รีเซต

วัคซีนโควิด: แอสตร้าเซนเนก้าระบุ กำหนดส่งมอบวัคซีนปรับเปลี่ยนได้ “ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ”

วัคซีนโควิด: แอสตร้าเซนเนก้าระบุ กำหนดส่งมอบวัคซีนปรับเปลี่ยนได้ “ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ”
ข่าวสด
23 มิถุนายน 2564 ( 16:14 )
83
วัคซีนโควิด: แอสตร้าเซนเนก้าระบุ กำหนดส่งมอบวัคซีนปรับเปลี่ยนได้ “ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ”

 

หลังมีรายงานจากหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ถึงความล่าช้าในการส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยโรงงานในไทย แอสตร้าเซนเนก้าออกมาชี้แจงวันนี้ (23 มิ.ย.) ว่าบริษัทกำลังเร่งปรับปรุงและพัฒนา กระบวนการผลิตวัคซีนให้มีศักยภาพมากขึ้นและส่งมอบได้เร็วขึ้น

 

 

บีบีซีไทยสอบถาม บ.แอสตร้าเซนเนก้าถึงสาเหตุของการส่งมอบวัคซีนล่าช้ากว่ากำหนดและได้รับคำชี้แจงทางอีเมลในวันนี้ว่า การปรับเปลี่ยนกำหนดการส่งมอบวัคซีนนั้นถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เนื่องจากในช่วงเริ่มต้นของการเดินเครื่องสายพานการผลิตชีววัตถุมักมีความซับซ้อน

 

 

 

"การเริ่มเดินเครื่องสายพานการผลิตชีววัตถุชนิดใหม่นั้นมักมีความยุ่งยาก จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่กำหนดการส่งมอบจะมีความไม่แน่นอน" บ.แอสตร้าเซนเนก้าระบุในแถลงการณ์ภาษาอังกฤษ

 

 

แอสตร้าเซนเนก้ากล่าวว่าบริษัทได้เริ่มส่งมอบวัคซีนโควิดที่ผลิตโดยโรงงานของ บ.สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ตั้งแต่เดือน มิ.ย. และมีเป้าหมายที่จะส่งมอบวัคซีนที่ผลิตจากโรงงานในไทยทั้งหมดประมาณ 200 ล้านโดสโดยไม่แสวงผลกำไรให้เสร็จสิ้นภายในปี 2565

 

 

"เรากำลังพัฒนาวิธีการใหม่ ๆ ในการทำงานเพื่อขยายศักยภาพในการผลิตวัคซีนและเพื่อให้วัคซีนเดินทางไปถึงชุมชนได้รวดเร็วขึ้น ควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพสูงสุดของวัคซีน"

 

 

 

ไฟแนนเชียลไทมส์ชี้แอสตร้าเซนเนก้าส่งมอบช้ากระทบหลายชาติในเอเชีย

บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) ประจำวันที่ 19 มิ.ย.ระบุว่า ข้อตกลงที่อนุญาตให้โรงงานในไทยผลิตวัคซีนขอแอสตร้าเซนเนก้านั้น ทำให้เกิดการโต้เถียงขัดแย้งกันขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งแม้ทางบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าจะมีเจตนาดีในการแสวงหาความร่วมมือกับผู้ผลิตเวชภัณฑ์ในท้องถิ่น แต่สิ่งนี้กลับทำให้สาธารณชนเคลือบแคลงสงสัยและต้องการจะตรวจสอบเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น

 

 

การรุกเข้าสู่วงการผลิตวัคซีน ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้ากำลังกลายเป็นนิทานสอนใจแก่บรรดากิจการที่ประกาศเจตนารมณ์ว่า จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยแอสตร้าเซนเนก้านั้นได้ตกลงกับผู้พัฒนาวัคซีนที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดว่า จะผลิตและจัดส่งวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในราคาต้นทุน เพื่อให้เป็น "วัคซีนเพื่อชาวโลก" แต่ในที่สุดกลับต้องมาติดอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง เกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนและการส่งมอบวัคซีนให้สหภาพยุโรปล่าช้า

 

 

ขณะนี้แอสตร้าเซนเนก้ายังได้เข้าไปข้องเกี่ยวกับอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งก็คือสัญญาที่ทำไว้ในประเทศไทยกับบริษัทที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของ รวมทั้งกำลังประสบปัญหาในการผลิต ซึ่งทำให้การส่งมอบวัคซีนในไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นไปอย่างล่าช้า ในขณะที่บริษัทซึ่งเป็นคู่แข่งบางรายคิดราคาจำหน่ายวัคซีนโควิดสูงกว่าแอสตร้าเซนเนก้าถึง 5 เท่า และทำกำไรได้มหาศาล

 

 

นอกจากจะมีการทำสัญญาแบบไม่แสวงหาผลกำไรแล้ว บริษัทผู้ผลิตยาสัญชาติอังกฤษ-สวีเดนแห่งนี้ ยังเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันตั้งแต่ก่อนที่วัคซีนจะได้รับการอนุมัติเมื่อปีที่แล้ว ในเรื่องการแสวงหาความตกลงกับผู้ผลิตเวชภัณฑ์ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนให้มากขึ้น อันเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้บรรดาบริษัทผลิตยาลงมือทำให้มากขึ้นในตอนนี้

 

 

สัญญาของแอสตร้าเซนเนก้าที่ทำไว้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ มุ่งผลิตวัคซีนโควิดให้ได้สูงสุด 200 ล้านโดสต่อปี เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในศูนย์ผลิต 24 แห่งของแอสตร้าเซนเนก้าที่มีกระจายอยู่ทั่วโลก

 

 

ส่วนข้อตกลงที่ผู้คนทราบกันดีระหว่างสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียกับแอสตร้าเซนเนก้านั้น มุ่งผลิตวัคซีนป้อนให้กับโครงการโคแวกซ์เป็นหลัก เพื่อฉีดให้กับประชากรของประเทศที่มีรายได้น้อย ซึ่งข้อตกลงนี้ทำขึ้นก่อนที่อินเดียจะสั่งจำกัดการส่งออกวัคซีน เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นภายในประเทศจำนวนมหาศาล

 

 

ความพยายามที่ทำตามอุดมการณ์อันสูงส่งของแอสตร้าเซนเนก้า อาจสร้างแรงกดดันต่อบริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่ แต่ด้วยปัญหาเรื่องการจัดส่งวัคซีนให้สหภาพยุโรปล่าช้า จึงส่งผลให้สัญญาที่ทำไว้กับไทยถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องประสิทธิภาพการจัดการและการสื่อสารของแอสตร้าเซนเนก้าเอง

 

 

จนถึงบัดนี้ ทางบริษัทก็ยังไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเรื่องข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนที่ทำไว้กับสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็นกิจการที่ไม่เคยผลิตวัคซีนมาก่อน ทั้งยังมีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่รัฐบาลไทยระบุไว้เมื่อต้นปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นทางการไทยต้องการบริษัทที่มีความรู้อย่างถูกต้องในเทคนิควิธีการผลิตวัคซีนโควิด

 

 

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในไทยกล่าวกันว่า บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าควรจะระแวดระวังเรื่องความเสี่ยงบางประการ ที่อาจจะทำให้เสียชื่อเสียงได้ หากไปข้องแวะกับธุรกิจที่มีประมุขของรัฐเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์หลังเหตุประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปีก่อน ซึ่งในตอนนั้นมีการเผยแพร่คำวิจารณ์ที่หาฟังได้ยากว่าด้วยอำนาจและความมั่งคั่งส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์มาแล้ว

 

 

ผู้นำฝ่ายที่เห็นต่างอย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งตั้งคำถามอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับการเลือกสยามไบโอไซเอนซ์เป็นผู้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ถูกตำรวจตั้งข้อหาเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งกำหนดโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี ต่อผู้พูดหรือเขียนข้อความที่อาจตีความได้ว่าเป็นการดูหมิ่นพระราชวงศ์

 

 

ด้านแอสตร้าเซนเนก้านั้นระบุว่า การตัดสินใจทำสัญญากับบริษัทของไทย มาจากการพิจารณาเรื่องศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตและจัดส่งระดับโลก รวมทั้งการมุ่งให้ความสำคัญกับ "ผู้ผลิตท้องถิ่น" เป็นหลัก ในทุกกรณีที่มีความเป็นไปได้ ซึ่งหลักเกณฑ์ทั้งหมดนี้ทำให้สยามไบโอไซเอนซ์ "เผยโฉมในฐานะตัวเลือกที่ดีที่สุด"

 

 

เหตุผลในการคัดเลือกบางส่วนยังมาจากการมีโรงงานที่ทันสมัยและมีความเชี่ยวชาญทางเทคนิค แต่แอสตร้าเซนเนก้าเปิดเผยรายละเอียดน้อยมากในเรื่องข้อตกลงว่าด้วยการผลิต รวมทั้งสาเหตุที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งมอบ

 

 

ปัญหานี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่กับวงการสาธารณสุขไทย หรือต่อการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาเป็นหลัก แต่มันส่งผลกระทบต่อทั้งภูมิภาค โดยทางการไต้หวัน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ต่างออกมาให้ข่าวว่า ได้รับแจ้งเรื่องที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากโรงงานในไทยจำต้องเลื่อนการส่งมอบให้ล่าช้าออกไปอีก

 

 

กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงเรื่องที่บริษัทยาระดับโลกควรจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ในการค้นหาหุ้นส่วนการผลิตในระดับท้องถิ่น ทั้งในแง่ของประวัติความเป็นมาและชื่อเสียงที่มี รวมทั้งความสามารถในการผลิตและส่งมอบวัคซีนให้ถึงมือประชาชนด้วย ดังเช่นที่บริษัทไบออนเทคซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้ผลิตวัคซีนโควิดกับบริษัทไฟเซอร์ ได้แถลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า มีแผนจะตั้งโรงงานผลิตวัคซีนชนิด mRNA อย่างเต็มรูปแบบในแอฟริกา แต่การดำเนินงานทั้งหมดให้ลุล่วงตามแผนนั้นจะต้องใช้เวลานานถึง 4 ปี

 

 

ด้วยเหตุนี้ วิธีที่ดีที่สุดในการยกระดับปริมาณการผลิตวัคซีนโควิดของโลกให้ได้อย่างรวดเร็ว น่าจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างบริษัทยารายใหญ่ด้วยกันเอง รวมทั้งอาศัยความร่วมมือกับผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนา เท่าที่ศักยภาพระดับท้องถิ่นจะสามารถรองรับได้

 

 

ตอนนี้แอสตร้าเซนเนก้าได้บทเรียนแล้วว่า ความตั้งใจเดินตามอุดมการณ์อันสูงส่งนั้น มีแต่จะทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการเพ่งเล็งตรวจสอบหนักข้อขึ้น เมื่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามแผนการ

 

 

ในขณะที่โลกเผชิญกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขเช่นนี้ ผู้บริโภคอาจให้อภัยต่อความผิดพลาดบางประการได้ แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ทางบริษัทควรจะต้องเปิดเผยให้ชัดเจนและตรงประเด็นถึงสาเหตุของปัญหานั้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง