รีเซต

วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า : ทำความรู้จักหัวหน้าทีมพัฒนาของอ็อกซ์ฟอร์ดที่ได้รับเครื่องราชฯ จากควีน

วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า : ทำความรู้จักหัวหน้าทีมพัฒนาของอ็อกซ์ฟอร์ดที่ได้รับเครื่องราชฯ จากควีน
ข่าวสด
12 มิถุนายน 2564 ( 20:36 )
60
วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า : ทำความรู้จักหัวหน้าทีมพัฒนาของอ็อกซ์ฟอร์ดที่ได้รับเครื่องราชฯ จากควีน

 

ขณะเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮัลล์ ประเทศอังกฤษ ดร.ซาราห์ กิลเบิร์ต เกือบถอดใจ ไม่อยากทำงานสายชีวเคมีอีกแล้วเพราะเธอไม่ชอบมุ่งความสนใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนาน ๆ เหมือนนักวิทยาศาสตร์คนอื่น

 

 

แต่แล้วเธอก็ตัดสินใจให้โอกาสกับอาชีพนี้อีกครั้งหนึ่ง ถ้าเธอไม่ตัดสินใจเช่นนั้น เราอาจไม่มีวัคซีนอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซเนก้าเพื่อต่อสู้กับโควิดอยู่ในตอนนี้

 

 

และล่าสุดหัวหน้าทีมวิจัยวัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดผู้นี้ก็เพิ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นอัศวิน ซึ่งสำหรับผู้หญิงใช้ว่า "เดม" (Dame) (เซอร์ หรือ Sir สำหรับผู้ชาย) จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

 

 

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน บอกว่ารายชื่อผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของสหราชอาณาจักรเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นการอุทิศให้กับผู้คนที่ทุ่มเทให้กับประเทศ

 

 

ดร.กิลเบิร์ต ได้รับเครื่องราชฯ นี้พร้อมกับเพื่อนร่วมงานที่ออกซ์ฟอร์ดอีก 6 คนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาวัคซีนตัวนี้ เธอบอกว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะตระหนักว่า "มีคนจำนวนมากที่ทำงานหนักเพื่อพัฒนา ผลิต และทดลองวัคซีนตัวนี้ขึ้นมา และก็ผู้คนที่ทำงานในโครงการฉีดวัคซีนตอนนี้ด้วย"

 

 

 

เธอคือใคร

ดร.กิลเบิร์ต เกิดที่เมืองเคตเทอริง มณฑลนอร์ทแฮมตันเชียร์ เมื่อเดือน เม.ย. ปี 1962 พ่อเธอทำงานในธุรกิจขายรองเท้า ส่วนแม่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ

 

 

หลังจบปริญญาเอกเธอไปทำงานในศูนย์วิจัยของโรงงานผลิตเบียร์ก่อนที่จะไปทำงานต่อในภาคสาธารณสุข เธอไม่เคยคาดคิดว่าจะได้มาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน แต่กลางทศวรรษ 1990 ก็ได้มาเป็นนักวิชาการที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด วิจัยเรื่องพันธุกรรมของเชื้อมาลาเรีย ก่อนที่จะเริ่มวิจัยวัคซีนสำหรับโรคมาราเลีย

 

 

จากนั้น ศ.กิลเบิร์ต ก็มีตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนได้มาเป็นศาสตราจารย์ประจำสถาบันเจนเนอร์ ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านวัคซีน เธอก่อตั้งกลุ่มวิจัยของตัวเองขึ้นมาเพื่อพยายามสร้างวัคซีนไข้หวัดใหญ่ซึ่งจะป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ทุกสายพันธุ์

 

 

ในปี 2014 เธอนำทีมวิจัยทดลองวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นครั้งแรก และเมื่อเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโรคเมอร์ส (MERS) เธอก็เดินทางไปซาอุดีอาระเบียเพื่อพยายามคิดค้นวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์นี้

ตอนที่กำลังทดลองวัคซีนนี้ในระยะที่สอง ก็เกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้นในช่วงต้นปี 2020 ตอนนั้นเอง ศ.กิลเบิร์ต ตระหนักเธออาจจะใช้วิธีเดียวกันในการจัดการกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้

 

 

"เราทำได้เร็วมาก" ศ.เทเรซา แลมบ์ เพื่อนร่วมงานของเธอที่ออกซ์ฟอร์ด กล่าว ขณะที่นักวิทยาศาสตร์จีนเผยแพร่โครงสร้างของไวรัสตัวใหม่ "ในช่วงสุดสัปดาห์นั้น เราก็แทบจะออกแบบวัคซีนเสร็จเรียบร้อยแล้ว"

 

 

เราสามารถเห็นได้จากนิสัยการทำงานของ ศ.กิลเบิร์ต ว่าเธอพยายามเร่งรีบพัฒนาวัคซีนเพื่อช่วยคนทั่วโลกแค่ไหน ศ.แลมบ์ บอกว่า ศ.กิลเบิร์ต ทำงานตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงดึกดื่น โดยบางทีได้อีเมลจากเพื่อนตั้งแต่ตี 4

 

 

หลังจากนั้น ทีมออกซ์ฟอร์ดใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ในการผลิตวัคซีนที่สู้กับโควิดได้ในห้องทดลอง ก่อนที่จะผลิตวัคซีนชุดแรกออกมาต้นเดือน เม.ย. เธอบอกว่ามันเป็นการพัฒนาทีละก้าวเล็ก ๆ ไม่ใช่การค้นพบครั้งใหญ่แค่ทีเดียว

 

 

"ตั้งแต่แรกแล้ว เราเห็นว่ามันเป็นการแข่งขันกับไวรัส ไม่ใช่กับผู้พัฒนาวัคซีนรายอื่น ๆ" ศ.กิลเบิร์ต เคยกล่าวก่อนหน้านี้ "เราเป็นมหาวิทยาลัย ไม่ได้ทำสิ่งนี้เพื่อเงิน"

 

 

เพื่อนที่มหาวิทยาลัยและเพื่อนร่วมงานของเธอบอกว่า ศ.กิลเบิร์ต เป็นคนเงียบ ๆ มุ่งมั่น และแข็งแกร่ง

 

 

จากแถลงการณ์ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ศ.กิลเบิร์ต บอกว่าถือรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง "ฉันทำงานเพื่อการพัฒนาวัคซีนสำหรับเชื้อโรคระบาดมาหลายปี และในช่วง 17 เดือนที่ผ่านมา สามารถดึงจากสิ่งที่เรียนรู้มาทั้งหมดเพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ได้ ฉันโชคดีมากที่ได้ทำงานกับทีมที่เก่งและทุ่มเทที่ทำให้พัฒนาวัคซีนขึ้นมาได้เร็วมากกว่าที่ใครคิดว่าจะเป็นไปได้"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง