รีเซต

รพ. ยอมรับให้เลือดผิดกรุ๊ป แพทย์เตือนอันตรายมาก

รพ. ยอมรับให้เลือดผิดกรุ๊ป แพทย์เตือนอันตรายมาก
TNN ช่อง16
2 พฤษภาคม 2568 ( 16:17 )
9
จากกรณีมีผู้ถูกเศษก้อนปูนบริเวณถนนพระราม 2 หล่นใส่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ตับฉีก (ซึ่งได้เสียชีวิตแล้ว) ทางโรงพยาบาลแรกที่ให้การรักษาได้ออกมายอมรับว่ามีการให้เลือดผิดกรุ๊ป ซึ่งตอนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลแรก อาการค่อนข้างวิกฤติ เสียเลือดมาก ตามหลักปฏิบัติโรงพยาบาลต้องให้เลือดกรุ๊ปโอ แต่ทางโรงพยาบาลขาดแคลนเลือดกรุ๊ปโอ แพทย์จึงสั่งให้ใช้เลือดกรุ๊ปบีที่ตรงกับคนเจ็บ แต่พอนำเลือดไปตรวจในแล็บ กลับพบว่าเป็นเลือดกรุ๊ปเอจึงต้องรีบรักษา

ด้าน“หมอหมู”  รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี ได้มีการออกมาให้ข้อมูลว่า แม้ให้เลือดผิดกรุ๊ปจำนวนจะลดลง แต่ อัตราการเสียชีวิตหากเกิดการให้เลือดผิดหมู่ ยังคงสูงถึงร้อยละ 30–60 โดยสาเหตุหลักมาจาก “ความผิดพลาดของมนุษย์” เช่น การติดฉลากผิด หรือสลับเลือดผู้ป่วย

รับเลือดผิดกรุ๊ป เสี่ยงชีวิต?

แนวโน้มของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการให้เลือดผิดหมู่ ซึ่งรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ในช่วงปี 2000–2019 แสดงให้เห็นว่า:

ช่วงปี 2000–2010: มีการรายงานเฉลี่ย 5–6 ราย/ปี

ช่วงปี 2011–2019: ลดเหลือเฉลี่ย 2–3 ราย/ปี

ความผิดพลาดของมนุษย์ (human error) เช่น ติดฉลากผิด หรือเลือดสลับคน ยังคงเป็นสาเหตุหลัก การให้เลือดผิดหมู่ แม้จะเกิดได้ยาก แต่หากเกิดขึ้นมีโอกาสเสียชีวิต สูงมากถึง 30–60%

การแจกแจงชนิดหมู่เลือด ABO ตามแอนติเจนและแอนติบอดี มีดังนี้

1. เลือดกรุ๊ป A: มีแอนติเจน A อยู่บนพื้นผิวของเม็ดเลือด และ มีแอนติบอดี B ในน้ำเลือด

2. เลือดกรุ๊ป B: มีแอนติเจน B อยู่บนพื้นผิวของเม็ดเลือด และ มีแอนติบอดี A ในน้ำเลือด

3. เลือดกรุ๊ป AB: มีทั้งแอนติเจน A และ B อยู่บนพื้นผิวของเม็ดเลือด แต่ ไม่มีแอนติบอดี A และ B ในน้ำเลือด

4. เลือดกรุ๊ป O: ไม่มีแอนติเจน A และ B อยู่บนพื้นผิวของเม็ดเลือด แต่ มีทั้งแอนติบอดี A และ B ในน้ำเลือด

เมื่อใดก็ตามที่มีแอนติเจนและแอนติบอดีชนิดเดียวกัน ทั้งคู่จะจับตัวกันและตกตะกอน ทำให้เม็ดเลือดแดงนั้นใช้ไม่ได้และแตกสลาย

สิ่งนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นหากให้เลือดผิดหมู่ เช่น หากเรามีหมู่เลือด B ซึ่งจะมีแอนติบอดี A ในน้ำเลือด หากได้รับเลือดหมู่ A แอนติเจนและแอนติบอดีจะตรงกัน เข้าจับตัวทำปฏิกิริยาและตกตะกอนทันที เป็นที่มาของภาวะเม็ดเลือดแดงแตก

ผลที่อาจเกิดขึ้น คือ มีไข้ หนาวสั่น เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว ความดันตก ไตวายเฉียบพลัน ช็อก และเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที

การรับและการให้เลือด

1. หมู่เลือด A รับเลือดจาก A, O ได้ และให้เลือด A และ AB

2. หมู่เลือด B รับเลือดจาก B, O ได้ และให้เลือด B และ AB

3. หมู่เลือด AB รับเลือดได้จากทุกหมู่ และให้เลือดได้เฉพาะ AB

4.หมู่เลือด O รับเลือดได้จากหมู่เลือด O เท่านั้น และให้เลือดได้ทุกหมู่

อ้างอิงข้อมูลจาก: Storch EK, Rogerson B, Eder AF. Trend in ABO-incompatible RBC transfusion-related fatalities reported to the FDA, 2000-2019. Transfusion. 2020 Dec;60(12):2867-2875. doi: 10.1111/trf.16121. Epub 2020 Oct 16. PMID: 33064880.

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง