รีเซต

ยูเนสโกยกย่อง 'ป่าชาเก่าแก่' ในยูนนาน แหล่งมรดกโลกแห่งใหม่

ยูเนสโกยกย่อง 'ป่าชาเก่าแก่' ในยูนนาน แหล่งมรดกโลกแห่งใหม่
Xinhua
18 กันยายน 2566 ( 16:23 )
50

คุนหมิง, 18 ก.ย. (ซินหัว) -- ช่วงค่ำคืนวันอาทิตย์ (17 ก.ย.) ผู้คนของหมู่บ้านบนภูเขาห่างไกลในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน พากันปรบมือแสดงความยินดีหลังจากรับทราบข่าวว่าป่าชาผืนเก่าแก่ของพวกเขา ได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก ณ การประชุมครั้งที่ 45 ของคณะกรรมการมรดกโลกแห่งยูเนสโกรายงานระบุว่าประชาชนจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์สวมใส่ชุดเสื้อผ้าพื้นเมืองร่วมเต้นระบำรอบกองไฟ เพื่อฉลองวาระ "ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมของป่าชาเก่าแก่แห่งภูเขาจิ่งม่าย" ในเมืองผู่เอ่อร์ของอวิ๋นหนาน กลายเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งยูเนสโกลำดับที่ 57 ของจีน และแหล่งมรดกโลกด้านวัฒนธรรมชาแห่งแรกของโลกแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่นี้ครอบคลุมป่าชาโบราณ 5 ผืน พื้นที่รวม 18,000 หมู่ (ราว 7,500 ไร่) และหมู่บ้าน 9 แห่ง ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยรวมกันมากกว่า 5,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวกลุ่มชาติพันธุ์ปู้หล่างและกลุ่มชาติพันธุ์ไท โดยภูเขาจิ่งม่ายมีต้นชาโบราณสภาพดีเยี่ยมเติบโตอยู่มากมายและสามารถสืบย้อนประวัติศาสตร์การปลูกชาที่นี่ของมนุษย์ได้กว่า 1,000 ปีโจวเทียนหง รองผู้อำนวยการสำนักบริหารการอนุรักษ์ป่าชาโบราณแห่งภูเขาจิ่งม่ายในเมืองผู่เอ่อร์ กล่าวว่าจิ่งม่ายเป็นหนึ่งในแหล่งป่าปลูกชาโบราณขนาดใหญ่ที่สุดของโลก มีต้นชาอายุเกิน 100 ปี อยู่มากกว่า 1 ล้านต้น โดยแหล่งมรดกจิ่งม่ายถือเป็นเครื่องสะท้อนต้นกำเนิด พัฒนาการ และการแพร่กระจายของวัฒนธรรมชาจีนบรรพบุรุษของชาวปู้หล่างและชาวไทได้ตั้งรกรากบนภูเขาจิ่งม่าย นำสู่การค้นพบคุณค่าของชาและผสมผสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ขณะทายาทลูกหลานสานต่อการจัดการเพาะปลูกชาโบราณตามขนบธรรมเนียม สงวนระบบนิเวศด้วยหลักการรักษาป่าชาดั้งเดิมครึ่งหนึ่ง ปลูกใหม่ครึ่งหนึ่งช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภูเขาจิ่งม่ายได้รักษาความหลากหลายทางชีวภาพอันยอดเยี่ยม พร้อมสนับสนุนการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์และการปลูกต้นไม้ ชาวบ้านที่นี่จะเพาะปลูกป่าชาโบราณโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลง เพราะต้นชาอาศัยสารอาหารจากป่าฝนในการเติบโต และปรับใช้วิธีธรรมชาติในการป้องกันโรคพืชและแมลง เช่น ปลูกต้นการบูรไล่แมลงโจวเสริมว่าความพยายามยื่นขอขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกมานาน 13 ปี ได้ผลักดันรัฐบาลท้องถิ่นปรับปรุงการกำกับตรวจสอบการคุ้มครองป่าชาหลายแห่ง นำสู่การบังคับใช้หรือแก้ไขกฎเกณฑ์และระเบียบข้อบังคับมากกว่า 20 รายการ รวมถึงบูรณะสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานผลสำรวจจากสำนักบริหารป่าไม้และทุ่งหญ้าแห่งอวิ๋นหนาน พบว่าอวิ๋นหนานมีป่าชาที่มีต้นชาอายุเกิน 100 ปี ครอบคลุมพื้นที่ 910,000 หมู่ (ราว 3.79 แสนไร่) มีต้นชาล้ำค่าเติบโตรวมกันอยู่ราว 54 ล้านต้น ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้ครองสัดส่วนร้อยละ 97 ของป่าชาทั้งหมดภายในประเทศอวิ๋นหนานมีพื้นที่เพาะปลูกชารวม 7.49 ล้านหมู่ (ราว 3.12 ล้านไร่) ในปี 2022 และผลผลิตวัตถุดิบชารายปีอยู่ที่ 5 แสนตัน โดยผลิตภัณฑ์ชาจากอวิ๋นหนานถูกส่งออกไปยังกว่า 30 ประเทศและภูมิภาคของโลก ขณะเทคนิคแปรรูปชาแบบดั้งเดิมและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในจีนได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติแห่งยูเนสโกเมื่อปีก่อนหยางเต๋อชง รองผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของมณฑลอวิ๋นหนาน เผยว่าการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกแห่งยูเนสโกในด้านวัฒนธรรมชาทั้งสองรายการจะกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชา นำสู่การส่งเสริมการพัฒนา การสืบสาน และการแพร่กระจายของชาและวัฒนธรรมชาจีนในระดับสากล

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง