โรคระบาดเช่นนี้แฝงไว้ด้วยความเสี่ยงและเป็นภยันตรายต่อความมั่นคง จีนจึงเลือกที่จะยอมรับในระดับความเสี่ยงที่ต่ำเอาไว้ก่อน จนคนไทยบางส่วนค่อนขอดว่าจีน “ไม่เจ๋งจริง” ที่ไม่ยอมปลดล็อกการสวมหน้ากากอนามัยของประชาชน

อันที่จริง จีน “รุกรับอย่างรวดเร็ว” และยอม “อดเปรี้ยว ไว้กินหวาน” หากไม่มั่นใจ ก็ยังไม่ยอมผ่อนคลายกฎระเบียบ โดยในระยะแรก จีนสั่งปิดช่องทางการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ เพื่อมิให้เชื้อแพร่กระจายไปยังประเทศอื่น 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันการติดเชื้อแห่งชาติจีนก็ออก 8 แนวปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อที่ทุกภาคส่วนต้องถือปฏิบัติ ซึ่งครอบคลุมการป้องกันทั่วไป การท่องเที่ยว ภายในครอบครัว แหล่งชุมชน ขนส่งสาธารณะ การสังเกตการณ์ที่บ้าน การกักตัวที่บ้าน และการรักษาพยาบาลที่บ้าน และยังปรับปรุงและออกแนวปฏิบัติเวอร์ชั่นใหม่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในจีนเปลี่ยนแปลงไป

และเมื่อควบคุมการแพร่กระจายภายในประเทศได้แล้ว จีนก็เริ่มเปิดพรมแดนรับคนจีนกลับประเทศ โดยนับแต่เดือนเมษายน 2020 คนที่เดินทางจากต่างประเทศเข้าจีนต้องโดนตรวจโรคและกักตัวอย่างน้อย 14 วัน

หากเราจำความได้ เดิมจีนวางแผนจะเปิดให้ประชาชนสามารถเดินทางท่องเที่ยวข้ามภูมิภาคได้ในช่วงหยุดยาวเทศกาลตรุษจีน 2021 แต่ก่อนหน้านั้นไม่นาน จีนก็ตรวจพบการระบาดของเชื้อในปักกิ่งและเมืองบริวาร ทำให้จีนชะลอการประกาศผ่อนคลายดังกล่าวไปเป็นช่วงหยุดยาววันแรงงานแทน



การตรวจพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในมณฑลยูนนานและกวางตุ้งในราวเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ก็ทำให้รัฐบาลจีนออกมาล็อกดาวน์ เร่งฉีดวัคซีน ตรวจเชื้อเชิงรุก และสืบค้นหาสาเหตุในเมืองที่เกี่ยวข้องในทันที รวมทั้งกำหนดให้คนที่เดินทางผ่านเมืองเหล่านี้ต้องกลับไปกักตัว 14 วันในทุกกรณี และเพียง 3 สัปดาห์ จีนก็ประกาศเปิดเมืองได้อีกครั้ง โดยมิได้เปลี่ยนการฉีดวัคซีนเป็นชนิดใหม่แต่ประการใด

เมื่อมั่นใจในสถานการณ์ว่า “เอาอยู่” รับบาลจีนก็ค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการโดยลำดับ และไม่กำหนดเป็นเงื่อนไขภาคบังคับในเวลาต่อมา ขณะเดียวกัน จีนก็เตรียม “แผนเผชิญโรค” ไว้ตลอดเวลา 

เพราะจีนตระหนักดีว่า การหยุดยั้งการแพร่ระบาดต้อง “แข่งกับเวลา” ซึ่งต้องมีระบบและแผนงานที่ดีรองรับอยู่ เมื่อการแพร่ระบาดอุบัติขึ้นในเมืองใด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถงัดเอาแผนที่จัดเตรียมไว้มาปรับใช้กับแต่ละสถานการณ์ในทันที

นอกเหนือจากการตรวจเชิงรุกแล้ว จีนยังเร่งพัฒนา ผลิต และกระจายวัคซีน และเพิ่มประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน จากระดับวันละ 1 ล้านโดสในระยะแรก เป็นวันละกว่า 10 ล้านโดสในเวลาต่อมา 

ปัจจุบัน จีนฉีดวัคซีนไปแล้วราว 1,500 ล้านโดส โดยมีซิโนฟาร์มและซิโนแวคเป็นวัคซีนหลัก และตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้ จีนจะฉีดครบคนละสองโดสให้ได้ 70% ของจำนวนประชากรโดยรวม ซึ่งจะเป็นระดับที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้  

ผมขอเรียนว่า วัฒนธรรมจีนเป็นแบบ “พูดน้อยต่อยหนัก” ตลอดเวลาที่ผ่านมา จีนเลือกที่จะพิสูจน์สิ่งที่ต่างชาติปรามาสด้วยการทำให้ประจักษ์ ดังจะเห็นได้จากการเปิดให้คนจีนเดินทางท่องเที่ยวข้ามภูมิภาคทั่วจีนอย่างเป็นอิสระในช่วงหยุดยาววันแรงงานเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา 

หรือการรวมตัวกันของนักแสดงและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนจำนวนหลายหมื่นคนโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัยในสนามกีฬารังนก และจัตุรัสเทียนอันเหมินในช่วงการฉลอง 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อไม่นานมานี้ โดยไม่มีข่าวคลัสเตอร์การติดเชื้อเกิดขึ้นตามมาเหมือนที่เกิดขึ้นหลังกิจกรรมพิเศษในหลายประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง