ส.ภัตตาคาร วอนรัฐไฟเขียววงเงิน 3หมื่นล้าน ช่วยดับร้อนร้านอาหารขาดเงินทั่วประเทศ
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบมาตรการสินเชื่ออิ่มใจ เพื่อช่วยผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ผ่านการปล่อยสินเชื่อของธนาคารออมสิน แต่ขณะนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารได้รับความเดือดร้อนในจำนวนที่สูงสะสมไปทั่วประเทศแล้วหลายหมื่นราย และจากที่ทำการสำรวจความสำรวจความต้องการเงินทุนหรือเงินหมุนเวียนเพื่อการประกอบการทั่วประเทศต้องมีวงเงินช่วยเหลือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยล่าสุดสมาคมฯได้เข้าหารือธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาด?กลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)และนำเสนอแนวทางปฎิบัติได้จริงในการพิจารณาปล่อยกู้เพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ โดยให้ธนาคารผ่อนปรนการดูหลักฐานการปล่อยกู้จากเดิม โดยขอให้พิจารณาจากเป็นผู้ที่เสียภาษีตามภ.ร.ง.90 หรือ มีสัญญาเช่า หรือ มีทะเบียนการค้า นอกจากดูบัญชีรายได้หรือเครดิตบูโรหรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน นอกจากนี้ร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ยื่นขอรัฐบาลขอเพิ่มวงเงินปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ คาดว่าจะมีความชัดเจนในเดือนกรกฎาคมนี้ และแนวทางการปรับโยกเงินคงค้างจากพรก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทที่เหลือประมาณ 3 แสนล้านบาท มาเข้าโครงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในระบบประกันสังคม ที่มีอยู่ในระบบประมาณ 5 ล้านคน ผ่านกระทรวงแรงงาน เบื้องต้นทราบว่ารัฐบาลรับเรื่องและเตรียมจะใช้งบประมาณ 6 หมื่นล้านบาทถึง 1 แสนล้านบาทในการเยียวยาเอสเอ็มอีในระบบที่ประสบปัญหาจากโควิด-19 ต่อเนื่อง 6 เดือน เริ่มเดือนสิงหาคมนี้
” ยังมีร้านค้าปิดตัวหรือเตรียมลดขนาดพื้นที่อีกมาก เพราะขาดรายได้และเงินทุน วงเงิน 3 หมื่นล้านบาทถือว่าเหมาะสมที่จะออกมาช่วยผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วประเทศ ยิ่งตอนนี้มีกระแสข่าวลือว่ารัฐบาลกำลังพิจารณาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง เนื่องจากผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังสูง 5-6 พันคนต่อวัน และจำนวนประชาชนฉีดวัคซีนยังไม่ได้มากเท่าที่ควร ทำให้เกิดความวิตกในวงกว้างต่อการทำธุรกิจ และส่งผลจิตวิทยาการใช้จ่ายและการค้าขายซบเซา ดังนั้น เพื่อลดความสับสนอยากให้รัฐบาลเร่งการประชาสัมพันธ์ในสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ ทั้งเรื่องการจะออกมาตรการ ซึ่งหากมีการล็อกดาวน์อีกครั้งจริง รัฐก็ควรเร่งออกมาตรการเยียวยา อย่างหนึ่งที่เราเสนอไปก่อนหน้านี้ คือ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณสั่งซื้อข้าวกล่องจากร้านค้าทั่วไป และนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนและผู้เดือดร้อน จะทำให้ผู้ประกอบร้านอาหารและค้าขายวัตถุดิบประกอบอาหาร ยังมีรายได้ประคองตัว สมาคมยินดีเป็นแกนกลางประสานงาน พร้อมกับรัฐเร่งให้กู้เงินเพื่อใช้หมุนเวียนการซื้อวัตถุดิบรายวัน ตอนนี้ร้านค้าที่มีโต๊ะนั่งทานก็ต้องการเงินหมุนเวียน 2-5 แสนบาทต่อราย ส่วนรายย่อยหรือแผงลอย ต้องการ 5 พันถึง 1 หมื่นบาท เพื่อพออยู่ได้กับจำนวนคนซื้อลดลงและรัฐหรือหน่วยงานช่วยเหลืออีกทางโดยการสั่งซื้อโดยตรง โดยในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ ตนจะเข้าหารือกับผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ขอให้ผ่อนปรนการใช้แอพพลิเคชั่นในโครงการคนละครึ่งกับการสั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์มเพื่อให้การใช้โครงการได้วงกว้างและเป็นประโยชน์กับผู้ค้าขายได้มากขึ้น ” นางฐนิวรรณ กล่าว
นางฐนิวรรณ กล่าวต่อว่า ในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องออกมาชี้แจงรายวันต่อแผนการสั่งซื้อ นำเข้า กระจายฉีควัคซีน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีนทางเลือกหรือวัคซีนหลากยี่ห้อให้มากขึ้น ซึ่งจากที่ได้รับทราบข้อมูลจากนักธุรกิจชาวจีนว่า ทางรัฐบาลจีนประกาศคนจีนในประเทศจีนจะได้รับการฉีดวัคซีนครบทุกคนในเดือนสิงหาคมนี้ รัฐบาลไทยก็น่าจะเจรจาขอความช่วยเหลือป้อนวัคซีนเบื้องต้น 50 ล้านโดสเพื่อนำมาฉีดให้คนไทยในเดือนกันยายนเป็นต้นไป หากดำเนินการได้ตามนี้จะส่งผลให้คนไทยอุ่นใจและมั่นใจต่อการเปิดประเทศ การกลับมาทำธุรกิจและเศรษฐกิจก็จะพื้นได้เร็วขึ้น อีกทั้ง ขอยืนยันว่า ตนไม่ได้มีการเสนอรัฐเรื่องขอให้ลดเงินเดือนข้าราชการหรือไม่จ่ายบำนาญข้าราชการ รวมถึงไม่เห็นด้วยที่จะขัดขืนฝ่ามาตรการรัฐในการห้ามนั่งกินในร้าน