รีเซต

จับตาเคาะเพดานดอกเบี้ย MTCแกร่งวางกลยุทธ์รับมือ

จับตาเคาะเพดานดอกเบี้ย MTCแกร่งวางกลยุทธ์รับมือ
ทันหุ้น
23 พฤศจิกายน 2564 ( 18:26 )
207

ทันหุ้น – ประเมินผล คุมเพดานดอกเบี้ย กระทบธุรกิจเช่าซื้อ มอง MTC มีศักยภาพขยายตัวได้ดี พร้อมการปรับกลยุทธ์รับมือ หากคุมเพดานดอกเบี้ย 15% ขณะที่ 3 สมาคมฯ ตบเท้าเข้าแจงต้นทุน ความเสี่ยงในการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ต่อ สคบ.คาดประกาศบังคับกลางเดือนธันวาคม มีผลมีนาคม 2565

 

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หาก สคบ. กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อที่ 15%จะส่งผลเชิงลบต่อผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์โดยตรง เนื่องจากปกติจะคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยระหว่าง 24-30% สูงกว่าเกณฑ์ที่ สคบ.จะประกาศ ทั้งนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ NCAP และ AMANAH มากที่สุดเนื่องจากพอร์ตสินเชื่อส่วนใหญ่คือสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ส่วน MTC, SAWAD, SAK,และ AEONTS คาดว่ามีแนวโน้มกดดันประมาณการรายได้-กำไรของ ประมาณ 3-5% ตามสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อของแต่ละบริษัทในปัจจุบัน

 

MTCปรับกลยุทธ์รับมือ

ทั้งนี้คาดว่า MTC มีศักยภาพขยายตัวได้ดีในอนาคต เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อจำนำทะเบียนรถฯ สูง อีกทั้งยังเน้นการขยายสาขาเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าหาก สคบ.ประกาศเกณฑ์คุมเพดานสินเชื่อเช่าซื้อที่ 15% จริง MTC อาจปรับกลยุทธ์รุกขยายฐานลูกค้าสินเชื่อจำนำทะเบียนรถอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ว่า รายได้-กำไรของ MTC จะฟื้นตัวแข็งแกร่งและโดดเด่น จากฐานสินเชื่อที่ขยายตัวสูงได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/2565 เป็นต้นไป จึงแนะนำ “ซื้อสะสม” ราคาเหมาะสมปี 2565 ที่ 71 บาท

 

แหล่งข่าวจากสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผยว่า  ประเด็นเรื่อง คืนรถจบหนี้ หรือการเปิดโอกาสให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบรถยนต์คืน โดยห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการเรียกเก็บหนี้ส่วนที่ยังขาดชำระ อาจทำให้ผู้ประกอบการเผชิญความเสี่ยง

 

“ต้องเข้าใจว่าราคารถไม่ว่าจะรถยนต์ หรือจักรยานยนต์เมื่อขับออกจากศูนย์ ราคาก็จะตกลงทันที 10-15%ถ้าลูกค้าอยากคืนรถตั้งแต่ 3 เดือนแรก ผู้ประกอบการก็จะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะช่วง 3 เดือนแรกลูกค้ายังไม่ได้เริ่มผ่อนรถ หรือผ่อนในสัดส่วนที่น้อยมาก โดยปัจจุบันผู้ประกอบการให้ลูกค้าดาวน์เพียง 5-10% เท่านั้น จึงเสนอให้ คณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) .พิจารณาจุดคุ้มทุนของผู้ประกอบการด้วย”

 

ในกลุ่มผู้ประกอบการได้ประชุมเตรียมแนวทางการดำเนินงาน หากคณะกรรมการ สคบ. ไม่รับฟังข้อเสนอในประเด็นดังกล่าว ผู้ประกอบการจะพิจารณาเพิ่มวงเงินดาวน์ขึ้นสูงกว่า 20% รวมถึงกำหนดค่างวดการผ่อนชำระให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับราคารถที่ด้อยค่าลง เพื่อป้องกันการคืนรถในกรณีที่ไม่เหมาะสม

 

เสนอแบ่งกลุ่มคิดดบ.

นอกจากนี้ สมาคมได้เสนอต่อ สคบ.เพื่อพิจารณาเพิ่มเติม คือ 1.การกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ ซึ่งคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (effective interest rate) ต้องไม่เกินอัตรา 15% ต่อปีนั้นไม่ควรกำหนดเป็น “บรรทัดฐาน” เดียวกัน ในรถทุกประเภท เนื่องจากไม่สอดคล้องกับต้นทุนการดำเนินงาน

 

โดยกลุ่มผู้ประกอบการได้เสนอให้คณะกรรมการ สคบ. แบ่งประเภทรถในกำหนดกรอบอัตราดอกเบี้ยควบคุมเป็น 3 กลุ่มคือ 1.รถยนต์ใหม่ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันต่ำมาก 2.รถยนต์มือสอง เสนอเพดานอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 24% และ 3.รถจักรยานยนต์ เสนอเพดานอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 32%

 

เบื้องต้นคาดว่า สคบ.จะสรุปแนวทางการจัดทำการร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. …ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ และคาดว่าจะประกาศร่างฯ ดังกล่าวช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนธันวาคม เพื่อให้ร่างประกาศฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นไป

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง