ส่องปัญหา "นอมอนี" ทุนต่างชาติน่ากังวลแค่ไหน? เมื่อ 4.7 หมื่นบริษัท เข้าข่ายถูกตรวจสอบ

"นอมินี" หรือการให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างชาติ ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วนตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวิตร เมื่อปัญหา “นอมินี” ในระบบจัดซื้อภาครัฐ ถูกเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ตึก สตง. ถล่ม นำมาสู่การเข้าสืบสวนและตรวจสอบโดย DSI ใน กรณีถือหุ้นแทนชาวต่างชาติในบริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ
ปัญหา “นอมินี” ในระบบธุรกิจไทย ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนานนับสิบปีในประเทศไทย โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่ามีธุรกิจในลักษณะเป็นนอมินี (การให้คนไทยถือหุ้นแทนต่างชาติ) ที่จงใจหลบเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ใหม่ โดยมีนิติบุคคลทั่วประเทศที่อยู่ในข่ายตรวจสอบ 46,918 ราย และธุรกิจเป้าหมายที่จะตรวจสอบ 6 ธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก 2.ธุรกิจค้าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ 3.ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ขนส่ง และคลังสินค้า 4.ธุรกิจโรงแรม และรีสอร์ต 5. ธุรกิจการเกษตร เช่น โรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) และ 6.ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป
ธุรกิจในภาคท่องเที่ยว 1 ใน 6 ประเภทธุรกิจที่ถูกจับตา เรื่องการใช้ “นอมินี” อาจเป็นประเภทธุรกิจแรก ๆ ที่พบการใช้นอมินีดำเนินธุรกิจ เพราะเป็นธุรกิจที่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับชาวต่างชาติ ซึ่งมักเป็นผู้ที่มีความเข้าใจสูงในวิถีของประเทศไทย มีคอนเนคชัน รวมถึงชำนาญในการขออนุญาตเข้า-ออกประเทศ เพื่อทำกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวให้กับลูกค้า
นายสุรวัช อัครวรมาศ เจ้าของธุรกิจท่องเที่ยว และ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ฉายภายให้เห็นถึงธุรกิจท่องเที่ยวที่อาจเข้าข่ายใช้นอมอนีในการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวว่ามีอยู่ 2 ประเภท คือ เป็นการประกอบธุรกิจในลักษณะพาร์ทเนอร์ หรือ มีคู่ค้าเป็นชาวไทย ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีอยู่มาก คือ บริษัททัวร์ต่่างชาติที่หาบริษัท หรือ คนไทย ที่รับซัพพอรต์ลูกค้านักท่องเที่ยวจากประเทศต้นทางแต่เพียงผู้เดียว
และ 2 คือ หาตัวแทนคนไทยมาจัดตั้งบริษัท โดยเมื่อเข้าไปดูในรายละเอียดกลับไม่พบกรรมการบริษัท หรือ ผู้มีชื่อจดทะเบียน เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจจริง ซึ่งลักษณะดังกล่าวพบว่ามีการดำเนินการมานานหลายสิบปีแล้ว โดยเริ่มแรกเป็นกลุ่มคนยุโรปที่เข้ามาดำเนินการในลักษณะดังกล่าว เพราะคนกลุ่มนี้มองว่าลูกค้ามาจากเขา และ เขามีความเข้าใจในความต้องการ และ คุยกันรู้เรื่องกับคนชาติเดียวกันมากกว่า
“ส่วนตัวมองว่าการใช้นอมินีเข้ามาทำธุรกิจยังไม่น่ากลัวเท่ากับการเข้ามาทำธุรกิจเป็นลักษณะทัวร์ต่ำกว่าต้นทุน หรือ ที่เรียกว่าทัวร์ศูนย์เหรียญ เพราะนอมินีในธุรกิจเข้ามาจัดการแค่ธุรกิจของตัวเอง คือ จะกระทบแค่คนทำธุรกิจด้วยกัน ซึ่งอาจต้องสู้กันด้วยกลยุทธ์ และ โปรโมชัน หรือ ถ้าสู้ไม่ได้ก็ยังพาคนมาใช้บริการ ที่พักกับคนไทย แต่ถ้าเข้ามาในลักษณะสร้างกลุ่มธุรกิจนอมินีที่ผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เช่น พาคนมาเที่ยว โดยพาไปกินอาหาร และ พักโรงแรมที่มีเจ้าของเป็นชาติเดียวกันทั้งหมด อันนี้น่ากลัว เพราะเงินแทบไม่เข้าสู่ระบบ ไม่กระจายไปยังพ่อค้า แม่ค้า หรือแม้แต่ชุมชนในพื้นที่ท่องเที่ยวของไทยเลย ”
ภาคการท่องเที่ยวยังถือเป็นด่านแรกที่เห็นปัญหาได้ชัด นอกจากในเชิงธุรกิจยังเห็นปัญหาในเรื่องของการแย่งอาชีพ เช่น การใช้ไกด์เถื่อน ที่ไม่มีใบอนุญาตในประเทศไทย โดยอ้างว่าขาดไกด์ที่มีความสามารถด้านภาษาจีนหรือภาษาพิเศษ กลายเป็นข้ออ้างให้ใช้ไกด์ต่างชาติผิดกฎหมาย กระทั่งทัวร์ศูนย์เหรียญหรือทัวร์ต่ำกว่าทุนที่แพร่หลายและบั่นทอนระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าคนต่างชาติ รวมกลุ่มกันตั้งเป็น "สมาคม" หรือ "สภา" โดยที่สมาชิกบางคนไม่ได้มีตัวตนจริง เป็นเพียงเครื่องมือสร้างภาพลักษณ์ว่าธุรกิจมีความชอบธรรม ทั้งที่ในความจริงเป็นเพียงการรวมตัวของทุนสีเทาเพื่อเสริมอำนาจต่อรองเท่านั้น
นอกจากการใช้คนไทยเป็นนอมินีเพื่อดำเนินธุรกิจยังพบประเด็นเรื่องคนจีนเป็นนอมินี สวมสิทธิ์ ได้วีซ่านักเรียนแต่กลับมาเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นการใช้ช่องว่างทางกฎหมาย และเป็นการใช้วีซ่าผิดประเภท ซึ่งล่าสุดมีการตรวจพบผู้ใช้วีซ่านักเรียน แต่กลับเข้าทำงานในไซต์งานก่อสร้างต่าง ๆ ของไทย
นั่นหมายความว่าประเด็นปัญหาทุนจีนสีเทายังได้กระทบมาถึงวงการการศึกษาไทย ซึ่งปัจจุบันนั้น ประเทศไทย มีชาวจีนที่เป็น นักศึกษาต่างชาติในสัดส่วนที่มากที่สุด มากถึง 28,052 คน หรือคิดเป็นถึง 53% ของทั้งหมด โดยนักศึกษาเหล่านี้กระจายตามมหาวิทยาลัยต่างๆ
จากข้อมูลของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ในภาคเรียนที่ 1 ปี 2567 พบว่ามหาวิทยาลัยที่มีชาวจีนมากที่สุด 5 อันดับได้แก่
1.มหาวิทยาลัยเกริก
2 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
3 มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
4 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
5 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทั้งนี้ยังพบว่ามหาลัยที่มีสัดส่วนนักศึกษาจีนมากที่สุด 3 แห่งคือ มหาวิทยาลัยชินวัตร, มหาวิทยาลัยเกริก และมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด
โดย 3 มหาวิทยาลัยนี้อยู่ในสถานะของนิติบุคคล ดังนั้นการเข้ามาของนักลงทุนจีนในทั้ง 3 มหาวิทยาลัย จึงเป็นการเข้ามาซื้อหุ้นในบริษัทด้วย
จากประเด็นดังกล่าวจะเห็นว่าปัญหา “นอมินี” ไม่เพียงแต่กระทบต่อผู้ประกอบการ และระบบเศรษฐกิจของไทย แต่ยังกระทบไปถึงระบบการศึกษาของไทย ที่ปัจจุบันเปิดกว้างให้ชาวต่างชาติเข้ามาศึกษามากขึ้น แต่กลับพบพฤติการณ์แอบแฝงเข้ามา เพื่อใช้ประโยชน์จากสถานะนักศึกษา ซึ่งเป็นประเด็นที่หน่วยงานรัฐจำเป็นต้องรู้เท่าทัน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะลุกลามเพิ่มมากขึ้น