รีเซต

ศูนย์จีโนมฯ ชี้ "วัคซีน" ยังจำเป็น แม้โอมิครอนมีแนวโน้มเป็นโรคประจำถิ่น

ศูนย์จีโนมฯ ชี้ "วัคซีน" ยังจำเป็น แม้โอมิครอนมีแนวโน้มเป็นโรคประจำถิ่น
TNN ช่อง16
18 มกราคม 2565 ( 14:50 )
83
ศูนย์จีโนมฯ ชี้ "วัคซีน" ยังจำเป็น แม้โอมิครอนมีแนวโน้มเป็นโรคประจำถิ่น

วันนี้ (18 ม.ค.65) ผลวิจัยจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ CDC ที่เปรียบเทียบความรุนแรงในการเกิดโรคระหว่าง "เดลต้า" และ "โอมิครอน" จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 70,000 คน ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ถึง 1 มกราคม 2565

พบว่าโอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าเดลต้าอย่างชัดเจน ไม่ว่าผู้ติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ จากสายพันธุ์ก่อนหน้า หรือ ได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิ เป็นหนึ่งในชุดข้อมูลที่ทำให้ ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล วิเคราะห์ว่าไวรัสโคโรนา 2019 จะถึงจุดสิ้นสุด และกลายเป็นโรคประจำถิ่น เหมือนไข้หวัดใหญ่ซึ่งมาตามฤดูกาล โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณร้อยละ 0.1   

แม้ความรุนแรงของโรคจะลดลง และ อัตรการเสียชีวิตต่ำ แต่ ศ.เกียรติคุณ วสันต์ ยังเตือนว่าการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันยังเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการแพร่กระจายเชื้อโอมิครอนยังทำได้รวดเร็ว และจะส่งผลให้มีผู้มีอาการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตมากกว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่เป็นโรคประจำถิ่น 

โดยขณะนี้ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อยู่ระหว่างการวิจัยเพื่อที่จะสามารถระบุถึงความเสี่ยงของผู้ป่วยที่อาจจะมีอาการรุนแรงของโรค หรือ เสียชีวิตที่อัตรา 1 ใน 1,000 เพื่อทำการเตือน หรือ หาทางป้องกันกลุ่มเสี่ยง 

ขณะที่ ผลการตรวจสอบสายพันธุ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ตั้งแต่วันที่ 3-16 มกราคม 2565 โดยศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่ ร้อยละ  97.1 เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ขณะที่ สายพันธุ์เดลต้าพบการติดเชื้อร้อยละ 2.8 เท่านั้น 

หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คาดการณ์ว่า การติดเชื้อสองสายพันธุ์ระหว่างโอมิครอนและเดลตาไปพร้อมกันในระยะเวลาสั้นๆ หรือ Twindemic ได้จบลงแล้ว และเชื่อว่าโอมิครอนจะกระจายไปทั่วประเทศในระยะเวลา 2-3 เดือนต่อจากนี้.


ภาพจาก TNN ONLINE


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง