สรรพสามิตเตรียมชงครม. ของบเพิ่ม 7 พันล้าน อุดหนุนมาตรการรถอีวี 3.5 หมื่นคัน
#ทันหุ้น สรรพสามิตเตรียมชงครม.ของบเพิ่ม 7 พันล้าน อุดหนุนมาตรการรถอีวี 3.5 หมื่นคัน เผยขณะนี้มีค่ายรถยนต์ลงทุนตั้งโรงงานในไทยแล้วคิดเป็นวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท เตรียมผลิตรถอีวีตามเงื่อนไข 1 แสนคัน ชี้เป็นการสร้างฐานผลิตยานยนต์สมัยใหม่ในไทย
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมสรรพสามิตเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ เพื่อนำมาใช้ในการอุดหนุนโครงการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)เพิ่มอีก7,000 ล้านบาท รองรับการอุดหนุนจำนวนรถอีวี 3.5 หมื่นคัน
“ที่ผ่านมา กรมฯจ่ายเงินอุดหนุนรอบแรกไปแล้ว 7,000 ล้านบาท คิดเป็นรถอีวี 4 หมื่นคัน ซึ่งรวมแล้วใช้เงินอุดหนุนรวมประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท”
สำหรับมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวีนั้น รัฐบาลวางเป้าหมายว่า ปี 2573 ต้องมีรถไฟฟ้า 30% ของฐานการผลิตรถยนต์ทั้งหมด โดยกรมฯอยากให้ฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามาอยู่ในประเทศไทย เช่นเดียวกันกับฐานการผลิตรถยนต์สันดาป กรมฯจึงได้ออกมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV 3.0) และมาตรการEV 3.5 ในปัจจุบัน
มาตรการ EV 3.0 ที่ดำเนินการเมื่อปี 2565-2566 เริ่มเห็นทิศทางที่เปลี่ยนไปชัดเจน โดยรัฐบาลได้ลดอัตราภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2% และรัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนให้ คันละ 1.5 แสนบาท แลกเงื่อนไขจะต้องผลิตรถยนต์ชดเชยจากในประเทศไทย แต่ในช่วงแรกให้สามารถนำเข้ารถอีวีได้ ซึ่งปัจจุบันมี 23 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ
ขณะที่ ปี 2568 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จะต้องผลิตชดเชยตามเงื่อนไข ขณะนี้เริ่มเห็นการเปิดโรงงาน และปัจจุบันมีโรงงานเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว 4 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการรักษาฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย
“ตามเงื่อนไขการผลิตรถไฟฟ้าชดเชยรถที่นำเข้ามา ในปี 2565-2566 มีทั้งหมดประมาณ 1 แสนคันฉะนั้น ปี 2567 ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย และผลิตรถอีวีให้ทันตามเงื่อนไข โดยหากผลิตทันในปีนี้ ทำเพียง 1 เท่า แต่ถ้าตั้งโรงงานไม่ทัน ปี 2568 ต้องผลิต 1.5 เท่า นี่จะทำให้เกิดฐานการผลิตในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม คาดว่าค่ายรถจะผลิตคืนทันปีแรก 8-9 หมื่นคัน”
นอกจากนี้ กรมฯยังระบุว่า ในปี 2569 จะต้องมีการผลิต หรือประกอบแบตเตอรี่ในประเทศไทยเนื่องจากรถยนต์อีวีใช้ส่วนประกอบหลัก คือ แบตเตอรี่ ฉะนั้น อุตสาหกรรมแบตเตอรี่จะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นเดียวกัน โดยขณะนี้มีเงินลงทุนสำหรับแบตเตอรี่แล้ว 2.5 หมื่นล้านบาท
“หากเอาแบตเตอรี่ชั้นสูงมา การผลิตระดับเซลล์ จะต้องเอาพาร์ทต่างๆ ของรถอีวีมาผลิตด้วย เช่น ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ในรถอีวี การปรับเกียร์ มอร์เตอร์ เป็นต้น ตอนนี้ก็มีเม็ดเงินเตรียมลงทุนในระบบดังกล่าว ที่จะเข้ามาในประเทศไทยอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท”
ขณะที่ มาตรการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า หรือ EV 3.5 ยังคงสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพราะค่ายรถยนต์บางค่ายยังเข้าร่วมมาตรการไม่ทัน ซึ่งปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ร่วมมาตรการ และเซ็นสัญญากับกรมเพิ่มอีก8 ราย รวมกับมาตรการ EV 3.0 ขณะนี้มีค่ายรถที่เข้าร่วมมาตรการรวมประมาณ 30 ราย
“มาตรการ EV 3.5 เริ่มในปี 2567 โดยเราให้เงินอุดหนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าลดลง เหลือสูงสุด 1 แสนบาท/คัน จากมาตรการ EV 3.0 ได้รับเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท/คัน ส่วนในปี 2568 เราจะลดเงินอุดหนุนเหลือ 7.5 หมื่นบาท/คัน และอีก 2 ปีต่อปีจะเหลือ เงินอุดหนุน 5 หมื่นบาท/คัน และจบมาตรการ ซึ่งเป็นการรักษาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เกิดขึ้น”
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าภาพรวมมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า เป็นการรองรับอุตสาหกรรมใหม่ หากเราไม่ทำเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน จากอนาคตเราเคยเป็นท็อป 10 ของโลก ก็อาจจะไม่เหลือเลย ขณะเดียวกัน แม้ว่ารายได้จากการจัดเก็บภาษีรถยนต์อีวีจะลดลงจากการดำเนินมาตรการ แต่ประโยชน์ที่เกิดในประเทศ คือฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่
“ปัจจุบันประเทศไทยผลิตรถสันดาปปีละ 1.6-1.8 ล้านคัน ครึ่งหนึ่งขายในประเทศ ครึ่งหนึ่งเป็นฐานการส่งออก และตอนนี้ค่ายรถยนต์ก็ได้ปรับตัว โดยเตรียมผลิตรถยนต์พวงมาลัยซ้าย เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกรถอีวี ไปประเทศต่างๆ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจโลก ที่เกิดการกีดกันทางการค้า ฉะนั้น ไทยจะคว้าโอกาสได้จากนโยบายนี้”