ไต้หวันนำซากเปลือกหอย มาผลิตเป็น “ขนสัตว์ทะเล” สร้างมูลค่าหลายร้อยล้านต่อปี
ในวันนี้ มันกำลังกลายเป็นดั่งทองคำ เมื่อมีคนหยิบนำไปรีไซเคิล ผลิตเป็นเส้นด้าย ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชื่อว่า ขนสัตว์ทะเล หรือ “Seawool” สร้างมูลค่ามากถึงหลักหลายร้อยล้านบาทต่อปี
“หลังจากที่เราบดเปลือกหอยนางรมให้เป็นเม็ดนาโนบีดแล้ว เราก็จะนำไปผสมลงในเส้นด้ายที่ผลิตมาจากขวดพลาสติก ซึ่งการผสมนี้ จะทำให้ได้เส้นด้ายพิเศษ เนื่องจากเส้นด้ายนี้ มีคุณสมบัติคล้ายขนสัตว์ และมาจากทะเล พวกเราจึงเรียกว่า ‘ขนสัตว์ทะเล’ (Seawool)” เอ็ดดี้ หวัง ประธานกรรมการ บริษัท Creative Tech Textile จำกัด กล่าว
หวัง กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้ริมทะเล มักจะเอาเปลือกหอยนางรมมาเผาไฟ แล้วติดไว้ที่ผนังกำแพงบ้าน จะทำให้บ้านอุ่นในช่วงหน้าหนาว และเย็นในช่วงหน้าร้อน
---เส้นด้ายพิเศษจากกองขยะ---
ชาวไต้หวันชื่นชอบการทานหอยนางรมมาก ชาวประมงจะเก็บหอยนางรมได้ปีละประมาณละ 200,000 ตัน เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร ด้วยความนิยมนี้ ทำให้มีเปลือกหอยนางรมถูกทิ้งเกลื่อนตกปีละประมาณ 160,000 ตัน สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
เอ็ดดี้ หวัง จึงได้นำเปลือกหอยเหล่านี้ มาเพิ่มมูลค่า และช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไปด้วย
โรงงานของหวัง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2010 แต่เดิมเขาผลิตเนื้อผ้า ที่ทำมาจากการรีไซเคิลขวดน้ำพลาสติก แต่เขารู้สึกว่า ผิวสัมผัสของเนื้อผ้า ดูธรรมดาเกินไป ฉะนั้น เขาจึงได้เริ่มทำการทดลองกับสถาบันวิจัยในปี 2013 เพื่อหาสูตรการสร้างผ้าที่ทำมาจากเปลือกหอยนางรม ให้มีความใกล้กับขนสัตว์มากที่สุด
ทุกวันนี้ โรงงานของเขา ใช้เปลือกหอยจำนวน 100 ตัน ในการผลิตเส้นด้าย 900 ตัน โดยเส้นด้าย Seawol มักถูกใช้ผลิตในแบรนด์เสื้อผ้า ที่เน้นกิจกรรมกลางแจ้ง และความยั่งยืน ในยุโรป และสหรัฐฯ สร้างรายได้ราว 214 ล้านต่อปี
“เปลือกหอยนางรมเป็นวัสดุที่นำความร้อนต่ำ มันจะไม่ดูดซับความร้อน และไม่กระจายความร้อน เปลือกหอยนางรมจะให้คุณสมบัติคล้ายกับถ่านไม้ไผ่ เปลือกหอยนางรม มีโครงสร้างที่เป็นรูพรุนของแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งสามารถดูดซับกลิ่นได้” หวัง กล่าว
---จาก “ขยะ” สู่ “ทองคำ”---
หวัง กล่าวว่า อุตสาหกรรมนี้ จะไม่เกิดขึ้น ถ้าปราศจากวัฒนธรรมการเลี้ยงหอยที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไต้หวัน
“ในไต้หวัน เรามีอุตสาหกรรมเลี้ยงหอยนางรม เรามีคนเก็บหอยนางรม เรามีผู้เชี่ยวชาญในการทำความสะอาดหอยนางรม และเรามีคนคอยตากหอยนางรมให้แห้ง และแปรรูปพวกมัน ห่วงโซ่อุตสาหกรรมนี้ ไม่สามารถพบได้ในประเทศอื่น” เขา กล่าว
นอกจากโรงงานของหวังแล้ว บริษัท Taiwan Sugar Corporation ก็ได้นำเอาเปลือกหอยนางรม มาแปรรูปเป็นผง เพื่อนำไปใช้ผลิตธูป ซึ่งช่วยลดการปล่อยควัน และสารพิษที่ออกมาจากการจุดธูป
“เราหวังว่า เปลือกหอยนางรมจะเข้าไปอยู่ในกระบวนการผลิตในหลากหลายอุตสาหกรรม และหลายบริษัทสนใจที่จะไปใช่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของพวกเขา และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าอีกด้วย” เฉิน เว่ยเจิน รองหัวหน้าแผนกธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ Taiwan Sugar Corporation กล่าว
ได เซ็น-ไท ผู้ที่ครอบครัวของเขาอยู่ในอุตสาหกรรมเลี้ยงหอยนางรมมา 3 รุ่นแล้ว กล่าวว่า เขาดีใจมาก ที่ไต้หวันกำลังเติมชีวิตใหม่ให้กับขยะในทะเล
“ตอนที่ผมยังเด็ก ไม่มีใครต้องการเปลือกหอยนางรมเลย พวกเขาทิ้งไปทุกที่ แต่ตอนนี้ มันเป็นเรื่องดีที่ขยะเหล่านี้ กำลังจะแปรเปลี่ยนเป็นทองคำในที่สุด” ได กล่าว
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ข้อมูลอ้างอิง:
https://phys.org/news/2024-08-gold-oyster-shells-repurposed-magic.html