รีเซต

รวมแอปฟังเพลงยอดนิยมในไทยพร้อมจุดเด่นและค่าบริการรายเดือน

รวมแอปฟังเพลงยอดนิยมในไทยพร้อมจุดเด่นและค่าบริการรายเดือน
TNN ช่อง16
24 พฤษภาคม 2565 ( 17:30 )
695
รวมแอปฟังเพลงยอดนิยมในไทยพร้อมจุดเด่นและค่าบริการรายเดือน

การฟังเพลงในปัจจุบันนิยมการใช้งานในลักษณะการสมัครสมาชิกรายเดือนเพื่อฟังเพลงแบบ Streaming ซึ่งคล้ายคลึงกันกับการสมัครสมาชิกรายเดือนเพื่อดูคอนเทนต์ความบันเทิงอย่าง Netflix Viu หรือ Disney+ Hotstar มากขึ้น ไม่ต่างจาก Music Streaming ที่แต่ละผู้ให้บริการก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป เราจึงได้รวบรวมข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบจุดเด่นและข้อแตกต่างของผู้ให้บริการแต่ละราย โดยเน้นไปที่คุณภาพเสียง การฟังแบบออฟไลน์ และค่าบริการรายเดือนเริ่มต้น


Spotify และ Apple Music เป็นผู้ให้บริการฟังเพลงที่ยึดครองส่วนแบ่งมากที่สุดในโลกเป็น 31% และ 15% ตามลำดับ สิ่งที่น่าสนใจคือเรื่องของคุณภาพเพลง แม้ว่า Spotify จะมีอัลกอริทึม (Algorithm) ที่เก่งกาจ สามารถดึงเพลงที่ตรงกับรสนิยมการฟังเพลงของแต่ละคนได้ราวกับรู้ใจ แต่ว่าคุณภาพเพลงสูงสุดนั้นอยู่ที่ระดับ Hi-Fi ซึ่งเทียบเท่าการฟังเพลงจากแผ่นซีดีหรือเป็นไฟล์ MP3 เท่านั้น แต่ Apple Music นั้นให้ความละเอียดสูงสุดถึง Lossless แบบ ALAC (Apple Lossless Audio Codec) ที่ไม่ต่างจากเสียงจากห้องอัดเพลง ในราคาที่เท่ากับ Spotify ที่ 129 บาท ต่อเดือน


แต่ถ้าพูดถึงบริการฟังเพลงระดับ Lossless หรือไฟล์เพลงแบบไร้การบีบอัดอันดับ 1 ของโลกต้องนึกถึง Tidal บริการที่เน้นการนำเสนอเพลงคุณภาพสูงซึ่งผู้ที่ชื่นชอบการฟังเพลงด้วยเครื่องเสียงคุณภาพชั้นนำตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักล้านบาทนิยมใช้ ตัวบริการเสนอเพลงระดับมาสเตอร์ที่มีอัตราส่งข้อมูลที่ 9,216 กิโลบิตต่อวินาที (kbps) ที่ความละเอียดข้อมูลแบบ 24 บิต (ฺBit) เสนอค่าบริการรายเดือนเริ่มต้นที่ 129 บาท ต่อเดือน และ 258 บาท ต่อเดือนสำหรับแผนการฟังแบบมาสเตอร์ 


Youtube Music กับ Joox เป็น 2 ผู้ให้บริการที่ไม่ได้ชูจุดเด่นด้านคุณภาพเสียง แต่เลือกนำเสนอด้านความหลากหลายแทน โดยเฉพาะ Youtube Music ที่สามารถเข้าถึงเพลงที่คัฟเวอร์ (Cover) จากต้นฉบับหรือเพลงยุคเก่าที่อัปโหลดบน Youtube เท่านั้น ส่วน Joox ก็มีเพลงไทยหลากหลายรูปแบบ และยังมีโปรเจกต์ร่วมกับศิลปินไทยหลาย ๆ คนในการสร้างเพลงเฉพาะบน Joox ซึ่ง Youtube Music จะให้บริการราคา 129 บาทต่อเดือน และ Joox จะอยู่ที่ 99 บาทต่อเดือน


Deezer ผู้ให้บริการจากฝรั่งเศสมีข้อสังเกตที่ความหลากหลายของเพลงอาจจะไม่มากเท่าผู้ให้บริการรายใหญ่อย่าง Spotify หรือ Apple Music แต่ก็เลือกที่จะนำเสนอความได้เปรียบในแง่ของราคาที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับคุณภาพเสียงเพลงระดับ Lossless ส่งข้อมูลด้วยอัตรา 1,411 กิโลบิตต่อวินาที (kbps) ในราคาเดือนละ 10.99 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 375 บาท


ส่วน Audiomack เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการฟังเพลงแนว Hip Hop Electronic ตลอดจนแนวเร็กเก้และเพลงเต้นที่เป็นเพลงสากลโดยเฉพาะ รวมถึงยังมีเพลงนอกกระแสอีกจำนวนมาก เสนอราคาต่อเดือนเพียง 65 บาทโดยประมาณ


ในไทยก็มีผู้ให้บริการที่น่าสนใจอยู่ถึง 2 รายด้วยกัน ได้แก่ฟังใจ (Fungjai) ที่ชูจุดเด่นฟังเพลงฟรีแบบ 100% และเปิดพื้นที่ให้กับผู้ฟังเพลงนอกกระแส รวมถึงเป็นเวทีลงเพลงสำหรับศิลปินนอกกระแสโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และเพลิน (Plern) น้องใหม่ของวงการสัญชาติไทย ที่นำเสนอบริการที่เข้าถึงง่าย พร้อมกับบริการฟังฟรีที่น่าสนใจ และรายเดือนที่ให้คุณภาพเสียง Lossless อัตราส่งข้อมูล 1,411 กิโลบิตต่อวินาที (kbps) ในราคาเพียง 99 บาท ต่อเดือน


การฟังเพลงผ่านแอป Music Streaming นั้นเป็นช่องทางที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด เพราะการฟังเพลงอย่างถูกลิขสิทธิ์ จะช่วยให้ศิลปินนั้นมีรายได้อย่างต่อเนื่องและเพียงพอ สร้างกำลังใจและแรงผลักดันเพื่อสร้างผลงานใหม่ ๆ ต่อไปในอนาคต



ที่มาข้อมูล PCMag, Audiomack, Fungjai และ Plern

ที่มารูปภาพ Pankaj Patel on Unsplash


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง