รีเซต

ปลื้มไทยใช้สิทธิ FTA 11 เดือนปี 64 พุ่ง 34% คต.เผย ยานยนต์ ผลไม้สด ครองแชมป์ส่งออกไทย

ปลื้มไทยใช้สิทธิ FTA 11 เดือนปี 64 พุ่ง 34% คต.เผย ยานยนต์ ผลไม้สด ครองแชมป์ส่งออกไทย
มติชน
3 กุมภาพันธ์ 2565 ( 10:08 )
38
ปลื้มไทยใช้สิทธิ FTA 11 เดือนปี 64 พุ่ง 34% คต.เผย ยานยนต์ ผลไม้สด ครองแชมป์ส่งออกไทย

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่ารวม 69,746.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.13 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ สูงถึงร้อยละ 78.82 โดยเป็นการใช้สิทธิฯ ที่เพิ่มขึ้นในทุกตลาด และมีสินค้าสำคัญที่พบว่ามีมูลค่าการส่งออกสูง และมีการส่งออกเพิ่มขึ้นในหลายตลาด อาทิ ยานยนต์ (ขยายตัวในตลาดอาเซียน จีน ออสเตรเลีย ชิลี) ผลไม้ (ขยายตัวในตลาดอาเซียน จีน เกาหลี) และอาหารปรุงแต่ง (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น เปรู เกาหลี) เป็นต้น โดยตลาดที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

 

อันดับ 1 อาเซียน (มูลค่า 24,028.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีตลาดส่งออกสำคัญคือ เวียดนาม (มูลค่า 7,002.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) อินโดนีเซีย (มูลค่า 5,327.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มาเลเซีย (มูลค่า 4,522.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และฟิลิปปินส์ (มูลค่า 4,227.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ ยานยนต์สำหรับขนส่งของที่น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน รถยนต์สำหรับขนส่งบุคคล น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส ผลไม้สด ฝรั่ง มะม่วง มังคุดสดหรือแห้ง เป็นต้น

 

อันดับ 2 จีน (มูลค่า 23,310.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ ทุเรียนสด มันสำปะหลัง ฝรั่ง มะม่วง มังคุด รถยนต์และยานยนต์ขนส่งบุคคล ความจุของกระบอกสูบ 1,500 – 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ผลไม้สด เช่น ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ ลางสาด เป็นต้น

 

อันดับ 3 ออสเตรเลีย (มูลค่า 7,647.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ รถยนต์ขนส่งของน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุก ไม่เกิน 5 ตัน รถยนต์ขนส่งบุคคลความจุของกระบอกสูบเกิน 2,500 ลูกบาศก์เซนติเมตร เครื่องปรับอากาศติดผนังและส่วนประกอบ เครื่องเพชรพลอยหรือรูปพรรณทำหรือชุบด้วยเงิน เป็นต้น

อันดับ 4 ญี่ปุ่น (มูลค่า 6,453.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ เนื้อไก่ชนิดแกลลัสโดเมสติกัส ชิ้นเนื้อและส่วนอื่นของสัตว์ปีกแช่เย็นจนแข็ง กุ้งปรุงแต่ง ลวดทองแดง เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณทำด้วยโลหะมีค่า เป็นต้น

 

อันดับ 5 อินเดีย (มูลค่า 4,414.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ ลวดทองแดง โพลิ (ไวนิลคลอไรด์) ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ อาหารสุนัขหรือแมว ตู้เย็น เป็นต้น

 

นายพิทักษ์ กล่าวว่า ในส่วนของข้อมูลสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ FTA กับมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษในการลดภาษีภายใต้ FTA 5 อันดับแรก มีดังนี้ อันดับ 1 ไทย-เปรู (ร้อยละ 100) อันดับ 2 อาเซียน-จีน (ร้อยละ 96.46) อันดับ 3 ไทย-ชิลี (ร้อยละ 96.62) อันดับ 4 ไทย-ญี่ปุ่น (ร้อยละ 79.32) และอันดับ 5 อาเซียน-เกาหลี (ร้อยละ 71.24)

 

ทั้งนี้ ข้อมูลข้างต้นเป็นข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA จำนวน 11 ฉบับ ได้แก่ เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ความตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA) ความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี (TCFTA) ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-เปรู (TPCEP) ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFTA) และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) โดยไม่รวมถึงความตกลง RCEP ซึ่งเป็นความตกลงใหม่ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกงที่ภาษีนำเข้าเป็น 0 จึงไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิ FTA เพื่อลดภาษี และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) ที่ไม่มีการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อใช้สิทธิ FTA แต่เป็นการรับรองตนเองของผู้ส่งออก (self-declaration)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง