รีเซต

บริษัทดัตช์ทดสอบ Hyperloop สำเร็จ คาดพร้อมให้บริการผู้โดยสารในปี 2030

บริษัทดัตช์ทดสอบ Hyperloop สำเร็จ คาดพร้อมให้บริการผู้โดยสารในปี 2030
TNN ช่อง16
17 กันยายน 2567 ( 17:16 )
12
บริษัทดัตช์ทดสอบ Hyperloop สำเร็จ คาดพร้อมให้บริการผู้โดยสารในปี 2030

ระบบขนส่งมวลชนรูปแบบใหม่อย่าง ไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) หรือระบบขนส่งความเร็วสูงผ่านท่อสูญญากาศโดยลอยตัวอยู่เหนือรางด้วยพลังแม่เหล็กไฟฟ้า อาจกำลังบรรลุจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อบริษัทพัฒนาไฮเปอร์ลูปสัญชาติเนเธอร์แลนด์อย่าง ฮาร์ดท์ ไฮเปอร์ลูป (Hardt Hyperloop) ประกาศว่าพวกเขาประสบความสำเร็จในการทดสอบไฮเปอร์ลูปเป็นครั้งแรก


มารินัส ฟาน เดอร์ ไมจ์ส (Marinus van der Meijs) ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีและวิศวกรรมของ Hardt กล่าวว่า “ในวันนี้ด้วยการทดสอบที่ประสบความสำเร็จครั้งแรก เราสามารถทำให้ยานพาหนะลอยตัว รวมถึงสามารถเปิดระบบนำทาง และระบบขับเคลื่อนได้”


โดยท่อของศูนย์ทดสอบในครั้งนี้มีความยาว 420 เมตร ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนที่มีลักษณะเป็นท่อกลวง แยกกันจำนวน 34 ชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 เมตร ท่อนี้จะถูกดูดอากาศออกไปโดยปั๊มสุญญากาศเพื่อลดแรงดันภายใน ซึ่งจะช่วยลดแรงต้านอากาศ จนส่งผลให้แคปซูลเดินทางด้วยความเร็วสูงได้


บริษัทเปิดเผยว่าในการทดสอบครั้งนี้แคปซูลเริ่มเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร่งที่ใกล้เคียงกับความเร่งของรถไฟใต้ดิน จนกระทั่งแคปซูลสามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงสุด 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากการเคลื่อนที่ในท่อด้วยระยะทางประมาณ 100 เมตร ซึ่งด้วยระยะทางที่ถูกจำกัดนี้ จึงทำให้ไม่สามารถเร่งความเร็วได้เป็นเวลานานนัก 


แต่บริษัทเปิดเผยว่าในอนาคต หากสามารถขยายโครงสร้างพื้นฐานได้ ตัวแคปซูลจะสามารถทำความเร็วได้ถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหากขยายโครงสร้างให้ไกลขึ้นได้อีก ก็จะสามารถบรรลุความเร็วสูงสุดของไฮเปอร์ลูปได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ Hardt มีเป้าหมายที่จะให้แคปซูลเคลื่อนที่ผ่านท่อได้ด้วยความเร็วสูงสุด 700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


อย่างไรก็ตาม กว่าจะสามารถทดสอบสำเร็จเป็นครั้งแรก บริษัทกล่าวว่าไม่ใช่เรื่องง่าย โดย โรเอล ฟาน เดอ ปาส (Roel van de Pas) ผู้อำนวยการฝ่ายพาณิชย์ของฮาร์ดท์ ไฮเปอร์ลูป กล่าวว่า “สิ่งที่ยากที่สุดที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้ คือการทดสอบฟังก์ชันทั้งหมดเหล่านี้ร่วมกัน ทั้งการลอยตัว การขับเคลื่อน การนำทาง ซึ่ง ณ ขณะนี้เราสามารถดำเนินงานฟังก์ชันทั้งหมดนี้ในลักษณะวงออเคสตรา คือทำให้พวกมันทำงานร่วมกันได้”


ฟาน เดอ ปาส ได้แสดงทัศนคติเพิ่มเติมเกี่ยวกับอนาคตของเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปเพิ่มเติมว่า “การจะทำให้ระบบไฮเปอร์ลูปสำเร็จขึ้นมาได้นั้น เรายังต้องไขปริศนาอีกมาก ซึ่งต้องอาศัยการใช้เทคโนโลยี ต้องมีนโยบาย ที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และนี่คือสิ่งที่จำเป็นที่สุด”


สำหรับเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ถูกนำเสนอในปี 2013 โดยอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้บริหารบริษัทด้านอวกาศอย่างสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ประเทศสหรัฐอเมริกา มีลักษณะเป็นแคปซูลขนส่งที่วิ่งอยู่ในท่อสุญญากาศ โดยแคปซูลลอยตัวอยู่เหนือรางด้วยพลังแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Levitation Technology) จุดเด่นของเทคโนโลยีนี้ คือ การทำความเร็วสูงและลดแรงต้านของอากาศ ด้านผู้สนับสนุนเทคโนโลยีนี้กล่าวว่า ไฮเปอร์ลูปมีประสิทธิภาพมากกว่าเที่ยวบินระยะสั้น รถไฟความเร็วสูง และรถบรรทุกสินค้ามาก แต่จะต้องมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก


นับจากอีลอน มัสก์เสนอแนวคิดนี้ ก็มีหลายบริษัททั่วโลกที่พยายามพัฒนา เช่น CASIC ประเทศจีน บริษัทไฮเปอร์ลูป อิตาเลีย (Hyperloop Italia) ประเทศอิตาลี ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยพัฒนา อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ใช้ต้นทุนในการดำเนินงานสูง จึงมีบางบริษัทต้องปิดตัวลงไป เช่น บริษัทไฮเปอร์ลูป วัน (Hyperloop One) ในสหรัฐอเมริกาที่ปิดตัวลงในปี 2023 ซึ่งทำให้เกิดกระแสข่าวว่าเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปอาจไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ 


สำหรับบริษัท Hardt Hyperloop ยังต้องพัฒนาเทคโนโลยีนี้อีกมาก แต่บริษัทคาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดไฮเปอร์ลูปให้บริการผู้โดยสารได้ภายในปี 2030 หรือก็คืออีกประมาณ 6 ปีข้างหน้านี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีด้านคมนาคมที่น่าจับตามองอย่างมาก



ที่มาข้อมูล APvideohub, TNN Thailand

ที่มารูปภาพ APvideohub

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง