รีเซต

เจาะปมร้อน “ฉีดวัคซีนจีนกลับมาติดโควิด-19 จริงหรือไม่”

เจาะปมร้อน “ฉีดวัคซีนจีนกลับมาติดโควิด-19 จริงหรือไม่”
TNN World
7 กรกฎาคม 2564 ( 09:11 )
137

Editor’s Pick: เจาะปมร้อน “ฉีดวัคซีนจีนกลับมาติดโควิด-19 จริงหรือไม่”

 

 


จากกรณี ‘เอกสาร (ทางการ) หลุด’ ของที่ประชุมเกี่ยวกับวัคซีน Pfizer 1.5 ล้านโดสที่สหรัฐฯ บริจาคให้ไทย และจะมาถึงในเดือนนี้ ว่า ถ้านำมาฉีดให้กลุ่ม 3 คือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้า เป็นเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ก็จะ “แสดงว่าเรายอมรับว่า Sinovac ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น”

 


ประเด็นดราม่าทางการเมือง-สาธารณสุขไทย ที่แม้แต่สำนักข่าวระดับโลกยังให้ความสนใจ ทำให้ปมวัคซีน Sinovac ได้ผลจริงหรือไม่ กลายเป็นหัวข้อถกเถียงอีกครั้ง โดยเฉพาะในเมื่อ Sinovac เป็นหนึ่งในวัคซีนหลักของไทย และฉีดไปให้คนจำนวนมากแล้ว
เรามาไล่เรียงในแต่ละคำถาม กับสถานการณ์ในประเทศอื่นที่ฉีดวัคซีนจีนเป็นหลักเช่นกัน แบบเจาะลึก (และค่อนข้างยาวมาก) ในบทความนี้

 

 

 


ทำไมคนที่ฉีดวัคซีนยังป่วยอยู่?


บรรดาผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า วัคซีนจีนเหล่านี้ อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพเหมือนวัคซีนบางชนิด แต่ก็ใช่ว่าวัคซีนจีนล้มเหลว เพราะจนถึงขณะนี้ ไม่มีวัคซีนชนิดใดให้ผลปกป้องจากวัคซีนโควิด-19 ได้อย่าง 100% เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องสงสัยว่า จะยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างที่เห็น

 


CNN รายงานว่า ตัวชี้วัดที่สำคัญในการวัดความสำเร็จ คือการป้องกันการเสียชีวิตและการเข้าโรงพยาบาล ไม่ใช่เป้าหมายว่าจะต้องทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นศูนย์

 


จีนมีวัคซีน 2 ตัวที่ผ่านการอนุมัติใช้ฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO คือ Sinopharm และ Sinovac ซึ่งทั้ง 2 ชนิด เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine) เพื่อกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในผู้ป่วย ซึ่งผ่านการทดลองและทดสอบมาแล้ว
ตรงกันข้าม วัคซีนของ Pfizer และ Moderna ใช้เทคโนโลยีใหม่ ที่เรียกว่า mRNA ซึ่งสอนให้เซลส์ในร่างกายได้เรียนรู้วิธีสร้างชิ้นส่วนโปรตีนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันของไวรัส โดยเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย ร่างกายก็จะสร้างชิ้นส่วนโปรตีนของเชื้อไวรัสในร่างกายและปล่อยออกสู่กระแสเลือด ไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันเหมือนกับว่ามีเชื้ออยู่จริง

 

 


Sinopharm และ Sinovac ลดป่วยรุนแรงและจำนวนผู้เสียชีวิตได้


จนถึงขณะนี้ ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า Sinopharm และ Sinovac มีประสิทธิภาพต่อต้านไวรัสโควิด-19 ต่ำกว่าวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ซึ่งในการทดลองในบราซิล  Sinovac มีประสิทธิภาพต่อต้านโควิด-19 ที่แสดงอาการ ประมาณ 50% และมีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันการป่วยรุนแรง ตามข้อมูลการทดลองที่เสนอต่อ WHO 

 


ส่วนประสิทธิภาพของ Sinopharm อยู่ที่ประมาณ 79% ทั้งป้องกันผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการและผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล 
ขณะที่วัคซีนของทั้ง Pfizer และ Moderna มีประสิทธิภาพในการป้องกันผู้ติดเชื้อแสดงอาการได้มากกว่า 90% 

 


ผลการศึกษาประสิทธิภาพทั่วโลกของวัคซีน Johnson & Johnson พบว่า มีประสิทธิภาพ 66% ในการป้องกันผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงถึงอาการรุนแรง, 85% ป้องกันอาการป่วยรุนแรง และป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% โดยผลการทดลองเกิดขึ้นในช่วงเวลาแตกต่างกัน และในหลายพื้นที่ที่กำลังมีเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ต่าง ๆ ระบาดอยู่

 


บรรดาผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า การระบาดในสถานที่ต่าง ๆ ที่ใช้วัคซีนจีน มันก็สอดคล้องกับสิ่งที่เราคาดหวังอย่างกว้างขวางกันอยู่แล้วเมื่อดูจากอัตราประสิทธิภาพของวัคซีนเหล่านี้ 

 


“หากเราต้องการลดจำนวนผู้ติดเชื้อล้มป่วยรุนแรงและลดจำนวนผู้เสียชีวิตลง วัคซีน Sinopharm และ Sinovac สามารถช่วยได้” จิน ตง-หยาน ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยาระดับโมเลกุล มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าว

 


เบน คาวลิง ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาโรคติดต่อมหาวิทยาลัยเดียวกัน กล่าวว่า วัคซีนจีนดูเหมือนว่ากำลังควบคุมจำนวนผู้ป่วยหนักและการเสียชีวิต 

 


“ผมคิดว่า วัคซีนทำงานได้ผลอย่างแน่นอน และมันก็ช่วยรักษาชีวิตของผู้คนจำนวนมาก” 

 

 

 


วัคซีนจีน เดิมพันด้านภาพลักษณ์ใหญ่ของรัฐบาลจีน


หากวัคซีนจีนใช้ไม่ได้ผลจริง นั่นคือปัญหาใหญ่ และไม่ใช่ในมุมมองด้านสุขภาพเท่านั้น เพราะจีนเดิมพันชื่อเสียงในการจัดหาวัคซีนของตนให้กับประเทศเหล่านี้ และประชาชนจีนก็ใช้วัคซีนที่ผลิตในประเทศมาตั้งแต่ต้น ซึ่งหากไม่ได้ผลอะไรความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ผลิต ไปจนถึงภาพลักษณ์ของจีนจะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย

 


บรรดาชาติยักษ์ใหญ่ในตะวันตก แห่กักตุนวัคซีนมีเท่าไหร่กวาดต้อนมาเก็บไว้เพื่อฉีดให้ประชาชนของตนก่อน แต่จีนส่งวัคซีนไปช่วยเหลือต่างประเทศ โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศของจีนประกาศว่า จีนได้ส่งวัคซีนต้านโควิด-19 มากกว่า 350 ล้านโดสให้ประเทศต่าง ๆ มากกว่า 80 ประเทศ 

 


คำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน Sinopharm และ Sinovac ของจีน ถือเป็นอันตรายต่อชัยชนะแบบ ‘อำนาจอ่อน’ หรือ ‘อำนาจละมุน’ (soft-power) สำหรับรัฐบาลจีน แม้ว่าหวัง เหวินปิน โฆษกระทรวงต่างประเทศของจีน ปฏิเสธว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว “เป็นการใส่ร้ายป้ายสี โดยมีอคติเป็นแรงกระตุ้น”

 


สำหรับซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) คือ การขยายอิทธิพล การเปลี่ยนแปลงความคิด การทำให้ผู้คนมีส่วนร่วม หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อื่น โดยไม่ได้ใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ (Hard Power) อย่างอำนาจเศรษฐกิจ อำนาจทางการทหาร เพื่อบีบบังคับให้ประเทศต่าง ๆ ต้องยอมปฏิบัติตามสิ่งที่เราต้องการ

 

 

 


วัคซีนการเมือง?


ขณะที่จีนส่งออกวัคซีนไปทั่วโลก รัฐบาลปักกิ่งก็ยังโปรโมท Sinopharm และ Sinovac เป็น “วัคซีนจีน” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทางบริษัทร่วมมือกับรัฐบาลจีน ในแบบที่ไม่เคยเห็นในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร 

 


ตัวอย่างเช่น หลังจาก WHO รับรอง Sinovac และเผยแพร่ข้อมูลด้านประสิทธิภาพเพิ่มเติมของ Sinopharm ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำนักข่าว Xinhua ของทางการจีน รายงานในบทบรรณิการภายใต้หัวข้อว่า “หลักฐานล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่า วัคซีนจีนมีประโยชน์ต่อโลก”    

 


เมื่อวัคซีนประสบความสำเร็จ มันก็สะท้อนถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ดี แม้ว่า Sinovac เป็นบริษัทของเอกชน (Sinopharm เป็นของบริษัทในการควบคุมของรัฐบาล) แต่เพราะวัคซีนของจีนมักถูกโจมตีว่า “เป็นวัคซีนของชาวจีน” เมื่อมีคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพ จึงส่งผลกระทบต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย

 


ทั้ง 2 บริษัทวัคซีนของจีน ต่างไม่ได้เปิดเผยข้อมูลการทดลองอย่างกว้างขวางต่อสาธารณะ ซึ่งแน่นอนว่า อาจเป็นการเปิดช่องให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพต่อไปได้อีก

 

 

 

“ไม่เอาอีกแล้ววัคซีนจีน”


การไม่เผยแพร่ข้อมูลมากพอ ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน ขณะนี้ รายงานการติดเชื้อในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว กำลังกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยารุนแรง โดยในมองโกเลีย 

 


คานธี บอลด์บาตรอาร์ นักศึกษามองโกเลีย วัย 22 ปี กล่าวว่า เธอฉีดวัคซีน Sinopharm ครบแล้วเมื่อหนึ่งเดือนก่อน แต่ก็ยังติดไวรัสโควิด-19 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และขณะนี้ เธอรักษาตัวอยู่ในแผนกผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง, เธอกล่าวว่า เธอไม่คิดว่า การรณรงค์ฉีดวัคซีนของมองโกเลีย จะได้ผลมากนัก

 


“ฉันยังคงป่วยหนัก” เธอกล่าว “หากมีโอกาสได้ฉีดวัคซีน Sinopharm หรือวัคซีนอื่น ๆ อีก เธอจะปฏิเสธ”   

 


โรเซนสไตน์ กล่าวว่า มุมมองที่สะท้อนกลับรุนแรงบางอย่าง ถูกห่อหุ้มด้วย “ผลประโยชน์ทางการเมือง” กรณีวัคซีนดังกล่าว เมื่อความพยายามของจีนในการแจกจ่ายวัคซีนไปต่างประเทศเริ่มต้นขึ้น บรรดาประเทศตะวันตกก็ถูกกล่าวหาว่า กักตุนวัคซีน ไม่ยอมแบ่งปันให้ประเทศยากจน จากนั้นคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนจีนก็ตามมา พร้อม ๆ กับที่สหรัฐฯ ประกาศแผนการของตัวเองในการบริจาควัคซีนหลายล้านโดสให้ต่างประเทศ

 

 

 

ตัวอย่างจากสถานการณ์วัคซีนจีนในต่างประเทศ


กรุงอูลานบาตอร์ของมองโกเลีย โรงพยาบาลหลายแห่งผู้ป่วยล้นทะลัก เช่นเดียวกับประเทศหมู่เกาะเซเชลส์ (Seychelles) มีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่กว่า 100 คนในแต่ละวัน และในชิลี มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ประเทศนี้ยังคงมีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสมรณะรายใหม่หลายพันคนในแต่ละวัน

 


สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับประเทศเหล่านี้อย่างหนึ่งคือ พวกเขาแต่ละประเทศฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบโดสแล้วมากกว่า 50% ของประชากรทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ที่ผลิตโดยบริษัทจีน แน่นอนว่าขณะนี้มีคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนให้ผู้คนได้สงสัย

 


ชิลีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่หลายพันคนในแต่ละวัน โดย 55% ของประชากรชิลี ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และในกลุ่มนี้ เกือบ 80% รับวัคซีน Sinovac 

 


แต่จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขชิลี พบว่า 73% ของผู้ติดเชื้อที่ถูกส่งตัวรักษาในห้องไอซียูระหว่างวันที่ 17-23 มิถุนายน ยังฉีดวัคซีนไม่ครบ 

 


สถานการณ์เดียวกันนี้ เกิดขึ้นในหมู่เกาะเซเซลส์ ซึ่งเจ้าหน้าที่กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อระดับวิกฤตและรุนแรงเกือบทั้งหมด ยังรับวัคซีนไม่ครบตามโปรแกรม 

 


เซเซลส์กำลังใช้วัคซีนซิโนฟาร์มในผู้ใหญ่อายุน้อยกว่า 60 ปี ขณะที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ใช้วัคซีน Covishield ซึ่งเป็นวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตในอินเดีย ที่อัตราประสิทธิภาพใกล้เคียงกันในระดับ 76% ป้องกันการติดเชื้อแสดงอาการ และ 100% ป้องกันอาการป่วยรุนแรงและวิกฤต

 


กระทรวงสาธารณสุขของเซเซลส์ ระบุใน Facebook เมื่อเดือนที่แล้วว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 63 คนจากโควิด-19 ในประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว มีอยู่ 3 คนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว ซึ่งทั้ง 3 คนอายุระหว่าง 51-80 ปี

 


หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติตามนโยบายสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขมองโกเลียระบุว่า มีประชาชนฉีดวัคซีนครบแล้ว 53% ของประชากรทั่วประเทศ โดยในจำนวนนี้ มีถึง 80% ฉีดวัคซีน Sinopharm 

 


จำนวน 1 ใน 5 ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในมองโกเลียฉีดวัคซีนครบแล้ว แต่ 96% ของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อยู่ในกลุ่มประชาชนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดเพียงเข็มเดียว และเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ประชาชนจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ได้มากกว่า 80% 
“เราไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยบอกว่าวัคซีนตัวนี้ไม่ดี หรือวัคซีนตัวนั้นดี วัคซีนที่มีอยู่ทั้งหมดตอนนี้ ต่างก็ลดความเสี่ยงอาการป่วยรุนแรงทั้งนั้น” หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติตามนโยบายสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขมองโกเลีย กล่าว

 


ส่วนเจ้าของธุรกิจที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ในกรุงอูลานบาตอร์  ซึ่งผลตรวจเป็นบวกติดเชื้อโควิด-19 เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน และพักฟื้นอยู่ที่บ้าน กล่าวว่า เธอเชื่อว่า อาการป่วยของเธออาจเลวร้ายมากกว่านี้ หากไม่ได้ฉีดวัคซีน Sinopharm จนครบแล้ว 

 


“ฉันไม่เสียใจที่ฉีดวัคซีน Sinopharm” เธอกล่าว “หากไม่มีวัคซีนตัวนี้ สถานการณ์ในประเทศนี้ จะยิ่งแย่มาก”

 


วัคซีนทั่วโลกขาดแคลน ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ แทบไม่มีทางเลือก มองโกเลียได้รับการจัดสรรวัคซีน AstraZeneca มากกว่า 112,000 โดส และ Pfizer 126,000 โดสผ่านโครงการ COVAX ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายอันสูงส่งที่จะให้ทั้งประเทศร่ำรวยและยากจนได้แบ่งวัคซีนกันอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมมากที่สุด แต่ปัญหาการผลิต และการระบาดอย่างรุนแรงในอินเดีย ทำให้การจัดส่งวัคซีนล่าช้า

 

 

 

แล้วทำไมผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วจึงเสียชีวิตได้? 


บางคนที่ฉีดวัคซีน Sinovac หรือ Sinopharm ยังคงเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ว่า กรณีเหล่านี้เกิดขึ้นกับวัคซีนชนิดใดก็ได้

 


ในอินโดนีเซีย ซึ่งสภากาชาดเตือนในสัปดาห์ที่แล้วว่า “เข้าใกล้ความหายนะแล้ว” แพทย์อย่างน้อย 88 คน เสียชีวิตจากโควิด-19 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึง 26 มิถุนายน ซึ่งในจำนวนนี้ มีอย่างน้อย 20 คน ฉีดวัคซีน Sinovac ครบแล้ว และ 35 คนยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนผู้เสียชีวิตอีก 33 คนยังอยู่ระหว่างการสอบสวน 

 


นายแพทย์ อาดิบ กูไมดี หัวหน้าทีมลดความเสี่ยงของสมาคมการแพทย์อินโดนีเซีย ระบุว่า มีแพทย์ในอินโดนีเซียประมาณ 1,600 คน ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน แม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนว่ามีแพทย์จำนวนกี่มากน้อยที่ฉีดวัคซีนแล้ว
อาดิบ กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่เสียชีวิต เพราะพวกเขาอยู่ในสถานการณ์ที่มีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร พวกเขาต้องเผชิญกับผู้ป่วยจำนวนมากเกินความสามารถที่จะรับมือไหว ซึ่งนั่นหมายความว่า พวกเขาต้องทำงานหนักติดต่อกันนานหลายชั่วโมงแทบไม่ได้พักผ่อน หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ

 


“เท่าที่พิจารณาจากข้อมูลการสอบสวน การเสียชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับวัคซีน Sinovac เลย” อาดิบ กล่าว “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรับวัคซีนต้านโควิด และประชาชนควรจะปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขภาพอย่างเคร่งครัด”
ดร.เฮอร์มาวัน สาบุตร นักระบาดวิทยาและสมาชิกของสมาชิกผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของอินโดนีเซีย กล่าวว่า ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์หลากหลายสายพันธุ์ อาจลดประสิทธิภาพของวัคซีน

 

 

 

อังกฤษที่ไม่ใช้วัคซีนจีน ก็มีคนเสียชีวิตหลังรับวัคซีนแล้ว


ปัญหาของคนที่ฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับวัคซีนของจีนเท่านั้น รายงานของหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ หรือ PHE ในเดือนมิถุนายน พบว่า ในจำนวน 117 คนที่เสียชีวิตภายใน 28 วันของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Delta ในสหราชอาณาจักร มีถึง 50 คนได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว 

 


แต่การเสียชีวิตเช่นนี้ ก็เกิดขึ้นได้ยากมาก มีผู้ติดไวรัสสายพันธุ์ Delta ทั้งสิ้น 92,029 คน ในจำนวนนี้ 58% ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว และสหราชอาณาจักรก็ใช้วัคซีนของ Moderna และ Pfizer ซึ่งทั้ง 2 ชนิดเป็นวัคซีน mRNA และ Oxford/AstraZeneca ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างออกไป  

 


บทความในหนังสือพิมพ์ The Guardian นักสถิติ เดวิด สปีเจลฮอลเตอร์ และแอนโธนี มาสเตอร์ส กล่าวว่า การเสียชีวิตของบางคนคาดว่ามาจากวัคซีนที่ดี แต่ไม่สมบูรณ์แบบ

 


จิน นักไวรัสวิทยา เตือนว่า ในบางรายที่ป่วยหนัก อาจเกิดจากปัญหาโรคประจำตัว ผู้ที่ฉีดวัคซีนบางรายที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากการป่วยติดเชื้อโควิด-19 อาจมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งหมายความว่า ร่างกายของพวกเขาไม่สามารถสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งได้

 

 

 


วัคซีนจีนล้มเหลวใช่หรือไม่?  


วัคซีนของ Pfizer และ Moderna ดูเหมือนจะได้รับการไว้วางใจมาก เพราะมีประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 มากกว่า Sinovac และ Sinopharm แต่วัคซีนจีน 2 ชนิดนี้ ซึ่งผ่านการรับรองจาก WHO ประสบความล้มเหลวหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับตัวชี้วัดความสำเร็จ

 


ศาสตราจารย์ จิน กล่าวว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนจีน ไม่ได้สูงเพียงพอที่จะหยุดการระบาดของไวรัสที่แพร่กระจายในชุมชนได้ ดังนั้น จึงห่างไกลการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และยังทำให้เกิดความเสี่ยงของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ที่ดื้อต่อวัคซีน 

 


“มีความเป็นไปได้ว่า การสิ้นสุดการระบาดของไวรัส อาจต้องยาวออกไปอีก หรือเราอาจต้องทำงานร่วมกับโรคที่คล้ายกับไข้หวัดนี้ต่อไปอีกยาวนาน” จิน กล่าว 

 


“วัคซีน Sinovac และ Sinopharm เป็นวัคซีนที่ดี เพียงแต่ยังไม่ดีพอเท่านั้น พวกเราต้องการวัคซีนเพื่อช่วยหยุดการะบาดของไวรัส และหากมันจะเป็นแบบนั้น วัคซีนของ Pfizer และ Moderna จะมีประสิทธิภาพและใช้งานได้ดีกว่า” 

 


เขากล่าวว่า บริษัทผู้ผลิต Sinopharm และ Sinovac แสดงความรับผิดชอบที่จะพัฒนา ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มขนาดยา หรือเพิ่มโดสที่ 3

 


นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณด้วยว่า จีนอาจไม่ใช้วัคซีนที่ผลิตในประเทศทั้งหมดในอนาคต โดยบริษัท Shanghai Fosun Pharmaceutical Group รายงานการยื่นเอกสารของบริษัทต่อตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง โดยระบุว่าบริษัทจะทำงานร่วมกับ BioNTech เพื่อผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แบบ mRNA จำนวน 1,000 ล้านโดสต่อปี

 


Pfizer และ Moderna อาจกระจายวัคซีนในประเทศต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นในปีหน้า หลังเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตมากขึ้น แต่ขณะนี้ ยังไม่สามารถผลิตได้อย่างเพียงพอ 

 


สกอตต์ โรเซนสไตน์ ผู้อำนวยการโครงการสาธารณสุขโลกที่สถาบัน “ยูเรเซีย กรุ๊ป” กล่าวว่า  เพราะฉะนั้น การฉีดวัคซีนของจีนยังจะดีกว่าไม่ได้ฉีดวัคซีนอะไรเลย ในหลายประเทศที่มีตัวเลือกแค่นี้ จะยังเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในการฉีดวัคซีน ที่มีอยู่
และเขายังได้แสดงความกังวลว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อวัคซีนจีน อาจกระตุ้นให้ประชาชนรอจนกว่าจะได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ซึ่งอาจสายเกินไปก็ได้ “นั่นเท่ากับเป็นการสร้างความท้าทายต่อการแจกจ่ายวัคซีน ซึ่งมันหมายความว่า การฉีดวัคซีนก็จะเป็นไปอย่างล่าช้ามากขึ้น

 

 

 

สรุปฉีดวัคซีนไหนก็เสี่ยงติดโควิด-ตายได้เหมือนกัน


โรเซนสไตน์ กล่าวว่า มันเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเป็นการตัดสินชี้ขาด ข้อเสียของการทูตวัคซีน อาจมีมากกว่าข้อดี เขาคิดว่า วัตถุประสงค์ของการทูตวัคซีนของจีน มาถึง ณ จุดนี้ ยังไม่บรรลุผลอย่างแท้จริง  

 


แต่ภาพรวม โรเซนสไตน์กล่าวว่ามันไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่เกี่ยวกับสุขภาพ

 


"มันไม่ดีต่อสุขภาพของประชาชนเมื่อคุณมีผลประโยชน์ทางการเมืองมากมาย แทนที่จะนั่งพูดคุยกันดี ๆ ว่า อะไรคือวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมการระบาดของไวรัสครั้งนี้"

 


สรุปแล้ว วัคซีนทุกยี่ห้อไม่ว่าจะเป็นของจีน หรือของชาติตะวันตก เสี่ยงเสียชีวิตเหมือนกัน แต่การเสียชีวิตก็มีเหตุมีปัจจัยของมัน จะโยนความผิดให้วัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนของจีน ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างอยู่ในขณะนี้ก็คงไม่ได้ แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการเล่นการเมือง จนกลายเป็นวัคซีนการเมืองไปแล้ว 

 


แม้แต่เรื่องความเป็นความตายของผู้คน ก็ยังเป็นประเด็นเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองของประเทศยักษ์ใหญ่ วัคซีนชาติตะวันตกหลายยี่ห้อที่มีอยู่ในขณะนี้ ชาติอื่นอยากได้แทบล้มประดาตาย ก็ไม่ได้ เพราะประเทศร่ำรวยต่างแห่กักตุนเพื่อฉีดให้ประชาชนของตนให้พอก่อน ก่อนเจียดไปให้ประเทศอื่น บางประเทศปล่อยให้วัคซีนหมดอายุก็มี 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง