"ลูกบ้าน แอชตัน อโศก" ยิ้ม คมนาคมเร่งยุติปมปัญหา ยกความเห็น “กฤษฎีกา” แนบแนวทางแก้ไข

ลูกบ้าน “แอชตัน” สุขุมวิท 21 หรือ แอชตัน อโศก โดย น.ส.น้ำผึ้ง ใจใหญ่ หนึ่งในเจ้าของร่วมห้องชุดฯ เดินทางเข้ายื่นหนังสือทวงถามถึงความคืบหน้าต่อนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบให้กับประชาชน จากกรณีอาคารชุดแอชตันอโศก เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหายังมีความล่าช้า
จากเดิมที่นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ยืนยันว่าจะได้ข้อยุติต่อการแสวงทางออกของปัญหาทางเข้า-ออกแอชตัน อโศก ตั้งแต่ปี 2567 ส่งผลทำให้ขณะนี้เจ้าของห้องชุดที่โอนกรรมสิทธิ์ไปแล้วจำนวน 668 ห้องชุด เกิดปัญหาเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งการซื้อขายเพื่อเปลี่ยนมือ และการรีไฟแนนซ์จากสถาบันการเงิน เรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าที่พึงได้ เนื่องจากมีอัตราความเสี่ยง
พร้อมกันนี้ น.ส.น้ำผึ้ง ใจใหญ่ หนึ่งในเจ้าของร่วมห้องชุดฯ ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจากคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้เร่งรัดทำหนังสือขอหารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ต่อแนวทางการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าแอชตันฯ ต่อไป
ด้านนายสรพงศ์ ยืนยันว่า ทางกระทรวงคมนาคมไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งการตั้งคณะทำงานฯ และประสานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะทราบดีว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อลูกบ้านโดยตรง แต่เนื่องจากขณะนี้ยังมีข้อกฎหมายที่เห็นต่างกัน ซึ่งกระทรวงอยู่ระหว่างการระดมความเห็นพิจารณาข้อกฎหมาย และประชุมนักวิชาการทั้งหมด ให้เกิดความถูกต้องขอกฎหมายและกฎระเบียบ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาต่อไป
ล่าสุด กทม. ได้ยื่นหนังสือขอหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบขอหารือ พร้อมแนวทางออกมาแล้วเช่นกัน ซึ่งถือว่าได้มีแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ รฟม. อาจพิจารณาขอความเห็นเรื่องเดียวกันนี้ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาในนาม รฟม. เองโดยตรงอีกครั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบอร์ด รฟม. แต่มั่นใจว่าปัญหาในเรื่องนี้น่าจะได้ข้อยุติเร็วๆ นี้
“สิ่งที่กระทรวงคมนาคมคำนึง คือ ความสะดวก ความปลอดภัยของลูกบ้าน และประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง ซึ่งต้องพิจารณาว่าจะทำยังไงให้การบริหารจัดการครัวเรือนทั้ง 668 ครัวเรือน สามารถที่จะดำรงอยู่ได้ โดยมีสวัสดิภาพเรื่องของทางเข้า-ออกอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมเชื่อมั่นในเรื่องของการลงทุนและความสำคัญของลูกบ้าน ยังเปิดโอกาสให้โครงการและลูกบ้านได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องทางเข้า-ออกอยู่ ตามมาตรา 40-41 และเมื่ออ่านคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดแล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องโชคดีของลูกบ้านที่ไม่เพิกถอนโฉนด พรบ.ควบคุมอาคาร เปิดช่องให้แก้ไขให้ถูกต้องได้” นายสรพงศ์ กล่าว
รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวด้วยว่า ในช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมมีแนวทางส่งไปให้ รฟม.ไม่น้อยกว่า 7-8 เดือนแล้ว ทางบอร์ด รฟม. ก็ได้รับแนวทางของกระทรวงไปแล้ว เพียงแต่ว่าแนวทางดำเนินงานต่างๆ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในเชิงของกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการขับเคลื่อนกันต่อไป ส่วนไทม์ไลน์เกี่ยวกับข้อยุติเรื่องนี้นั้น นายสรพงศ์ กล่าวสั้นๆ ว่า "เรื่องนี้งวดขึ้นมาทุกทีแล้ว สิ่งที่ต้องขอให้ลูกบ้านแอชตัน อโศก ดำเนินการก็คือ การยื่นหนังสือขอใช้ที่ดินของ รฟม. ฉบับใหม่ และไปตรวจสอบในเรื่องของการยื่นให้ถูกต้องตามระเบียบ รฟม. และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หลังจากครั้งที่แล้วทราบว่า ลูกบ้านได้มีการขออนุญาตใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออกโครงการแอชตัน อโศก แต่ยื่นอุทธรณ์ไม่ถูกข้อบังคับเล็กน้อย ครั้งนี้จึงอยากให้ทางลูกบ้านประสาน รฟม. ดูว่ากลไกการขอยื่นอุทธรณ์รอบใหม่จะต้องทำอย่างไร เพื่อให้เกิดความชัดเจนและถูกต้องต่อไป"
สำหรับสาระสำคัญในคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ส่งให้ กทม.นั้น คือ
1.เรื่องการเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้าง กทม.จะต้องออกใบใหม่หรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า เมื่อศาลมีคำสั่งเพิกถอนถือว่าคำสั่งออกใบอนุญาตเดิมสิ้นสุดลง ทำให้การโครงการแอชตันฯ ก่อสร้างโดยไม่มีใบอนุญาต กทม.มีหน้าที่ทำให้ชอบด้วยกฎหมาย ให้สามารถยื่นคำขอใหม่อีกครั้งได้ ไม่ต้องรื้อหรือทุบ
2.การใช้อำนาจในการออกคำสั่ง ตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปี 2522 ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน ผู้ดําเนินการ ระงับการกระทําดังกล่าว หรือห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆของอาคารแล้วแต่ละกรณี เห็นว่า กทม.ไม่จำเป็นต้องออกคำสั่งทำพร้อมกันในคราวเดียวกัน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจตามความเหมาะสม และการออกคำสั่งเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องกับเจ้าอาคาร ได้แก่ เจ้าของห้องในอาคารชุดทุกห้อง และนิติบุคคลอาคารชุดเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขอาคาร