ชาติไหนล้ำสุด ! กำลังการผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ในอาเซียน
ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังผลักดันพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เป็นการลดการใช้พลังงานฟอสซิล เพื่อโลกที่ยั่งยืนมากขึ้น แน่นอนว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน รวมไปถึงประเทศไทยของเราได้เข้าไปอยู่ในกระแสนี้ของโลกเช่นกัน โดยได้พัฒนาพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าในปี 2023 ประเทศในอาเซียนได้พัฒนากำลังการผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปี 2022 คือเพิ่มจาก 23 เมกะวัตต์ (MW) เป็น 28 MW
โดยในบรรดาภูมิภาคอาเซียน ผู้ที่เป็นผู้นำด้านการผลิตพลังงานหมุนเวียนได้แก่ ประเทศเวียดนาม โดยมีกำลังการผลิตจากทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์รวม 19.5 MW รองลงมาคือไทย และฟิลิปปินส์ ใกล้เคียงกันที่ 3.1 MW และ 3.0 MW ตามลำดับ
ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ว่าฟิลิปปินส์และเวียดนาม มีศักยภาพในการขยายกำลังการผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่ 99 กิกะวัตต์ (GW) และ 86 GW ตามลำดับ และนั่นถือเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของการผลิตพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคอาเซียน ส่วนศักยภาพในการผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่ง มีการวิเคราะห์ว่าในภูมิภาคอาเซียนสามารถผลิตได้มากถึง 124 กิกะวัตต์ (GW)
ทั้งนี้ปัจจุบันมีโครงการพลังงานหมุนเวียนในอาเซียนที่อยู่ระหว่างการวางแผนอยู่อีกมาก แต่มีโปรเจกต์ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างน้อยมาก คือประมาณ 6 GW หรือก็คือประมาณร้อยละ 3 ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับโปรเจกต์ทั่วโลก
ปัญหาคือโปรเจกต์ในอาเซียนขาดความคืบหน้าในการเริ่มสร้างโปรเจกต์ใหม่ รวมถึงมีกฎระเบียบเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนที่เข้มงวด รวมถึงประชาชนยังคงพึ่งพาพลังงานฟอสซิลอย่างมาก จึงทำให้การเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาดยังถือว่ายากอยู่
ทั้งนี้ประเทศในอาเซียนได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะต้องมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 35 ของพลังงานทั้งหมดภายในปี 2025 ซึ่งตอนนี้ ขาดอยู่ 10.7 GW (ไม่นับรวมที่กำลังก่อสร้างอยู่)
ข้อมูลนี้รายงานโดย Global Energy Monitor ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและทรัพยากรของโลก
ที่มาข้อมูล Globalenergymonitor, Globalenergymonitor2