มุมมองโบรกต่อโครงการ Digital Wallet
![มุมมองโบรกต่อโครงการ Digital Wallet](https://cms.dmpcdn.com/contentowner/2020/08/18/15980f10-e133-11ea-8e82-0b494f6be91c_original.jpg)
#ศูนย์วิจัยกรุงศรี #ทันหุ้น - ศูนย์วิจัยกรุงศรี มองความหวังจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ยังเผชิญอุปสรรคและความไม่แน่นอน
ความไม่แน่นอนยังรออยู่แม้แหล่งเงินที่ใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะชัดขึ้น วิจัยกรุงศรีคาดมีผลต่อเศรษฐกิจราว 0.5-1.1% ของ GDP เมื่อวันที่ 10 เมษายน รัฐบาลได้ชี้แจงแหล่งเงินสำหรับใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตวงเงินรวม 5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย (i) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 1.75 แสนล้านบาท (ii) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 1.527 แสนล้านบาท และ (iii) การใช้เงินตามมาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) วงเงิน 1.723 แสนล้านบาท สำหรับเกษตรกร 17 ล้านคน ทั้งนี้ ทางการมีแผนเปิดให้ประชาชนและร้านค้าเริ่มลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในไตรมาส 3 และกำหนดจะให้ใช้จ่ายได้ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้
แม้ว่าจะมีรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับแหล่งที่มาของการระดมทุนสำหรับโครงการนี้ แต่ก็ยังมีอุปสรรคและความไม่แน่นอนรออยู่ข้างหน้า อาทิ กระบวนการระดมทุน เงื่อนไขการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กในระดับอำเภอ และระหว่างร้านค้ากับร้านค้าไม่จำกัดพื้นที่ การขึ้นเงินสดของร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีและต้องใช้จ่ายในรอบที่ 2 ขึ้นไป ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าโครงการนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจรวมแล้วคิดเป็น 0.5-1.1% ของ GDP ซึ่งผลกระทบในแต่ละปีจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับรายละเอียด เงื่อนไข ช่วงเวลา และการเริ่มโครงการ นอกจากนี้ ในส่วนของงบประมาณปี 2567 เป็นเงินที่รวมอยู่ในประมาณการเศรษฐกิจแล้ว ทั้งนี้ โครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตแม้เพิ่มความหวังการใช้จ่ายภาคเอกชนที่จะเติบโตเร่งขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ แต่การบริโภคในระยะนี้อาจถูกปัจจัยกดดันจาก (i) กำลังซื้อที่อ่อนแอลงในไตรมาส 2/2567 หลังจากสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการ Easy E-Receipt ในเดือนกุมภาพันธ์ (ii) แนวโน้มรายได้เกษตรกรที่หดตัวจากการลดลงของผลผลิต และ (iii) ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 91.3% ของ GDP ณ สิ้นไตรมาส 4/2566