รีเซต

แพทย์เผยผู้ป่วยโควิด 90% ไร้อาการ ไม่ต้องใช้ฟาวิพิราเวียร์ หวั่นเชื้อดื้อยา

แพทย์เผยผู้ป่วยโควิด 90% ไร้อาการ ไม่ต้องใช้ฟาวิพิราเวียร์ หวั่นเชื้อดื้อยา
TNN ช่อง16
1 มีนาคม 2565 ( 13:08 )
121
แพทย์เผยผู้ป่วยโควิด 90% ไร้อาการ ไม่ต้องใช้ฟาวิพิราเวียร์ หวั่นเชื้อดื้อยา

วันนี้ (1 มี.ค.65) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานคณะทำงานด้านการรักษาพยาบาลและป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล กรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์กรณีการใช้ยารักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า ผู้ติดโควิด-19 ระลอกโอมิครอน ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) มีประมาณร้อยละ 10

จากแนวทางการรักษาล่าสุดฉบับที่ 20 ที่เพิ่งออกมาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 กำหนดให้ "กลุ่มที่ต้องเข้านอนรักษาใน รพ." คือ 

1.ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง เช่น มีไข้ 38-39 องศาเซลเซียส

2.ผู้ป่วยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

3.ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบเล็กน้อยที่ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน 

ทั้งนี้ ให้แพทย์พิจารณาให้เข้ารับการนอนใน รพ. เพราะเสี่ยงที่โรคจะพัฒนารุนแรงขึ้น

ขณะที่ ผู้ติดเชื้ออีกราวร้อยละ 90 ไม่มีอาการหรืออาการน้อย เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่สามารถดูแลรักษาที่บ้านได้ทั้งผ่านระบบกักตัวที่บ้าน (Home Isolation: HI) และดูแลแบบผู้ป่วยนอก (OPD) แล้วผู้ติดเชื้อจะค่อยๆ หายได้เอง 

โดย "กลุ่มที่ไม่มีอาการ" จะไม่ให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ อาจจะพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจแพทย์ ส่วน "กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง" ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่มีโรคร่วม แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเองว่าจะให้ฟาวิพิราเวียร์หรือไม่

ขณะเดียวกัน จากที่ดำเนินการเรื่องดูแลระบบ HI ในระลอกของโอมิครอน พบว่า โอกาสที่กลุ่มอาการสีเขียวรักษาที่บ้านแล้วอาการจะเปลี่ยนแปลง ไปอยู่ในระดับสีเหลืองหรือสีแดงนั้น มีน้อยมากๆ

"สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ใช่ว่าทุกรายจะต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ หากไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องได้รับยานี้ ส่วนมากอาการจะค่อยๆ หายเอง ไม่ได้แย่ลง เพราะยาทุกตัวสามารถเกิดผลข้างเคียงได้" นพ.ทวี อธิบาย

สำหรับ "ยาฟาวิพิราเวียร์" นั้น อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น มีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ตาเป็นสีฟ้า และไม่แนะนำใช้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะตั้งครรภ์อ่อนๆ

เนื่องจากพบว่า จากการทดลองในสัตว์ทดลองนั้น ยาฟาวิพิราเวียร์ ส่งผลต่อตัวอ่อน อีกทั้ง ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ วันละ 2 ล้านเม็ด เดือนละ 60 ล้านเม็ด นับว่าเป็นการใช้ยาต้านไวรัสในปริมาณที่มาก

จากการใช้ยาต้านไวรัสในปริมาณที่มากนี้ กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกำลังกังวลในประเด็นเรื่องของ "เชื้อดื้อยา" ซึ่งตามทฤษฎีย่อมเกิดขึ้นได้ ถ้าเชื้อสัมผัสกับยาบ่อยๆ ก็จะเกิดการดื้อยาได้ และถ้ามีการดื้อยาเกิดขึ้นจริงๆ ให้กิน ก็เหมือนกับการกินแป้งไม่มีประโยชน์

ดังนั้น แนวทางการรักษาใหม่จึงกำหนดให้ใช้ยาตามอาการและใช้อย่างสมเหตุสมผล หากไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ และขอย้ำว่าการปรับแนวทางการรักษาเป็นไปตามอาการผู้ป่วยและสถานการณ์ ไม่ได้เป็นเพราะประเทศไทยขาดยาฟาวิพิราเวียร์แต่อย่างใด.


ภาพจาก แฟ้มภาพ TNN ONLIN , สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสาธารณสุข



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง