พณ. จีนชี้ กลุ่มประเทศ 'บริกส์' มุ่งผนึกกำลัง-เดินหน้าความร่วมมือ
ปักกิ่ง, 25 มิ.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันศุกร์ (24 มิ.ย.) หวังโซ่วเหวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน เปิดเผยว่ากลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) จะผนึกกำลังและเดินหน้าผลักดันความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนกลไกบริกส์เป็นตัวเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน
หวังกล่าวถึงประเด็นดังกล่าว ขณะที่ประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS Summit) ครั้งที่ 14 เมื่อวันพฤหัสบดี (23 มิ.ย.) ออกปฏิญญาปักกิ่ง (Beijing Declaration) ซึ่งจัดลำดับความสำคัญและทิศทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าของกลุ่มบริกส์
หวังชี้ว่าผลลัพธ์เชิงบวกของการประชุมครั้งนี้สะท้อนความตั้งใจของกลุ่มประเทศบริกส์ที่จะรวมตัวและร่วมมือยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และแรงผลักดันขับเคลื่อนยังคงไม่ลดลง แม้เผชิญความไม่แน่นอนและความผันผวนเพิ่มขึ้นในสภาพแวดล้อมระดับโลก
อนึ่ง บริกส์เป็นตัวย่อของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้
การค้าระหว่างจีนและประเทศบริกส์อีก 4 แห่งในปี 2021 รวมอยู่ที่กว่า 4.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 17.35 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เมื่อเทียบปีต่อปี ส่วนการค้าช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคมปีนี้ ยังคงมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูงที่ร้อยละ 16 เมื่อเทียบปีต่อปี แตะที่ 2.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.26 ล้านล้านบาท)
หวังระบุว่าปริมาณการค้าของกลุ่มประเทศบริกส์ครองสัดส่วนราวร้อยละ 20 ของการค้าทั้งหมดในโลก ทว่าการค้าในหมู่ประเทศบริกส์ครองสัดส่วนเพียงร้อยละ 6 ของการค้าต่างประเทศทั้งหมดของกลุ่มบริกส์เท่านั้น ซึ่งเป็นสัดส่วนค่อนข้างต่ำที่สะท้อนศักยภาพการเติบโตระดับสูง
ขณะเดียวกันหวังชี้แจงเกี่ยวกับความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานในกลุ่มบริกส์ว่าความพยายามของประเทศบางส่วนเพื่อแยกตัวจากประเทศอื่น ตัดขาดห่วงโซ่อุปทาน และสร้าง "สนามเล็ก รั้วสูง" ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างรุนแรง อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก
หวังระบุว่ากลุ่มประเทศบริกส์ได้เสนอกระชับความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานในฐานะตัวแทนกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และผู้มีบทบาทด้านห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ ซึ่งสะท้อนถึงความรับผิดชอบและความมุ่งมั่นของกลุ่มบริกส์
ทั้งนี้ หวังเน้นย้ำว่าจีนต้องการร่วมมือกับกลุ่มประเทศบริกส์ในวงกว้างและลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อร่วมสร้างระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานที่มีเสถียรภาพ ปลอดภัย และเอื้อประโยชน์ร่วมกัน และส่งเสริมการหมุนเวียนทางการค้าและการลงทุน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืน