วิจัยเผย "Gen Z" พร้อมเปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใหญ่ “ที่รู้จริง” ไม่ใช่เสแสร้ง | Exclusive
“Gen Z” เป็นประเด็นพูดถึงบ่อยครั้งในเวลานี้ โดยเฉพาะในเรื่อง “การปฏิบัติงาน (Workforce)” ที่มักจะประสบปัญหากระทบกระทั่งทางความคิดกับ ผู้ใหญ่ที่เป็น Babyboomers, Gen X หรือ Gen Y ไม่ว่าจะ ในแง่ของการวางตัว การแสดงออก หรือการมีช่องว่างระหว่างกัน เพราะอย่าลืมว่า Gen Z กำลังเติบโตขึ้นมาเป็นแรงงานมากขึ้น
หัวหน้างานจำนวนไม่น้อย มักให้เหตุผลว่า Gen Z นเป็นแรงงานที่เรียกร้อง “สิทธิเยอะ” วางตนเองเป็นที่ตั้ง ไม่พัฒนา ไม่รับฟัง ทำตามใจตนเอง เลี่ยงงานหนัก รักสบาย หรือกระทั่งเกิดสภาวะที่ศัพท์วัยรุ่นเรียกว่า “ติสท์” หรือมีอารมณ์ศิลปินในที่ทำงาน
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น อาจไม่เป็นความจริง เพราะงานศึกษาหนึ่งเปิดเผยว่า ในด้านสภาวะจิตใจแล้ว Gen Z “เปิดกว้าง” รับฟังผู้หลักผู้ใหญ่ไม่แตกต่างจาก Gen ก่อน ๆ เพียงแต่ว่าผู้ให้คำแนะนำหรือหลักคำสอนนั้นจะต้อง “รู้ลึกรู้จริง”
สอนได้ แต่ต้องรู้จริง
งานศึกษา (GERHARDT และคณะ, 2021) ได้ชี้ให้เห็นว่า Gen Z เติบโตมากับโลกของอินเทอร์เน็ต เมื่อพวกเขาไม่ทราบสิ่งใดอย่างถ่องแท้ พวกเขาจะไม่เข้าหาผู้ผู้ใหญ่ แต่จะเข้า Google หรือ Reddit เพื่อหาคำตอบด้วยตนเอง แน่นอน พวกเขาคาดหวังว่า ในพื้นที่ของการทำงาน เวลาต้องอธิบายอะไร ก็ต้องให้ชัดเจนและเข้าใจง่าย
แต่จริง ๆ แล้ว พื้นที่การทำงานกลับไม่ตอบโจทย์ความต้องการนี้ เพราะเต็มไปด้วยความยุ่งยากและการเข้าถึงผู้คนได้ยาก อาทิ การเล่นการเมืองในองค์กร การมีพรรคพวก การให้ท้ายผู้ที่ทำผิดพลาด
ตรงนี้ ทำให้ Gen Z จำนวนไม่น้อย ตัดสินใจเบือนหน้าหนีจากการรอคำตอบ หรือขอคำแนะนำจากกผู้ใหญ่ และหันหน้าเข้าหาอินเทอร์เน็ต เพราะรู้สึกว่าพึ่งพาได้มากกว่า
หรือก็คือ แท้จริง Gen Z มีจิตใจที่ต้องการ “ฟังคำแนะนำ” อยู่ ไม่ได้ปิดกั้นตัวเอง ไม่อยากรับรู้ และเชื่อเท่าที่จะเชื่อ อย่างที่ถูกสังคมเหมารวม แต่นั่นเป็นเพราะ พวกเขาคาดหวังความชัดเจนจากผู้ใหญ่ไม่ได้ จึงต้องหาข้อมูลและข้อเท็จจริงด้วยตนเอง
“โลกของการทำงานไม่เคยเปลี่ยนไป แต่ Gen Z ต้องการที่จะเลือกทางเดินในบรรยากาศงานที่เขาอยากทำและรู้สึกสบายใจเป็นที่ตั้ง” เมแกน เยอร์ฮาร์ดท (Megan Gerhardt) หนึ่งในผู้เขียนงานศึกษากล่าว
ดังนั้น การที่จะทำให้ Gen Z หันกลับมาหาได้ ผู้ใหญ่จะต้องประสิทธิ์ประสาทสิ่งที่Gen Z ไม่อาจรู้ได้ด้วยตนเอง ต้องให้คำแนะนำในสิ่งที่ Gen Z ค้นหา Google หรือ Reddit ไม่ได้ หรือก็คือ ก่อนที่จะให้คำแนะนำอะไรต้อง “รู้จริง” ก่อน
ตัวอย่างเช่น หากแนะนำการเขียนคอนเทนต์เรื่องการเมืองไทย ต้องไม่แนะนำว่า รัฐบาลใช้นโยบายประชานิยม (Populism) และตัดจบเฉย ๆ เพราะชี้แนะเพียงเท่านี้ สามารถหาอ่านได้ตามโลกออนไลน์ แต่จะต้องให้คำแนะนำว่า การที่รัฐบาลเป็น Populism นั้น ตามหลักการแล้ว คือการดึงเสียงของประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งไปกันได้กับหลักการประชาธิปไตยที่เป็นแบบ “จำนวนมากกว่าก็ชนะไป (Win-lose Situation)” ไม่ว่านักการเมืองจะเป็นแบบใด มีอุดมการณ์แบบใด ก็ล้วนแล้วแต่ต้องการคะแนนเสียงทั้งนั้น
ที่กล่าวข้างต้น จริง ๆ Gen Z สามารถหาอ่านเองได้ (ตามเว็บไซต์ Journal Article) แต่ไม่ใช่ว่าค้นหาแล้วจะเข้าใจได้ในทันที ต้องคิดความเข้าใจ ตรงนี้ ผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มากกว่า จะได้เปรียบในเรื่องของ “การตกผลึก” เพื่อแนะนำให้ “คิดตามและคิดต่อได้” ซึ่งการที่จะตกผลึกได้นั้น จำเป็นต้องมีความพยายามมหาศาล เพื่อให้เกิดความรู้อย่างแท้จริงเช่นกัน
หรืออาจจะสรุปได้ว่า ผู้ใหญ่ต้องมอบ “องค์ความรู้และปัญญา (Knowledge and Wisdom)” มากกว่าที่จะมอบ “ข้อเท็จจริงและชุดข้อมูล (Fact and Information)”
เราจะทราบได้อย่างไรว่ารู้จริง ?
มาถึงตรงนี้ ย่อมเข้าใจได้ว่า การที่ Gen Z จะรับฟังคำแนะนำจาก Gen ก่อนหน้า ผู้ใหญ่ต้องมอบองค์ความรู้และปัญญามากกว่าให้ข้อเท็จจริงและข้อมูลเฉย ๆ ไม่อย่างนั้น Gen Z จะหันไปหา Search Engine ที่บรรจุชุดข้อมูลและข้อเท็จจริงที่มากกว่า เร็วกว่า เยอะกว่า และทันใจกว่า
แต่มนุษย์ไม่ได้ทราบองค์ความรู้ทุกสิ่งอย่างในโลก แบบนี้ คำแนะนำที่ Gen Z รับมาจะทราบได้อย่างไรว่า เป็นสิ่งที่มาจากการแตกฉานในสรรพวิชาอย่างแท้จริง
ประเด็นนี้ ตอบได้ยากมาก เพราะองค์ความรู้บางอย่าง “ไม่ได้เป็นความจริง” และสามารถถกเถียงได้ เรื่องนี้ เยอร์ฮาร์ดท ได้ให้ทรรศนะไว้ว่า ควรหันไปพิจารณา “บริบท (Context)” เป็นสำคัญ หมายถึง แทนที่ผู้ใหญ่จะให้คำแนะนำแบบฟันธงว่า Gen Z ต้องเชื่อแบบที่พวกเขาเชื่อ แต่ควรหันมาสอบถามผู้รับคำแนะนำก่อนว่า “อยากได้สิ่งใดในการสนทนาครั้งนี้ ?” จะได้ให้คำแนะนำอย่างตรงจุด
ตรงนี้ จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับ “Human-being” มากกว่า “Workers” เพราะอย่างหลังเป็นความสัมพันธ์แบบที่ผู้ใต้บังคับบัญชา (Gen Z) ต้องปฏิบัติตามเจ้านาย (ผู้ใหญ่) เพราะอย่างแรกเป็นความสัมพันธ์แบบ “ศักดิ์เท่ากันสนทนากัน” (ไม่อย่างนั้นจะไม่ถามต่อ ชี้นิ้วสั่งไปเลยง่ายกว่า) โดยมีองค์ความรู้เป็นจุดหมาย
ทั้งนี้ ทั้งหมดที่กล่าวมา ต้องกลับไปที่ “วิจารณญาณ” ของ Gen Z ผู้รับคำแนะนำด้วย ไม่ใช่ว่าเชื่อไปหมดทุกอย่างโดยที่ไม่กลั่นกรองใด ๆ เลย เพราะ Gen Z เองก็ไม่ได้ทราบทุกเรื่องอย่างแท้จริงเช่นกัน
Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล [Hayden Whiz]
แหล่งอ้างอิง
- หนังสือ Gentelligence: The Revolutionary Approach to Leading an Intergenerational Workforce
- https://www.washingtonpost.com/technology/2024/04/10/gen-z-feedback-work/
- https://plato.stanford.edu/entries/epistemology/