ไขข้อสงสัย ระบบการรักษา UCEP กับ UCEP Plus แตกต่างกันอย่างไร?
วันนี้ (16 มี.ค.65) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 อธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง UCEP กับ UCEP Plus ไว้ดังนี้
UCEP
เป็นระบบที่รักษาผู้ป่วยวิกฤตใน รพ. ใดก็ได้จนพ้นวิกฤตหรือรักษาครบ 72 ชั่วโมง แล้วส่งต่อ รพ.ตามสิทธิ ซึ่ง รพ.จะเก็บค่าใช้จ่ายจาก สปสช.
UCEP Plus
สำหรับผู้ป่วยวิกฤตโควิดสีเหลืองและสีแดงเท่านั้นที่สามารถรักษาใน รพ. และต้องรักษาจนหายป่วย รพ. จะเก็บค่าใช้จ่ายจาก สปสช. ส่วนผู้ป่วยสีเขียวจะเข้ารักษาในสถานพยาบาล (HI, CI, Hospitel) และเบิกจ่ายค่ารักษาตามสิทธิ
และถ้ามีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นสีเหลืองหรือแดงตามเกณฑ์คัดแยกของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) จะส่งต่อ รพ. ที่มีศักยภาพดูแลและจะสามารถใช้สิทธิเข้ารักษาใน รพ.แต่ถ้าผู้ป่วยและญาติไม่ประสงค์จะรักษาที่ รพ. ที่จัดไว้ ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
การใช้สิทธิ "UCEP Plus" ผู้ติดเชื้อกลุ่ม "อาการสีเหลือง" หรือ "อาการสีแดง" ยังเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลใดก็ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นค่าห้องพิเศษหรืออาหารพิเศษนอกเหนือสิทธิประโยชน์
ผู้ป่วยสีเหลือง ที่มีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย ปอดอักเสบ ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน เด็ก มีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนม หรือทานอาหารน้อยลง กลุ่ม 608 ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ อ้วน น้ำหนักเกิน 90 กก.
- การรักษา รักษาฟรีใน รพ. ตามสิทธิหรือ UCEP PLUS รักษาฟรีทุก รพ.ทั้งภาครัฐและเอกชน
- ช่องทางติดต่อ สปสช. 1330 กด 14 (ขอรับเตียง) สพฉ. 1669 กรม สบส. 1426 (ขอรับเตียงในระบบ 1330) สอบถามสิทธิ UCEP PLUS : 02-872-1669
ผู้ป่วยสีแดง ที่มีอาการหอบเหนื่อย พูดไม่เป็นประโยคขณะสนทนา แน่นหน้าอก หายใจเจ็บหน้าอก ปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะช็อก มีภาวะโคม่า ซึมลง มีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชั่วโมง ค่าออกซิเจนน้อยกว่า 94%
- การรักษา รักษาฟรีใน รพ.ตามสิทธิหรือ -UCEP PLUS รักษาฟรีทุก รพ.ทั้งภาครัฐและเอกชน
- ช่องทางติดต่อ สปสช. 1330 กด 14 (ขอรับเตียง) สพฉ. 1669 กรม สบส. 1426 (ขอรับเตียง ในระบบ 1330)
ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 , กระทรวงสาธารณสุข
ภาพจาก แฟ้มภาพ โดย AFP