รีเซต

ศิริราช ชี้ โควิดทั่วโลกยังขาขึ้น จาก "โอมิครอน" พบ 20 ปีเจอระบาดใหญ่ 5 ครั้ง อนาคตมีมาอีก

ศิริราช ชี้ โควิดทั่วโลกยังขาขึ้น จาก "โอมิครอน" พบ 20 ปีเจอระบาดใหญ่ 5 ครั้ง อนาคตมีมาอีก
ข่าวสด
25 มกราคม 2565 ( 13:15 )
162

ข่าววันนี้ 25 ม.ค.65 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน ว่า จากการติดตามสายพันธุ์โอมิครอนตลอด 2 เดือนที่มีการระบาดนั้น พบว่า ขณะนี้ภาพรวมแต่ละภูมิภาคของโลกยังอยู่ในช่วงขาขึ้นจากโอมิครอน โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้ "เดลต้า" กลายเป็นส่วนน้อย มีเพียงแอฟริกาที่ดูเหมือนผ่านจุดสุดยอดไปแล้ว อยู่ในช่วงขาลง

 

อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อของสายพันธุ์โอมิครอนถือว่าสูงกว่าระลอกที่ผ่านๆ มา อย่างเดลต้าติดเชื้อรายวันหลักแสนและแตะเกือบ 1 ล้าน ส่วนโอมิครอนเพิ่มวันละ 2-3 ล้านคน แสดงว่าแพร่กระจายเยอะ ส่วนอัตราเสียชีวิต ช่วงของเดลต้าพบประมาณ 5-9 พันคนต่อวัน บางช่วงแตะถึงหมื่นคนต่อวัน พอเป็นโอมิครอนเสียชีวิตประมาณ 4-8 พันคนต่อวัน แม้ใกล้เคียงกัน

 

 

แต่ถ้าเทียบสัดส่วนของจำนวนการติดเชื้อ ก็ถือว่าอัตราส่วนลดลง ไม่ได้พุ่งตามลักษณะการติดเชื้อ ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้ว 9.9 พันล้านโดส จากประชากรราว 8 พันล้านคน ฉีดวันละ 36 ล้านโดส เปอร์เซ็นต์เสียชีวิตจึงลดลงชัดเจน

 

สำหรับประเทศไทย เป็นส่วนลงของเดลต้า จากที่เคยติดเชื้อไปถึง 2 หมื่นกว่าคนต่อวัน แต่พอลงมาดีมากแล้วก็เจอโอมิครอนเข้ามา ตอนนี้ตัวเลขติดเชื้อเกือบเป็นเส้นตรง เพราะติดเชื้อ 7-8 พันคนต่อวันมาตลอดเป็นสัปดาห์ อัตราเสียชีวิตหลักสิบ แต่ไม่ถึง 20 ราย หวังว่าตัวเลขจะค่อยๆ ลงไป ส่วนวัคซีนฉีด 111 ล้านโดส จากประชากร 70 ล้านคน ถือว่าประเทศไทยไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่นในภาพรวมของการบริหารจัดการโควิด

 

"โอมิครอน" แพร่เร็วกว่าเดลต้า แต่รุนแรงน้อยกว่า

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า จากข้อมูลจริงของโอมิครอน ที่ระบาดมา 2 เดือน ยืนยันว่าแพร่เร็วกว่าเดลต้า สาเหตุเพราะคุณสมบัติของตัวไวรัสทำให้แพร่เร็วขึ้น เพราะแม้ปริมาณเชื้อไม่เยอะแต่ก็แพร่ได้เร็ว ส่วนอาการรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า แต่ไม่ได้แปลว่าไม่รุนแรง โดยมีอัตรานอน รพ.น้อยกว่าเดลต้า 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 2

 

ดังนั้น ความจำเป็นในการรักษา ไทยจึงเน้นไม่มีอาการให้กักตัวอยู่บ้าน ไม่จำเป็นต้องในอยู่ใน รพ. ส่วนที่ทำให้รุนแรงน้อยเพราะจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่าเชื้อมักอยู่ทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ค่อยลงไปส่วนล่าง ทำให้ไม่รุนแรง และเมื่ออยู่ทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ไอจามบ่อย จึงกระจายเชื้อง่าย

 

"เราไม่สามารถแยกสายพันธุ์จากอาการได้ แต่โอมิครอนส่วนใหญ่ที่เราจะเจอ คือ น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว จามบ่อย เจ็บคอ ส่วนการไม่ได้กลิ่นไม่รับรสพบไม่มากเท่าเดลต้า" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

 

โอมิครอนใกล้ชนะศึกเดลต้าปลาย ม.ค.นี้

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตอนนี้โอมิครอนใกล้ชนะศึกเดลต้า คาดว่าภายในปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้าก็น่าจะเป็นโอมิครอนเกือบทั้งประเทศไทย ดังนั้น การดูอาการอาจไม่สำคัญมาก ส่วนการอยากเอาชนะโอมิครอน ซึ่งโควิดสอนโลกถ้าไม่ร่วมมือกัน อย่างประเทศที่มีฐานะไม่ช่วยประเทศที่ยากจนกว่า ก็ไม่มีทางชนะ ต้องช่วยกัน ถึงลดความรุนแรงได้ ต้องรีบให้วัคซีนคนในโลกให้ครบ ไม่ใช่เฉพาะประเทศเศรษฐกิจดี ดังนั้น ประเทศไทยจึงให้วัคซีนลงไปในทุกคน และจะดีที่สุดถ้าทั้งโลกภูมิคุ้มกันดีขึ้น

 

ฉีดวัคซีนลดภาวะลองโควิด

ส่วนภาวะลองโควิดมีกว่า 50 อาการ นิยามอาจไม่เหมือนกัน แต่การฉีดวัคซีนครบจะลดโอกาสเกิดครึ่งหนึ่ง ส่วนยารักษาส่วนใหญ่จัดการเดลต้าและโอมิครอนได้ดี สำหรับการที่โอมิครอนกระจายเร็วไปแทนที่เดลต้า แต่รุนแรงน้อยกว่า บ่งบอกว่ามีโอกาสสูงเข้าช่วงท้ายๆ ของการแพร่ระบาดโควิด 19 หากโอมิครอนกระจายทั่วโลก และคนติดเชื้อไม่ได้เสียชีวิต คนก็จะมีภูมิเยอะขึ้นจากการฉีดวัคซีนและติดเชื้อ

 

อย่างไรก็ตาม อย่าคิดว่าโอมิครอนไม่รุนแรงแล้วคิดจะไปติดเชื้อโดยไม่ต้องฉีด อย่าคิดอย่าทำเด็ดขาด เรายังบอกไม่ได้ว่าได้เชื้อเข้าไปจะรอดหรือไม่รอด โอกาสรุนแรงก็มี และอาจเอาเชื้อไปให้ผู้ใหญ่ที่บ้านที่ไม่แข็งแรง หากเกิดอะไรขึ้นอาจจะเสียใจ การเพิ่มภูมิที่ดีที่สุดคือฉีดวัคซีน

 

ฉีดครบโดสไม่พอสู้โอมิครอน เข็ม 4 ยังต้องติดตาม

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนครบโดส มีการพูดว่าอาจไม่ใช่การฉีด 2 เข็ม แต่เป็นการฉีดเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันเพียงพอ ซึ่งเดลตาฉีดสองเข็มรับมือได้ แต่โอมิครอนฉีดสองเข็มเป็นพื้นฐานไม่เพียงพอแล้ว เนื่องจากโอมิครอนหลบภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีนและการติดเชือ้ได้ดีกว่า อย่างอิมพีเรียลคอลเลจ ศึกษาอังกฤษใช้แอสตร้าฯ และไฟเซอร์เป็นหลัก ฉีด 2 เข็มกับโอมิครอนได้ผล 0-20% น้อยมากในการป้องกันการติดเชื้อ

 

แต่พอฉีดเข็มสามค่อนข้างดี คือ ขึ้นไปที่ 55-80% จึงจำเป็นต้องฉีดกระตุ้น ระยะห่างจากเข็มสอง 3 เดือน ซึ่งมาจากงานวิจัย แต่ยังไม่มีหลักฐานใดว่าต้องจะฉีดต่อไปทุก 3-6 เดือน ยังไม่ต้องคิดแบบนั้นว่าต้องมาฉีดเข็ม 4 เข็ม 5 ยังต้องติดตามต่อไป เว้นบุคลากรที่เสี่ยงมากจริงๆ ต้องฉีดเข็มสี่

 

20 ปี เจอระบาดใหญ่ 5 ครั้ง มีโอกาสเจออีก

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เราเจอการระบาดใหญ่ Pandemic มา 5 รอบ คือ ปี 2002 เจอซาร์ส ปี 2009 หวัดหมู ปี 2012 เมอร์ส ปี 2015 เจอซิกา และปี 2019 เจอโควิด โลกยังมีโอกาสเจอการแพร่ระบาดเช่นนี้อีก เพราะสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมแยกจากกันไม่ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งแย่ก็กระทบกันหมด อย่างโลกร้อนขึ้น ก็มีโอกาสเจอเชื้อใหม่ๆ ดังนั้น การใช้ชีวิตเราไม่ได้กลับมาปกติเหมือนก่อนแพร่ระบาด แต่เป็นปกติรูปแบบใหม่ คือ ใช้ชีวิตที่พร้อมถ้าจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคใหม่ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

 

"อย่างก่อนโควิดมาเราทำงานที่ทำงาน ตอนนี้หลายบริษัททั้งในและต่างประเทศให้ทำงานที่บ้าน อาศัยเทคโนโลยีซึ่งประสิทธิภาพก็ไม่ลด แต่ลดเสี่ยง ลดมลภาวะจากการใช้รถบนถนน ลดค่าใช้จ่ายในออฟฟิศ วิถีชีวิตใหม่คุณภาพต้องไม่ด้อยกว่าเดิม

 

โดยเฉพาะการสร้างเสริมสุขภาวะตัวเราเอง อย่างเราล้างมือบ่อยขึ้นก็อย่าถอยกลับไปเหมือนเดิม เราปรับตัวมา 2 ปีกว่าก็รักษาสิ่งเหล่านี้ เมื่อแพร่ระบาดใหม่ก็ป้องกันตัวเองได้จากการมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น ทำจนปกติรูปแบบใหม่ เจออะไรอยู่ร่วมกับมันได้ หรือนำเทคโนโลยีมาใช้ การรักษาก็ไม่ต้องไป รพ." ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

 

ร่วมกิจกรรมได้แต่ยังต้องยกการ์ดสูง

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า แนะนำว่า แม้โอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า แต่ไม่ใช่ไม่รุนแรง การป้องกันตนเองไม่ให้รับเชื้อจึงสำคัญ เมื่อรัฐบาลไทยพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่อนคลายกิจกรรมมากขึ้น จริงๆ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ เพื่อให้ประเทศเคลื่อน แต่ต้องลดเสี่ยงแพร่เชื้อรับเชื้อ ใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง เพราะโอมิครอนติดง่ายขึ้น โดยเฉพาะช่วงถอดหน้ากากพูดคุยรับประทานอาหารมีความเสี่ยงที่สุด

 

 

ทั้งนี้ ขอให้ทำตามมาตรการ เพื่อให้ประเมินมาตรการได้ว่า มาตรการพอหรือไม่ ต้องเข้มขึ้นหรือผ่อนคลาย และขอให้ไปฉีดวัคซีน ซึ่งย้ำว่า 2 เข็มไม่พอต้องเข็ม 3 ช่วยกันแนะนำตักเตือนคนไม่ดำเนินการตามมาตรการ ติดตามข่าวความก้าวหน้าต่างๆ

 

"อย่าเพิ่งเร็วเกินไปที่เอาการ์ดลง ยังสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ แต่ต้องการ์ดสูง ต่างชาติคิดว่าโควิดอาจอยู่กับเราถึงกลางปีหรือปลายปี แต่ก็อาจมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปได้อีก ขอย้ำว่าต้องรักษาระยะห่าง ใส่หน้ากาก ล้างมือ จำเป็นรับเข็ม 3 ใครยังไม่ฉีดให้รีบมาฉีด" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง