รีเซต

ชะตากรรมชาวลูกหนี้ แบงก์ชาติเร่งสางปมร้อน เดิมพัน อนาคต ศก.ไทย!!

ชะตากรรมชาวลูกหนี้ แบงก์ชาติเร่งสางปมร้อน เดิมพัน อนาคต ศก.ไทย!!
มติชน
30 สิงหาคม 2564 ( 11:11 )
40
ชะตากรรมชาวลูกหนี้ แบงก์ชาติเร่งสางปมร้อน เดิมพัน อนาคต ศก.ไทย!!

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากสายพันธุ์เดลต้า ยังคงทวีความรุนแรง ทั้งในแง่ของผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แม้รัฐบาลจะเริ่มคลายล็อกดาวน์บางกิจการ มีผลวันที่ 1 กันยายนนี้ แต่บาดแผลของประชาชน และภาคธุรกิจที่ถูกล็อกดาวน์ ทำให้ทุกฝ่ายต่างเจ็บหนัก ขาดรายได้ บางรายตัดสินใจก่อหนี้เพิ่มขึ้นในระบบ นอกระบบ เพราะค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ได้หยุดตาม โดยเฉพาะหนี้แบงก์ บัตรเคดิต ค่ารถ ค่าบ้าน การช่วยเหลือผ่านนโยบายการเงิน การคลัง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเข้ามาเยียวยารักษาบาดแผลเศรษฐกิจครั้งนี้

 

⦁แบงก์ชาติเปิด4อาการศก.ไทยน่าห่วง


ล่าสุด เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้สร้างความเซอร์ไพรส์ด้วยการออกมากล่าว 4 อาการทางเศรษฐกิจไทยที่น่าเป็นห่วงแบบถึงพริกถึงขิง

 

ประกอบด้วย 1.เกิดหลุมรายได้ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ โดยพบว่า ในช่วงปี 2563-2564 รายได้จากการจ้างงานหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 2565 คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปอีก 8 แสนล้านบาท ทำให้ตั้งแต่ปี 2563-2565รายได้จากการจ้างงานจะหายไปรวมกว่า 2.6 ล้านล้านบาท 2.การจ้างงานในระบบถูกกระทบรุนแรง โดยในช่วงไตรมาส 2/2564 พบว่ามีจำนวนผู้ว่างงาน หรือเสมือนว่างงาน (ผู้ที่มีงานทำไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) อยู่ที่ 3 ล้านคน และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 ล้านคน สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดถึง 3 เท่าตัว

 

3.การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ไม่เท่าเทียม (K-shaped) ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกจ้างงานเพียง 8% เทียบกับแรงงานในภาคบริการที่มีสูงถึง 52% ที่ส่วนใหญ่ยังเดือดร้อน ความเป็นอยู่ของครัวเรือนจึงเปราะบาง และ 4.เศรษฐกิจไทยถูกกระทบจากโควิด-19 หนักกว่าและจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศในภูมิภาค เนื่องจากไทยพึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวและบริการสูงสุดในเอเชีย คิดเป็น11.5% ของจีดีพี ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลา 3 ปี จากช่วงเริ่มระบาดในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด ขณะที่เอเชียโดยรวมจะใช้เวลาไม่ถึง2 ปี โดยในไตรมาส 1/2564 จีดีพีของไทยอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิดที่ 4.6% ขณะที่เอเชียโดยรวมฟื้นเหนือระดับก่อนโควิดหมดแล้ว

 

ผู้ว่าการแบงก์ชาติยังแนะนำให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท โดยการกู้เงินเพิ่มเติมจะช่วยให้จีดีพีกลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระยะยาวปรับลดลงได้เร็วกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่ม คาดว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ของจีดีพี ในปี 2567 และจะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว เนื่องจากฐานภาษีจะไม่ได้ลดลงจากแผลเป็นของเศรษฐกิจมากนัก

 

⦁เปิดมาตรการช่วยเหลือทางการเงินฉบับล่าสุด


ไม่กี่วันต่อมา ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) มีมติออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม สำหรับเอสเอ็มอี โดย ธปท.ได้ร่วมกับกระทรวงการคลัง ปรับหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูเอสเอ็มอี ขยายวงเงินสินเชื่อให้ลูกหนี้ใหม่ จากเดิมวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท (รวมวงเงินทุกสถาบันการเงิน) ปรับเป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท ขณะที่ลูกหนี้เก่าเงื่อนไขเดิมให้ 30% ของวงเงินแต่ละสถาบัน (ไม่เกิน 150 ล้านบาท) ปรับเป็นให้วงเงิน 30% ของวงเงินแต่ละสถาบัน (ไม่เกิน 150 ล้านบาท) หรือสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท สำหรับลูกหนี้ที่ 30% ของวงเงินเดิมไม่ถึง 50 ล้านบาทรวมไปถึงปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันเพื่อรองรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น โดยปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันรวมสำหรับลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง และคงค่าธรรมเนียมการค้ำประกันรวม โดยลดอัตราจ่ายในช่วง 2 ปีแรก สำหรับลูกหนี้กลุ่มอื่นโดยจะมีประกาศออกมาเร็วๆ นี้

 

สำหรับลูกหนี้รายย่อยนั้น เพื่อบรรเทาภาระการจ่ายชำระหนี้ และเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ ประกอบด้วย สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล โดยให้คงอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิตที่ 5% ต่อปี อีก 1 ปี นอกจากนี้ กลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท จะขยายเพดานวงเงินไม่เกิน 2 เท่าของรายได้ และไม่จำกัดจำนวนผู้ให้สินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับ ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ให้ขยายเพดานวงเงินเป็นรายละไม่เกิน 40,000 บาท และขยายระยะเวลาการชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน

 

ส่วนมาตรการพักชำระหนี้เป็นวงกว้างนั้น ทาง ธปท.ย้ำว่าจะไม่ทำแล้ว โดยจะให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบระยะยาวแทน คำนึงถึงหลักการดังต่อไปนี้ คือ มองสถานการณ์ระยะยาว โดยกำหนดการจ่ายคืนหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ปัจจุบันที่ลดลงมากและทยอยจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้กลับมา สามารถช่วยลูกหนี้จำนวนมากได้เร็ว ตรงจุดให้เหมาะกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละรายที่มีปัญหาและการฟื้นตัวต่างกัน เป็นธรรมกับทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ นอกจากนี้ ต้องไม่สร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม (moral hazard) ให้กับลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบเพื่อให้ความช่วยเหลือไปสู่กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นเป้าหมายที่แท้จริงอย่างได้ผล และรักษาสมดุลและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินโดยรวม

 

อีกทั้ง ธปท.ยังคงความยืดหยุ่นการบังคับใช้เกณฑ์เพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ ประกอบด้วย 1.คงการจัดชั้นชั่วคราว จนถึง 31 มีนาคม 2565 สำหรับลูกหนี้รายย่อย และเอสเอ็มอีที่เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 2.ใช้เกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองอย่างยืดหยุ่นถึงสิ้นปี 2566 หากช่วยเหลือลูกหนี้นอกเหนือจากการขยายเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว และ 3.ขยายเวลาการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เหลือ 0.23% ถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปช่วยลูกหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง

 

⦁ทีดีอาร์ไอสะท้อนช่วยไม่สุดมีกลุ่มตกหล่น


ความเห็นจากนักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นณริฏ พิศลยบุตร ระบุว่า เข้าใจในมุมของ ธปท. ในการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เป็นการตัดสินใจที่ยาก เพราะตอนนี้ธุรกิจมีปัญหากันหมด อย่างมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ถ้าไปช่วยเหลือหมดแบบการพักชำระหนี้ทั่วไป จะเป็นการไปกวาดเอาคนที่ไม่ได้เดือดร้อนมาด้วย กลายเป็นปัญหา moral hazard ในอีกด้านหนึ่งก็มีความจำเป็นอย่างมาก ถ้าเกิดทำไม่ได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีกิจการต้องล้มหายตายจากไป ถ้าทำไม่ดีจะเกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว โดยโจทย์ที่สำคัญคือยังมีกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือ ธปท.ต้องพยายามหาเครื่องมือใหม่ๆ ไม่ใช่ออกแต่มาตรการแบบเดิมๆ ต้องมีการพูดคุยให้มากขึ้น อย่างการร่วมมือกับสถาบันการเงินของรัฐ บูรณาการความร่วมมือกันกับภาครัฐ

 

“มองเศรษฐกิจไทยในระยะ 3 ปี ข้างหน้า ความเสี่ยงส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการท่องเที่ยว แม้ว่าปีนี้จะมีการเปิดพื้นที่นำร่อง อย่างภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แต่ไม่ได้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก ต้องลุ้นว่าปีหน้าจะเปิดประเทศได้มากน้อยแค่ไหน และปี 2566 จะเป็นการวัดผลว่าถ้าจำนวนนักท่องเที่ยวไม่กลับมาแบบเดิม เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบมาก โจทย์สำคัญข้างหน้าคือการฟื้นเศรษฐกิจให้ยั่งยืนอีกครั้ง ในภาวะโลกหลังโควิด” นักวิชาการอาวุโสจากทีดีอาร์ไอ ทิ้งท้าย

 

จะเห็นว่า มาตรการช่วยลูกหนี้ของ ธปท. ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี เพื่อไม่ให้ประชาชนหนี้ท่วม ธุรกิจล้มตาย สะเทือนเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ ให้มืดมนกว่าเดิม!!

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง