รีเซต

เพชรบูรณ์พบซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ อายุ 240 ปียุคเพอร์เมียนต่อเนื่อง

เพชรบูรณ์พบซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ อายุ 240 ปียุคเพอร์เมียนต่อเนื่อง
77ข่าวเด็ด
19 กรกฎาคม 2563 ( 08:43 )
500
1
เพชรบูรณ์พบซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ อายุ 240 ปียุคเพอร์เมียนต่อเนื่อง

เพชรบูรณ์พบซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ อายุ 240 ปียุคเพอร์เมียนต่อเนื่อง ท้องถิ่นเปิดให้เที่ยวแล้ว “วิศัลย์”ฝากช่วยกันดูแลไม่หยิบฉวยกลับไป

วันที่ 19 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการค้นพบแหล่งฟอสซิลท้องทะเลดึกดำบรรพ์ 2 แหล่งของจ.เพชรบูรณ์ได้แก่ แหล่งบ้านโภชน์ อ.หนองไผ่ และแหล่งภูน้ำหยด อ.วิเชียรบุรี ล่าสุดนายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ผู้อำนวยการอุทยานธรณีเพชรบูรณ์(เพชรบูรณ์จีโอปาร์ค) กล่าวถึงความคืบหน้าว่า ปัจจุบันก็ยังมีการค้นพบแหล่งซากฟอสซิลเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อราวกลางเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา มีการพบแหล่งฟอสซิลดึกดำบรรพ์เพิ่มเติมอีกแห่งที่บ้านซับเดื่อ ตำบลบ้านโภชน์ อ.หนองไผ่ เนื่องจากฝนตกทำให้มีน้ำไหลชะล้างหน้าดินที่อยู่บนชั้นหินออกไป จนทำให้พบซากสัตว์และปะการังดึกดำบรรพ์หลากหลายชนิด อาทิ หอยตะเกียง ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกหรือกำหนดอายุสมัยของซากสัตว์ดึกดำบรรพ์เหล่านี้อยู่ในราวยุคเพอร์เมียนอายุราว 240 ล้านปี

นายวิศัลย์กล่าวว่า แต่ปัญหาซึ่งหลังซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์เหล่านี้ลอยโผล่ขึ้นมาบนผิวดิน บางส่วนเกิดการแตกหักหลุดออกมาจากก้อนใหญ่ จึงได้ให้คำแนะนำให้ทางท้องถิ่นจัดเก็บขึ้นมาแสดงไว้ที่ศูนย์เรียนรู้ เพราะเกรงจะเกิดการสูญหายหรือตกเป็นเป้าของกลุ่มนักค้าซากสัตว์โบราณหรือซากดึกดำบรรพ์เหล่านี้ไป นอกจากนี้ล่าสุดยังมีทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมู เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าต่อไป ส่วนเรื่องการส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้และการจัดเป็นหลักสูตรท้องถิ่นนั้น ปัจจุบันข้อมูลมีครบถ้วนเพียงพออยู่แล้ว เพราะทางกรมทรัพยากรฯและนักวิชาการได้เข้ามาช่วยจัดทำข้อมูลพร้อมทั้งยังมีงานวิจัยต่างๆ

ผอ.อุทยานเพชรบูรณ์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันแหล่งฟอสซิลมหัศจรรย์ทางธรณีวิทยาเหล่านี้ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมได้แล้ว โดยทางท้องถิ่นมีการจัดทำป้ายบอกเส้นทางและบอกข้อมูลแหล่งธรณีวิทยาเหล่านี้ไว้ค่อนข้างละเอียด เพียงแต่ว่าช่วงนี้อาจอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และเนื่องจากแหล่งฟอสซิลแห่งนี้ยังอยู่ในสภาพการพัฒนาระยะต้น จึงค่อนข้างเปราะบางกระจายเต็มพื้นที่ ที่สำคัญเข้าถึงแหล่งได้ง่ายจึงค่อนข้างน่าเป็นห่วง จึงฝากนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่จะเข้าไปชมให้ช่วยกันตระหนัก อย่าหยิบฉวยซากฟอสซิลเหล่านี้ติดมือกลับไป หรือช่วยกันดูแลอย่าให้สมบัติชาติเหล่านี้เกิดการสูญหายหรือต้องถูกทำลายไป

นายวิศัลย์กล่าวอีกว่า สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้เพชรบูรณ์ปรากฏร่องรอยซากฟอสซิลและท้องทะเลดึกดำบรรพ์ เพราะเพชรบูรณ์มีแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่นเคลื่อนตัวเข้าหากัน จนทำให้แผ่นดินเดิมซึ่งเป็นท้องทะเลเกิดการยกตัวขึ้นเมื่อราว 280 ล้านปีที่ผ่านมาหรือในราวยุคเพอร์เมียนจนทำให้กลายเป็นผืนดินและภูเขา รวมทั้งเทือกเขาภูเขาเป็นแนวยาวตลอดในทิศตะวันตก ทำให้มีการค้นพบซากของสัตว์ทะเลโบราณยุคเพอร์เมียนตกตะกอนกลายเป็นฟอสซิลในชั้นหินต่างๆอย่างต่อเนื่องและยังมีจำนวนมากอีกด้วย

ขอบคุณ : เฟสบุ๊ก Ben Tanadorn Buddhawonde เอื้อเฟื้อคลิป-ภาพ / อุทยานธรณีเพชรบูรณ์  เอื้อเฟื้อภาพ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง