รีเซต

ภัยแล้งกระทบอาชีพทำนาปี 'อุตรดิตถ์' หายไปกว่า 70%

ภัยแล้งกระทบอาชีพทำนาปี 'อุตรดิตถ์' หายไปกว่า 70%
มติชน
18 กรกฎาคม 2563 ( 12:53 )
79
ภัยแล้งกระทบอาชีพทำนาปี 'อุตรดิตถ์' หายไปกว่า 70%

ภัยแล้งกระทบอาชีพทำนาปี ‘อุตรดิตถ์’ หายไปกว่า 70% สภาเกษตรกร ซัดชลประทานใส่เกียร์ว่างทำงาน

 

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม นายบัญชา อรุณเขตต์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า เข้าสู่ช่วงกลางฤดูฝนแล้ว แต่ปริมาณฝนก็ยังไม่ตกลงเท่าที่ควร ส่งผลต่อการทำนาปีที่อาศัยน้ำจากน้ำฝนอย่างเดียว หรืออยู่นอกเขตชลประทานอย่างมาก จากจำนวนที่เกษตรกรมาลงทะเบียนพื้นที่ปลูกข้าวนาปีราว 500,000 ไร่เศษทั้งจังหวัด แต่การทำนาปีปีนี้มีพื้นที่ปลูกลดลงมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เหลือพื้นที่ทำนาปีเพียง 100,000 ไร่เศษเท่านั้น โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวอำเภอทางตอนเหนือของจังหวัด ซึ่งไม่ได้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ โดยมีเพียงเกษตรกรในพื้นที่ อ.ตรอน อ.พิชัยเท่านั้น ที่สามารถทำการเกษตรหรือทำการปลูกข้าวได้ เพราะอยู่และใช้น้ำจากแม่น้ำน่านที่ได้รับการระบายน้ำออกจากเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อผลักดันน้ำเค็มและเพื่อการอุปโภคบริโภค

 

นายบัญชา กล่าวว่า กล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่า เป็นปีแรกที่ชาวนาไม่สามารถเริ่มต้นฤดูกาลทำนาได้หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ยังเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปีไม่ได้ แต่หากช่วงเดือนสิงหาคมมีฝนตกลงมาก็อาจจะสามารถเริ่มทำการเพาะปลูกกันได้ แต่ก็ต้องสุ่มเสี่ยงต่อการเสียหาย เพราะการทำนาข้าว 1 ครั้ง จะต้องใช้เวลาเริ่มปลูกจนเก็บเกี่ยวข้าวราว 4 เดือน หากฝนไม่ตกยาวไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนก็จะเกิดความเสียหายอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันการชดเชยหรือการดูแลจากหน่วยงานทางราชการในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ ก็ยังไม่มีการขับเคลื่อนไปในทิศทางที่เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามชาวนาที่ไม่ได้ทำนาปีปีนี้ ก็ไม่สามารถทำอาชีพอย่างอื่นได้ ทำได้เพียงการอยู่นิ่ง ๆ เพื่อไม่ให้เม็ดเงินในกระเป๋าต้องลดน้อยลงเท่านั้น อีกทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจในครอบครัวของเกษตรกรย่ำแย่ลดอีก

 

“การทำงานของชลประทานจังหวัด ก็ยังไม่มีแบบมีแผนที่จะช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีน้ำทำนาออกมาเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อาศัยระบบน้ำจากชลประทานหลายพื้นที่ก็ยังไม่สามารถใช้น้ำจากระบบชลประทานได้ ส่วนนอกเขตชลประทานเกษตรกรบางส่วนก็ลงทุนเจาะบ่อบาดาลเพื่อสูบน้ำขึ้นมาทำนาปีกันเอง บางพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็ให้การดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพื่อให้เกษตรกรได้ทำนาปี สิ่งที่จะตามมาเป็นผลกระทบต่อเนื่องกันคือ เมื่อข้าวนาปีไม่สามารถทำได้ แม้ราคาข้าวเปลือกจะแพงเท่าไหร่แต่เกษตรกรก็ไม่มีข้าวเปลือกที่จะขาย ขณะเดียวกันหากข้าวเปลือกที่จะเข้าสูโรงสีเพื่อผลิตเป็นข้าวสารออกมา ราคาข้าวสารก็อาจจะแพงขึ้นมาอย่างแน่นอน สุดท้ายคนที่จะรับกรรมคือ ผู้ที่ซื้อข้าวสารบริโภคจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นายบัญชา กล่าว

 

ด้านนายนราวัฒน์ สร้อยสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านเกาะตาเพชร หมู่ 3 ต.ไผ่ล้อม อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า พื้นที่ปลูกข้าวใน ต.ไผ่ล้อม และ ต.ทุ่งยั้ง ปกติจะมีพื้นที่ราว 20,000 ไร่เศษ แต่ปีนี้ไม่มีฝนตกลงมาเลย เกษตรกรที่อาศัยน้ำจากน้ำฝนทำนาปีก็ไม่ได้ทำการเพาะปลูก ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวนาปีทั้ง 2 ตำบลเหลือราวไม่ถึง 2,000 ไร่ โดยพื้นที่ 2,000 ไร่ที่สามารถปลูกได้ก็อาศัยน้ำจากจากการเจาะบ่อบาดาลที่เกษตรกรลงทุนกันเอง อาศัยน้ำจากระบบชลประทานที่สูบด้วยโรงสูบน้ำไฟฟ้าก็ไม่สามารถสูบได้ เนื่องจากการระบายน้ำของเขื่อนสิริกิติ์มีเพียง 13 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทำให้ระดับน้ำยังต่ำกว่าเครื่องสูบน้ำที่จะสูบขึ้นมาได้ ขณะเดียวกันการทำงานของชลประทานจังหวัดก็เพิ่งจะเสนอแผนต่อทางจังหวัดว่า จะแก้ไขปัญหาอย่างไรให้กับเกษตรกร ซึ่งตอนนี้มันช้าไปแล้ว ทำไมไม่วางแผนตั้งแต่ก่อนที่จะทำนา

 

“ก่อนหน้านี้ได้เสนอแผนการแก้ไขปัญหาการทำนาของเกษตรกรในพื้นที่ ต.ไผ่ล้อม คือการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากทางราชการ เพื่อนำมาเจาะบ่อบาดาลราว 100 บ่อ เพื่อสูบน้ำขึ้นมาทำการเพาะปลูกข้าวนาปี ซึ่งแต่ละบ่อนั้นจะใช้งบประมาณราว 90,000 บาทเศษ รวมวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมด ส่วนค่ากระแสไฟฟ้าที่จะสูบน้ำจากบ่อบาดาลขึ้นมาใช้นั้น เกษตรกรจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง โดยรัฐไม่ต้องสนับสนุนเรื่องนี้ โดยแผนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เสนอไปยัง อ.ลับแลแล้ว เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป หากได้ก็จะเป็นผลดีกับชาวนาที่จะมีน้ำทำนา หากไม่ได้ก็ต้องลดทำนากันต่อไป” นายนราวัฒน์ กล่าว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง