เลือดขาดแคลน! ชวนปชช.ร่วมบริจาค ปัจจุบันมีสำรองเพียง 200-300 ยูนิต/วัน
วันนี้( 6 เม.ย.65) ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยบอสตันในประเทศไทย จัดกิจกรรมเชิญชวนให้ประชาชนร่วมใจบริจาคโลหิต ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการ ทำความดีเพื่อสังคม ที่สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยบอสตันในประเทศไทย จัดตลอดทั้งเดือนเมษายนเป็นประจำทุกปี
ศ.นพ.ดร.อิศรางค์ นุชประยูร ที่ปรึกษาด้านวิชาการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย เน้นย้ำ การบริจาคโลหิตในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 เพื่อความปลอดภัยของผู้บริจาคโลหิต ผู้บริจาคโลหิตต้องคัดกรองและประเมินตนเองก่อนมาบริจาคโลหิต กรณีติดเชื้อโควิด-19 งดบริจาคโลหิต 28 วัน หรือ ให้ครบ 4 สัปดาห์ก่อน นับตั้งแต่หายป่วยและไม่มีอาการ กรณีได้รับวัคซีนโควิด-19 มา ขอให้เว้น 7 วัน ถึงจะบริจาคโลหิตได้ หากมีอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนขอให้หายดีก่อน โดยให้ เว้น 7-14 วัน ตามความรุนแรงของอาการ ซึ่งผู้บริจาคโลหิต สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มบริจาคโลหิตและแบบคัดกรองตนเอง เพื่อประเมินความเสี่ยงในการแพร่เชื้อได้ที่เว็บไซต์ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ
ขณะที่ในช่วงการระบาด โควิด-19 ระลอก 5 โดยเฉพาะสายพันธุ์ โอมิครอน ข้อมูลการบริจาคโลหิตทั่วประเทศ พบว่า การบริจาคลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับการระบาดโควิด- 19 ระลอกที่ผ่านมา ภาพรวมความต้องการเลือด ที่ต้องกระจายให้กับโรงพยาบาล จะอยู่ที่เดือนละประมาณ 2 แสนยูนิต แต่ปัจจุบันอยู่ที่เดือนละแสนยูนิตเท่านั้น
นางสาว ปิยนันท์ คุ้มครอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านจัดหาโลหิตและภาพลักษณ์องค์กร ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ระบุว่า ครั้งนี้ถือว่าเป็นภาวะวิกฤต ในการขาดแคลนโลหิตที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ มีความต้องการเลือด สำรองอยู่ที่ 2,000-3,000 ยูนิตต่อวัน แต่ปัจจุบันมีโลหิตสำรองเพียง200-300 ยูนิตต่อวัน
ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นมา ได้รับโลหิตจากการบริจาครวม 169,379 ยูนิต แต่พอเข้าช่วงวันที่ 1-14มีนาคม 2565 ที่ผ่านมาได้รับโลหิตจากการบริจาคเพียง 76,169 ยูนิต
ซึ่งทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย มีความจำเป็นที่จะต้องสำรองโลหิตให้ได้ในจำนวนที่มีความเพียงพอ เพื่อรองรับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในกรณีที่อาจจะเกิดเหตุอุบัติเหตุ และมีผู้ป่วยฉุกเฉินต้องการเลือดด่วน
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคเลือด ซึ่งจำเป็นต้องรับโลหิต ครั้งละ 1-2 ยูนิต ทุก 3-4 สัปดาห์ หากไม่ได้รับโลหิตผู้ป่วยจะมีภาวะซีด อ่อนเพลีย มีปัญหาในการดำรงชีวิต ผู้ป่วยผ่าตัด ผู้ป่วยมะเร็ง
ที่จะต้องถูกชะลอการรักษาออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ผู้ป่วยอุบัติเหตุ ที่จำเป็นต้องใช้โลหิตในการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน เช่น เลือดออกในสมอง มีภาวะเลือดออก ในช่องอก หรือช่องท้อง หรือผู้ป่วยกระดูกหัก ซึ่งมีเกือบทุกวันและเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการโลหิตจำนวนมาก
ภาพจาก ผู้สื่อข่าว TNN ช่อง 16