รีเซต

รัสเซียขอเจรจาสหรัฐฯ-NATO ก่อนความตึงเครียด บานปลายเป็นสงคราม

รัสเซียขอเจรจาสหรัฐฯ-NATO ก่อนความตึงเครียด บานปลายเป็นสงคราม
TNN ช่อง16
15 ธันวาคม 2564 ( 14:47 )
281
รัสเซียขอเจรจาสหรัฐฯ-NATO ก่อนความตึงเครียด บานปลายเป็นสงคราม

ปธน.ปูติน ได้ต่อสายตรงเจรจากับประธานาธิบดีซอลี นีนิสโต แห่งฟินแลนด์ และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส โดยปูตินได้ขอให้มีการเจรจาร่วมกับ NATO และสหรัฐฯ โดยเร็วที่สุด


"ประธานาธิบดีรัสเซียย้ำถึงความสำคัญอย่างมากของการเจรจาร่วมนานาประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันทางกฎหมายในการป้องกันการขยายอิทธิพลของ NATO ไปยังพื้นที่แถบตะวันออกที่ติดกับรัสเซีย พร้อมกับการระดมอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังยูเครน ซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซียอย่างมาก" ทำเนียบเครมลิน กล่าวในแถลงการณ์


ก่อนหน้านี้ ปูตินก็ย้ำถึงแถลงการณ์คล้ายคลึงกันระหว่างการเจรจาร่วมกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษด้วย


---มอสโกรู้สึกอย่างไร หากยูเครนได้เป็นสมาชิก NATO?---


เป็นที่ชัดเจนมาโดยตลอดว่า รัสเซียต่อต้านการเข้าเป็นสมาชิก NATO ของยูเครน โดยย้ำว่า การที่ยูเครนแสดงเจตจำนงค์ดังกล่าวเป็นการก้าวข้ามเส้นสีแดง


รัสเซียระบุว่า มีความกังวลอย่างมากที่ชาติสมาชิก NATO ได้ปฏิบัติการซ้อมทางการทหารมากขึ้นใยยูเครน


ที่ผ่านมา มีรายงานว่ารัสเซียได้ระดมกำลังทหารราว 75,000-100,000 นาย ตลอดพรมแดนยูเครน และกลายเป็นชนวนเหตุของความตึงเครียดรคะหว่างมอสโกและชาติตะวันตกอย่างมากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งผู้สังเกตการณ์จำนวนมากกังวลว่ารัสเซียอาจกำลังวางแผนที่จะบุกยูเครน


แต่มอสโกปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้น อ้างว่าเป็นการระดมกำลังตามปกติในบริเวณพรมแดนของตน และในขณะเดียวกัน ได้กล่าวหายูเครน, NATO และชาติมหาอำนาจตะวันตก ที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง


ขณะที่หน่วยข่าวกรองตะวันตก ระบุว่า การสั่งสมกองกำลังของรัสเซีย อาจเป็นการสร้างสถานการณ์ภัยคุกคามเพื่อเป็นการสร้างอำนาจต่อรองก็เป็นได้


ทั้งนี้ ในการเจรจาผ่านทางวิดีโอคอล เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระหว่าง 2 ผู้นำโลก ไบเดนได้กล่าวเตือนปูตินว่า "จะต้องเผชิญการคว่ำบาตรอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน" หากรัสเซียรุกรานเพื่อนบ้าน


---แล้วรัสเซียจะโจมตียูเครนไหม?---


เมื่อวันจันทร์ (13 ธันวาคม) รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เกย์ รย๊าบคอฟ เปิดเผยกับสำนักข่าว RIA Novosti ว่า "หากขาดความคืบหน้าในการแก้ปัญหาทางการเมือง-การทูต ก็อาจนำมาสู่การตอบโต้ทางการทหารได้จริง"


ที่ผ่านมา ชาติตะวันตกมีปฏิบัติการทางการทหารในภูมิภาคนี้มาโดยตลอด เช่น การที่ฝรั่งเศสส่งเรือรบไปยังทะเลดำ, กองทัพยูเครนระดมกำลังบริเวณพรมแดนเผชิญหน้ากับรัสเซีย ที่กลายเป็นการทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น ซึ่งรัสเซียอ้างว่า สิ่งเหล่านี้ เป็นการบังคับให้ต้องนำเครื่องบินขับไล่ขึ้นบินเพื่อสกัดเครื่องบินทหารของฝรั่งเศสและสหรัฐฯเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว


ไม่เพียงเท่านี้ ปูตินยังกล่าวหาว่ายูเครนได้ระดม "อาวุธหนักและโดรนโจมตี" ใส่กลุ่มกบฎแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ตะวันออกของยูเครนอีกด้วย


ทั้งนี้ การผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเมื่อปี 2014 เป็นการจุดประกายให้กลุ่มกบฎที่ฝักใฝ่รัสเซียลุกฮือต่อต้านยูเครนมาโดยตลอด .. และนำมาสู่การสูญเสียชีวิตมากกว่า 13,000 คน ในระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา

—————

แปล-เรียบเรียง: ภัทร จินตนะกุล

ภาพ: Alexey NIKOLSKY / Sputnik / AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง