รัสเซียเดินเกมแตกหักกับ NATO ปิดสำนักทูต โต้กรณีขับนักการทูตรัสเซีย
นับตั้งแต่วิกฤตที่รัสเซียผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2014 ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ก็ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และมาถึงจุดที่เรียกว่า "ต่ำที่สุด" ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน ร้าวลึก และยากที่จะหวนคืน (ซึ่งจากเดิมความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตก ก็ไม่ใคร่จะดีนักอยู่แล้วนั้น) เริ่มต้นมาจากเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (6 ตุลาคม) องค์การ NATO ได้ขับนักการทูตของรัสเซีย 8 คน ออกจากสำนักการทูตรัสเซียประจำ NATO โดยกล่าวหานักการทูตรัสเซียทั้ง 8 คนว่า เป็นสายลับ ทำให้จำนวนนักการทูต ที่ประจำอยู่ที่สำนักการทูตรัสเซียในกรุงบรัสเซลส์ สำนักงานใหญ่ของ NATO ลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 10 คนเท่านั้น
และเพื่อตอบโต้เหตุการณ์ขับนักการทูตรัสเซียครั้งนั้นเอง ทำให้เมื่อวานนี้ (19 ตุลาคม) เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เปิดเผยว่า รัสเซียจะปิดสำนักการทูตของรัสเซียประจำองค์การ NATO ที่ตั้งอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยี่ยม และจะถอนใบรับรองสำนักการทูตของนาโต้ ที่ตั้งอยู่ในกรุงมอสโกด้วย โดยจะเริ่มมีผลบังคับในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อตอบโต้ที่นาโต้ขับนักการทูตของรัสเซีย
◾◾◾
🔴 ปูตินต้องการเรียกคะแนนความแข็งแกร่งกลับคืน
นักวิเคราะห์มองว่า การที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เดิมเกมหยุดความสัมพันธ์ทางการทูตกับ NATO เช่นนี้ เป็นก้าวย่างที่สมเหตุสมผล เพราะไม่เพียงแต่เขากลัวที่จะกลายเป็น "คนอ่อนแอ" เท่านั้น แต่ผลจากการลงประชามติเมื่อปี 2020 ที่ย้ำชัดเจนว่า ปูตินจะสามารถอยู่ในทำเนียบเครมลินต่อไปได้จนถึงปี 2036 หรือหมายถึงว่า จะทำให้เขาเป็นประธานาธิบดีได้ตลอดชีวิต
และนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ปูตินก็เริ่มสวมบทบาทใหม่ใน "สงครามเย็น" ครั้งใหม่ต่อชาติตะวันตก ซึ่งมีองค์การ “NATO” เป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สุดของการรวมตัวกันของชาติตะวันตกเพื่อต่อต้านอำนาจของรัสเซีย
หากเขาไม่เดินเกม "ทำลาย" องค์การนี้เสียก่อน ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่า NATO จะปลอดภัยสะหรับระบอบการปกครองที่เขาเพียรสร้างขึ้นในรัสเซีย และอนาคตของตัวเขาเพียงใด
การยุติภารกิจของนาโต้นั้น ทำให้เครมลินมีข้ออ้าง (อย่างเป็นทางการ) ในการที่จะค่อย ๆ ยกระดับความตึงเครียดในประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซีย ซึ่งหลัก ๆ หมายถึงยูเครน, โปแลนด์ และประเทศในแถบบอลติก
สำหรับปูตินแล้ว ความตึงเครียดดังกล่าวถือว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างบมากในการแยกชาติตะวันตก และโน้มน้าวให้เกิดความ "แตกแยกกัน" ในองค์การ NATO ได้ เช่นที่โปแลนด์กำลังมีปัญหากับชาติ EU ล่าสุดเป็นต้น
◾◾◾
🔴 ความตึงเครียดนี้จะไปถึงจุดใด?
ก็อาจมีได้ตั้งแต่กิจกรรมทางการทหาร เช่น การปิดกั้นช่องแคบ Kerch ในทะเลดำ หรืออาจจะปิดท่าเรือยูเครน
ขณะที่แนวรบด้านตะวันตกของ NATO รัสเซียเองก็กำลังสร้าง "วิกฤต" ใหม่ ในทั้งลิธัวเนีย และโปแลนด์ ด้วยความช่วยเหลือจากอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเผด็จการของเบลารุส นับว่าเป็นการทดสอบความมั่นคงทางพรมแดนของ NATO ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
และอย่าลืมว่า รัสเซียยังมี "อาวุธลับ" อีกอย่างหนึ่งที่ใช้สำหรับกดดันชาติตะวันตก อย่าง "ท่อส่งก๊าซ นอร์ด สตรีม 2" ซึ่งหากเกิดความแตกหักกับนาโต้ เครมลินก็จะใช้สิ่งนี้ในการดำเนินการกดดันตะวันตกอย่างแข็งขันมากขึ้นไปอีก
—————
เรื่อง: ภัทร จินตนะกุล
ภาพ: Reuters