รีเซต

'กมธ.งบฯ' ชง ขบ. วางแผนใช้รถอีวี เจอจี้ถาม รถสาธารณะลดเที่ยววิ่ง จนปชช.โวย

'กมธ.งบฯ' ชง ขบ. วางแผนใช้รถอีวี เจอจี้ถาม รถสาธารณะลดเที่ยววิ่ง จนปชช.โวย
มติชน
23 มิถุนายน 2565 ( 14:17 )
124
'กมธ.งบฯ' ชง ขบ. วางแผนใช้รถอีวี เจอจี้ถาม รถสาธารณะลดเที่ยววิ่ง จนปชช.โวย

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 23 มิถุนายน ที่รัฐสภา นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช พลังประชารัฐ (พปชร.) นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และนายเขตรัฐ  เหล่าธรรมทัศน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ร่วมแถลงถึงผลการประชุมร่าง พ.ร.บ.งบ 2566 ของวันที่ 22 มิถุนายน

 

นายสัณหพจน์ กล่าวว่า กมธ.งบประมาณฯปี 2566 ใช้เวลาในการพิจารณางบประมาณปี 2566 มาแล้วทั้งหมด 11 วัน รวม 101 ชั่วโมง ซึ่งมีหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณาไปแล้ว รวม 3 กระทรวง 7 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 11.1 ของหน่วยงานที่ต้องพิจารณาทั้งหมด ทั้งนี้ในที่ประชุม กมธ.ฯ ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ 8 คณะ และคณะอนุกรรมาธิการข้อสังเกตอีก 1 คณะ

 

ด้าน นพ.บัญญัติ กล่าวว่า ส่วนในการพิจารณางบประมาณของ กรมขนส่งทางบก งบประมาณทั้งสิ้น 3,548,811,500 บาท ที่ประชุมยังคงหารือเกี่ยวกับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยกมธ.ฯ กังวลว่า หากประชาชนเปลี่ยนการใช้รถยนต์พลังงานเชื้อเพลิง มาเป็นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด เมื่อมียานยนต์ไฟฟ้าเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน หน่วยงานจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร นอกจากนี้ ยังมีกมธ.ฯ บางคน แสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องของไฟช็อต จากยานยนต์ไฟฟ้า จึงได้เสนอแนะว่า หน่วยงานควรมีการศึกษาและเตรียมความพร้อมการเกิด ไฟไหม้หรือไฟช็อตจากยานยนต์ไฟฟ้าด้วย และควรจัดทำสัญลักษณ์เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทราบว่า ยานยนต์ใดเป็นยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้ง ควรจัดฝึกอบรมในระดับท้องถิ่นเกี่ยวกับการตรวจสอบ และการดับไฟจากแบตเตอรี่ไฟฟ้าฉุกเฉิน สำหรับนักกู้ภัยหรือผู้ประสบภัยจากรถยนต์ไฟฟ้าเพราะ ไฟไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้า ดับได้ยากกว่าไฟทั่วไป

 

 

นพ.บัญญัติ กล่าวว่า ด้านผู้แทนจากกรมขนส่งทางบก ได้ชี้แจงว่า หน่วยงานให้ความสำคัญในประเด็นนี้อย่างมาก โดยได้มีการออกประกาศและระเบียบไปแล้วว่า หากเป็นยานยนต์ไฟฟ้าจะต้องมีการติด เครื่องหมาย ตัว “E” เพื่อให้หน่วยกู้ภัยหรือรถพยาบาลฉุกเฉินทราบได้ว่า รถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุนั้นเป็น ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหากจับหรือแตะต้องขั้วแบตเตอรี่อาจจะเกิดอันตรายหรือ เกิดไฟลุกไหม้ได้ อีกทั้งยังได้มีการจัดอบรมบุคลากรตรวจสภาพยานยนต์และวิศวกรของ หน่วยงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ และจะมีการจัดอบรมให้กับภาคเอกชนเพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าด้วย รวมทั้งจะมีการรับสมัครวิศวกรไฟฟ้าเพิ่มเติม เพราะบุคลากรของหน่วยงานส่วนใหญ่ เป็นวิศวกรเครื่องกล

 

นพ.บัญญัติ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในการพิจารณางบประมาณของกรมการขนส่งทางบก ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับ ข้อร้องเรียนของประชาชน เรื่องของจำนวนรถประจำทางสาธารณะมีการให้บริการน้อยลง โดยมี กมธ.ฯ บางคน สอบถามว่า หลังจากมีการปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง จำนวนรถโดยสารที่ออกให้บริการประชาชนลดลงอย่างมาก และในตอนค่ำไม่มีรถโดยสารวิ่งให้บริการ โดยลดลงไปเกือบครึ่งจากปี 2562 แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเกิดจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 แต่รถโดยสารสาธารณะเป็นบริการจากภาครัฐที่ประชาชน จำเป็นต้องใช้บริการ หน่วยงานมีแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร รวมทั้งกรณีการปรับเปลี่ยน หมายเลขประจำทางของรถเมล์ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเกิดความสับสนในหมู่ประชาชนในระยะนี้ นอกจากนี้ การได้รับใบอนุญาต หน่วยงานมีเงื่อนไขในเรื่องของจำนวนการเดินรถในแต่ละวันหรือไม่ เพราะหลังจากภาคเอกชนได้ใบอนุญาตแล้ว รถโดยสารที่ให้บริการประชาชนกลับมี จํานวนน้อยลง หรือในตอนค่ำากลับไม่มีรถโดยสารให้บริการ

 

ทั้งนี้ ผู้แทนของกรมการขนส่งทางบก ชี้แจงว่า หน่วยงานกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาอยู่ โดยในสัปดาห์หน้าจะหารือกับภาคเอกชนเพื่อปรับรูปแบบการดำเนินงานให้ภาคเอกชนที่ร่วมเดินรถประจําทาง สามารถประกอบกิจการเพื่อบริการประชาชนต่อไปได้ นอกจากนี้ หน่วยงานจะมีการจัดโซนนิ่งและเลขหมายของรถโดยสารประจำทางใหม่ เป็น 4 โซน เพื่อให้ผู้โดยสารทราบได้ว่า รถประจำทางแต่ละโซนมีต้นทางอยู่ที่ทิศทางหรือโซนใด แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน การดำเนินการในช่วงแรกอาจสร้างความสับสนให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม หน่วยงานกำลังจัดทำแอพพลิเคชั่น เพื่อให้ประชาชนทราบว่า รถโดยสาร ประจำทางในกรุงเทพมหานครมีกี่สาย จะมีรถสายใดผ่านถนนที่ประชาชนอยู่บ้าง และต้องรอกี่นาที รวมทั้งหากประชาชนต้องการเดินทางไปที่ใด สามารถบอกได้ว่า ต้องขึ้นรถโดยสารสายใด

 

นอกจากนี้ รถโดยสารที่จะเดินรถใหม่จะต้องติดตั้งระบบ GPS ด้วย และมีระบบ AI ที่กำกับ ดูแลจํานวนผู้โดยสาร บอกตำแหน่งของรถและเวลาที่รถมาถึงได้ โดยกระบวนการทั้งหมดจะสามารถ ใช้ได้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า สำหรับประเด็นเรื่องการกำหนดเงื่อนไขจำนวนรถและจำนวนเที่ยว หลังจากเอกชนได้ใบอนุญาตแล้ว รถโดยสารที่ให้บริการกลับมีจำนวนรถ จำนวนเที่ยว ลดลงนั้น การออกใบอนุญาต ประกอบการขนส่งรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลของหน่วยงานจะ กำหนดเงื่อนไข จำนวนเที่ยว จำนวนรถ ในการเดินทางแต่ละวันภายในระยะเวลา 05.00 – 22.00 นาฬิกา โดยกำหนดรถโดยสารปรับอากาศและหรือรถโดยสารธรรมดา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง