รีเซต

ส่งออกมิ.ย. ติดลบ 23.17% ต่ำสุดในรอบ 131 เดือน - ส่วนครึ่งปีแรก หดตัว 7.09%

ส่งออกมิ.ย. ติดลบ 23.17% ต่ำสุดในรอบ 131 เดือน - ส่วนครึ่งปีแรก หดตัว 7.09%
ข่าวสด
24 กรกฎาคม 2563 ( 15:10 )
81
ส่งออกมิ.ย. ติดลบ 23.17% ต่ำสุดในรอบ 131 เดือน - ส่วนครึ่งปีแรก หดตัว 7.09%

 

กระทรวงพาณิชย์ เผยส่งออกเดือนมิ.ย. ติดลบ 23.17% อ่วมต่ำสุดในรอบ 131 เดือน - ส่วนครึ่งปีแรก หดตัว 7.09%

ส่งออกมิ.ย. ติดลบ 23.17% - น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการส่งออกของไทยในเดือนมิ.ย. 2563 ว่า มีมูลค่า 16,444.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 23.17% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงมากที่สุดในรอบ 131 เดือน (ตั้แต่เดือนก.ค. 2552) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 14,833.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 18.05% การค้าเกินดุล 1,610.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 114,342.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 7.09% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 103,642.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 12.62% ส่งผลให้ครึ่งแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 10,700.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง สอดคล้องกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อันเนื่องมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยในเดือนมิ.ย. สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทย หดตัว 9.9% แต่สินค้าอาหาร ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลกและสามารถรักษาอัตราการขยายตัวของการส่งออกภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายในหลายประเทศ โดยสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์เลี้ยง ผักและผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขณะที่ไข่ไก่ขยายตัวในระดับสูงเป็นเดือนที่ 2 หลังจากสามารถส่งออกได้ตั้งแต่เดือนพ.ค. 2563 อย่างไรก็ดี สินค้าที่ยังหดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาด้านอุปทานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และโรคใบด่างมันสำปะหลัง ทำให้ไทยมีปริมาณการส่งออกลดลง ทำให้ครึ่งแรกของปี 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 2.1%

สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 25.1% แต่ยังมีสินค้าที่ขยายตัวยังคงเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เป็นต้น และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ที่ขยายตัวอยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในหลายประเทศ ซึ่งมีกำลังซื้อลดลง ได้แก่ รถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ที่มีการหดตัวต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคในต่างประเทศยังคงมุ่งเน้นการบริโภคสินค้าจำเป็นมากกว่าสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง ในขณะเดียวกัน การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปยังคงหดตัวตามความต้องการใช้น้ำมันที่ยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ส่งผลให้ครึ่งแรกของปี 2563 สินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 7.5%

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2563 ในช่วงที่เหลือของปี น่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่หลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้การใช้จ่ายฟื้นตัว ทั้งนี้ สำหรับการส่งออกทั้งปีของไทย หากส่งออกจากนี้เฉลี่ยเดือนละ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกจะติดลบ 8% แต่ถ้าส่งออกได้มากกว่านี้เดือนละ 21,988 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกมีโอกาสเป็นบวก

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทาย โดยมีปัจจัยกดดันการส่งออก ได้แก่ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อกำลังซื้อที่ลดลงของประชาชนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าหลายประเทศในเอเชียจะเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดแล้วก็ตาม แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดรอบสอง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐ-จีน และจีน-อินเดีย สร้างความไม่แน่นอนต่อนโยบายการค้าและเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง