รีเซต

‘บีซีพีจี’ ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งแรกในไทย กู้เงิน ‘เอดีบี’ - ‘กสิกรไทย’ ลงทุนกว่า 616 ล้านบาท

‘บีซีพีจี’ ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งแรกในไทย กู้เงิน ‘เอดีบี’ - ‘กสิกรไทย’ ลงทุนกว่า 616 ล้านบาท
มติชน
18 พฤษภาคม 2563 ( 09:44 )
150

 

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)  ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามสัญญาเงินกู้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมลมลิกอร์บริษัทในเครือ ของบีซีพีจี ขนาดกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ อำเภอปากพนังจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโครงการนำร่องภาคเอกชนรายแรกในประเทศไทยที่นำระบบกักเก็บพลังงาน ขนาด1.88 เมกะวัตต์ชั่วโมงมาใช้ เพื่อทำให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีเสถียรภาพมากขึ้น 

 

ระบบนี้จะทำหน้าที่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เกินความต้องการ และนำมาใช้เมื่อมีความจำเป็นในเวลาที่เหมาะสม ส่งผลให้ชุมชนมีไฟฟ้าที่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งโครงการนี้เป็น 1 ใน 4 โครงการของบีซีพีจี ที่ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานกำกับดูแลกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้เข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีสนับสนุนให้บริการด้านพลังงาน เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับการนำระบบบริหารจัดการพลังงาน มาใช้กับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมต่อไป

 

โดยวงเงินกู้ดังกล่าว รวมทั้งสิ้นประมาณ 616.1 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนร่วมกันระหว่าง ธนาคารพัฒนาเอเชีย ในวงเงินประมาณ 235.6 ล้านบาท กองทุนเพื่อเทคโนโลยีสะอาด ซึ่งอยู่ภายใต้กองทุนเพื่อการลงทุนด้านภูมิอากาศ ในวงเงินประมาณ 144.9 ล้านบาท และธนาคารกสิกรไทย ในวงเงินประมาณ  235.6 ล้านบาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนโครงการที่ช่วยลดมลภาวะทางอากาศ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  และประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

 

นายบัณฑิตกล่าวว่า การที่โครงการพลังงานลมลมลิกอร์บริษัทในเครือของบีซีพีจี ได้ลงนามสัญญาอนุมัติเงินกู้กับธนาคารพัฒนาเอเชีย และธนาคารกสิกรไทย ในครั้งนี้ ทำให้บริษัทฯสามารถบริหารเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ มีเม็ดเงินเพื่อไปลงทุน และสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยโครงการลมลิกอร์จะมีส่วนช่วยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนให้แก่ระบบไฟฟ้าภายในประเทศอย่างน้อย14,870 เมกะวัตต์ ต่อปี เทียบเท่ากับการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ 6,263 ตัน ตลอดทั้งปี 2563

 

ในฐานะบริษัทฯผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย มีนโยบายในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการการใช้พลังงานของผู้บริโภคและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกภาคส่วน เอี้อประโยชน์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของพลังงานมากขึ้น ภายใต้แนวคิด Democratization of Energy

 

นวัตกรรมระบบบริหารจัดการพลังงาน นอกจากจะช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ยังสามารถใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ของการบริหารจัดการระบบการสำรองไฟฟ้าของประเทศไทยได้อีกด้วยนายบัณฑิตกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง