รีเซต

รอชมเลย! ‘จันทรุปราคา’ ปรากฏบนฟากฟ้า ‘วันลอยกระทง 2565’

รอชมเลย! ‘จันทรุปราคา’ ปรากฏบนฟากฟ้า ‘วันลอยกระทง 2565’
TNN ช่อง16
28 ตุลาคม 2565 ( 09:20 )
188
รอชมเลย! ‘จันทรุปราคา’ ปรากฏบนฟากฟ้า ‘วันลอยกระทง 2565’

วันลอยกระทง 2565 ในปีนี้ตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งนอกจากจะเป็นวันที่มีประเพณีสำคัญของไทยแล้ว ในวันนี้ยังมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ที่สำคัญคือ การเกิด ‘จันทรุปราคา ’ หรือ ‘ราหูอมจันทร์’ ตามคติความเชื่อของคนไทย

การเกิด จันทรุปราคา ในวันลอยกระทง

จากข้อมูลจาก สมาคมดาราศาสตร์ไทย ระบุว่า  ในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ซึ่ง ตรงกับวันลอยกระทง จะเกิดปรากฏการณ์ จันทรุปราคาเต็มดวง บริเวณที่สามารถมองเห็นได้ ได้แก่ ด้านตะวันตกของแอฟริกา ยุโรปตะวันออก อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ เอเชีย ออสเตรเลีย มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรแปซิฟิก 

จันทรุปราคาในครั้งนี้ ดวงจันทร์โคจรอยู่ในกลุ่มดาวแกะ ขณะที่ดวงจันทร์ขึ้นเหนือขอบฟ้าประเทศไทย  ดาวยูเรนัส จะผ่านตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์พอดี ทำให้บางส่วนของโลก รวมทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย สามารถเห็นดวงจันทร์บังดาวยูเรนัสได้

ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา 8 พฤศจิกายน 2565

1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก  เวลา 15:02:15 น. 

2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน  เวลา 16:09:12 น.

3. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง  เวลา 17:16:39 น. 

4 . ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด เวลา 17:59:10 น.

5. สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง เวลา  18:41:39 น.

6. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน เวลา 19:49:05 น.

7. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก เวลา 20:56:11 น.

จันทรุปราคา  หรือ ราหูอมจันทร์ คืออะไร?

ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปทีละน้อยจนดวงจันทร์เข้าไปอยู่เงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก ช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกบางส่วนจะเรียกว่า “จันทรุปราคาบางส่วน” และช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง เรียกว่า “จันทรุปราคาเต็มดวง” จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงเป็นสีแดงอิฐ เนื่องจากได้รับแสงสีแดงซึ่งเป็นคลื่นที่ยาวที่สุด  หักเหผ่านบรรยากาศโลกไปกระทบกับดวงจันทร์

ข้อมูลจาก : สมาคมดาราศาสตร์ไทย / สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ภาพจาก  :  AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง