SpaceX เตรียมทำภารกิจ Fram2 ส่งนักบินอวกาศโคจรเหนือขั้วโลกเหนือและใต้เป็นครั้งแรก
บริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เตรียมทำภารกิจ Fram2 ส่งนักบินอวกาศชุดแรกโคจรเหนือจุดกึ่งกลางของขั้วโลกเหนือและใต้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อสำรวจบริเวณขั้วโลก โดยชื่อของภารกิจ Fram2 ถูกตั้งตามชื่อของเรือ Fram2 ของประเทศนอร์เวย์ที่เคยออกเดินทางสำรวจทวีปอาร์กติกและแอนตาร์ติกาในระหว่างปี 1893 และ 1912
ภารกิจ Fram2 ประกอบด้วยนักบินอวกาศ 4 คน ประกอบด้วยชุน หวัง (Chun Wang) นักธุรกิจและนักผจญภัยจากประเทศมอลตาทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการ ยานนิคเคอ มิคเคลเซน (Jannicke Mikkelsen) ประเทศนอร์เวย์ ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชายานพาหนะ เอริก ฟิลิปส์ (Eric Philips) ประเทศออสเตรเลีย ทำหน้าที่เป็นนักบิน และราเบีย โรกเกอ (Rabea Rogge) ประเทศเยอรมนี ผู้เชี่ยวชาญภารกิจ
ภารกิจ Fram2 มีกำหนดปล่อยตัวขึ้นสู่อวกาศในช่วงปลายปี 2024 โดยใช้ยานอวกาศครูว์ ดรากอน (Crew Dragon) และจรวดฟอลคอน 9 (Falcon 9) ปล่อยตัวจากฐานปล่อยจรวดรัฐฟลอริดา ยานอวกาศครูว์ ดรากอน (Crew Dragon) จะโคจรรอบโลกที่ระดับความสูง 425 - 450 กิโลเมตร ใช้เวลาทำภารกิจทั้งหมด 3-5 วัน
ในช่วงเวลาดังกล่าว นักบินอวกาศจะทำการสังเกตปรากฏการณ์แสงเหนือในบริเวณขั้วโลก และปรากฏการณ์สตีฟ (STEVE) หรือ Strong Thermal Emission Velocity Enhancement ซึ่งมีลักษณะเป็นแสงสีม่วง-เขียน เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศชั้นสูงของโลก รวมไปถึงสังเกตผลกระทบของการบินอวกาศต่อร่างกายมนุษย์ โดยการถ่ายภาพเอกซเรย์มนุษย์เป็นครั้งแรกในอวกาศ
ก่อนหน้านี้เคยมียานอวกาศโคจรเข้าใกล้จุดกึ่งกลางของขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ โดยเป็นภารกิจวอสตอค 6 (Vostok 6) ของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1922 โดยภายในยานอวกาศมีวาเลนตินา เตเรชโควา นักบินหญิงคนแรกของโลก อย่างไรก็ตามตำแหน่งการโคจรของภารกิจวอสตอค 6 (Vostok 6) ยังไม่ใช่จุดกึ่งกลางของขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้
สำหรับเหตุผลก่อนหน้านี้ที่ทำให้ไม่มียานอวกาศโคจรผ่านจุดกึ่งกลางของขั้วโลกเหนือและใต้ เนื่องจากความยุ่งยางในการควบคุมยานอวกาศที่ไม่สามารถอาศัยการหมุนของโลกช่วยในการโคจร ทำให้มีเพียงยานอวกาศแบบไร้นักบินอวกาศที่ทำภารกิจด้านการทหารหรือการสำรวจโคจรผ่านพื้นที่บริเวณดังกล่าว
หากภารกิจ Fram2 เป็นไปตามกำหนดการณ์ที่วางแผนเอาไว้ อาจสามารถช่วยให้มนุษย์พัฒนาเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการสำรวจอวกาศระยะยาวในอนาคต รวมไปถึงความพยายามทำความเข้าใจการทำงานของสนามแม่เหล็กโลก และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอนุภาคดวงอาทิตย์