'การบ้าน' เก่า 1,300 ปี เผยชีวิต 'โรงเรียน' ในซินเจียงยุคโบราณ
อุรุมชี, 19 พ.ค. (ซินหัว) -- เอกสารฉบับหนึ่งที่ขุดพบเมื่อปี 1969 จากสุสานโบราณอาซือถ่าน่า ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองถู่หลู่ฟานทางตะวันออกของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ช่วยไขความกระจ่างเกี่ยวกับชีวิตในรั้วโรงเรียนของซินเจียงยุคโบราณ
เอกสารดังกล่าวเป็นม้วนกระดาษยาว 5 เมตร เขียนโดยปู่เทียนโซ่ว นักเรียนวัย 12 ปี เมื่อปี 710 ในยุคราชวงศ์ถัง ปู่คัดลอกเนื้อหาหลายบทจากตำราเรียนยุคดังกล่าว 2 เล่ม ได้แก่ คำอธิบายประกอบคัมภีร์หลุนอวี่ของขงจื่อ ซึ่งเขียนโดยเจิ้งเสวียน นักวิชาการผู้โด่งดัง และเชียนจื้อเหวิน บทกวีจีนที่ใช้เป็นพื้นฐานสอนตัวอักษรจีนให้เด็กในยุคโบราณตี้ลี่หนู่เอ่อร์ หม่ายหมิง ผู้นำชมประจำพิพิธภัณฑ์ถู่หลู่ฟาน เผยว่าเด็กน้อยเขียนโคลงที่ไม่ค่อยถูกต้องนักอยู่ท้ายม้วนกระดาษว่า "การบ้านวันนี้เสร็จแล้ว ท่านอาจารย์อย่าสอนนานเกินนักเลย ให้เรากลับบ้านกันเร็วๆ เถอะ" ซึ่งทำให้เอกสารชิ้นนี้มีเนื้อหาที่ดูสนุกสนานและน่าสนใจมากเฉินอ้ายเฟิง รองคณบดีจากสถาบันการศึกษาถู่หลู่ฟาน ระบุว่าสำหรับมุมมองทางนิรุกติศาสตร์ คำอธิบายประกอบคัมภีร์หลุนอวี่ของขงจื่อโดยเจิ้งเสวียนนั้นสูญหายไปหลังยุคราชวงศ์ถัง ทว่าสำเนางานเขียนของปู่เทียนโซ่วและเอกสารอื่นๆ ที่ขุดพบในถู่หลู่ฟานช่วยมอบข้อมูลอันทรงคุณค่าสำหรับการศึกษาผลงานคลาสสิกของลัทธิขงจื่อ"ระบบการศึกษาที่ค่อนข้างสมบูรณ์ถูกจัดตั้งในยุคราชวงศ์ถัง โดยเอกสารส่วนใหญ่ของเจิ้งเสวียนที่พบจากสุสานดังกล่าวเป็นฉบับสำเนาที่เขียนโดยนักเรียน ซึ่งบ่งชี้ว่าการศึกษาในซินเจียงยุคราชวงศ์ถังนั้นได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมที่ราบภาคกลาง" เฉินกล่าวทิ้งท้าย